30 ตุลาคม 2566…ต้นปีที่ผ่านมา Zara ผู้ค้าปลีกฟาสต์แฟชั่นได้เปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อผ้าสตรีชุดแรก ที่ทำจากขยะสิ่งทอจากผ้าฝ้ายโพลีรีไซเคิล คอลเลกชันนี้มีวางจำหน่ายใน 11 ประเทศ ช่วยให้เสื้อผ้าที่ทำจากขยะสิ่งทอผสมเข้าถึงตลาดมวลชน
คอลเลกชันนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Inditex บริษัทแม่ของ Zara ลงทุนใน Circ ซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลสิ่งทอ การดำเนินการตามมาด้วยดีลมูลค่า 100 ล้านยูโร (87 ล้านปอนด์) ระหว่าง Inditex และ Infinited Fiber Company บริษัทรีไซเคิลสิ่งทอของฟินแลนด์ ให้กับ 30% ของผลผลิตที่ได้จากการรีไซเคิล
นอกจากดีลแรกแล้ว จากนั้น H&M คู่แข่งด้านฟาสต์แฟชั่นของ Zara ยังได้ลงนามในสัญญาระยะเวลา 5 ปีกับ Renewcell บริษัทรีไซเคิลสิ่งทอสัญชาติสวีเดน เพื่อซื้อเส้นใยรีไซเคิล 9,072 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับเสื้อยืด 50 ล้านตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ผู้ค้าปลีกแฟชั่นบางรายมีความต้องการเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าให้เป็นเส้นใยคุณภาพสูงแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าใหม่ แม้ว่าแบรนด์ดังจะพัฒนาสายการผลิตโดยใช้สิ่งทอรีไซเคิล แต่ความเคลื่อนไหวนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะสร้างผลกระทบระดับโลกอย่างแท้จริง
องค์กรผู้นำการรณงค์ เช่น Greenpeace. เคยให้ความเห็นว่า ก่อนที่ความสนใจการรีไซเคิลสิ่งทอจะเติบโตขึ้น ความพยายามของฟาสต์แฟชั่นในการจัดการกับทัศนคติใช้แล้วทิ้งต่อเสื้อผ้าราคาไม่แพง มักเพิ่มปริมาณขยะสิ่งทอทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา
ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่า พบกระโปรงที่ฝากไว้ที่ร้านค้าในเครือในลอนดอนภายใต้โครงการรับคืน ในหลุมฝังกลบในเมืองบามาโก ประเทศมาลี นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่เป็นปัญหาทุกแห่งที่มีการรวบรวมเสื้อผ้าเก่าแต่ไม่ได้กำจัดอย่างเหมาะสม
แต่ละสัปดาห์เสื้อผ้าที่ใช้แล้วประมาณ 15 ล้านชิ้นจากทั่วโลกถูกส่งไปยังกานา หลายชิ้นถูกนำไปฝังกลบในประเทศ สิ่งนี้มักถูกเรียกว่า ลัทธิล่าอาณานิคมขยะ
อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นจำเป็นต้องเข้าถึงสิ่งทอรีไซเคิลมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่นี่หมายถึงการมีช่องทางในการติดตามเสื้อผ้าที่ “ทิ้งแล้ว” เพื่อรวบรวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการรีไซเคิล อุตสาหกรรมยังต้องการความร่วมมือใหญ่พอที่จะเปลี่ยนของเสียนี้ให้เป็นวัสดุใหม่ สำหรับเสื้อผ้าในปริมาณที่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดมวลชน
นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะตามยุทธศาสตร์เรื่องสิ่งทอที่ยั่งยืนและหมุนเวียนของสหภาพยุโรป ปี 2022 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ร่างกฎหมายใหม่สำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องชำระค่าใช้จ่ายในการแปรรูปเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง
ภายใต้กฎใหม่ของสหภาพยุโรป บริษัทต่างๆ จะต้องจ่ายค่าเก็บขยะเท่ากับเปอร์เซ็นต์การผลิตที่แน่นอน Virginijus Sinkevičius กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สัดส่วน “แน่นอน” จะมากกว่า 5% ของการผลิต บริษัทต่างๆ อาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (ตามรายงานเท่ากับ 0.12 ยูโรต่อเสื้อยืด 1 ตัว ) สำหรับงานเก็บขยะของหน่วยงานท้องถิ่น
ความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญ คือ Fashion Pact ที่ลงนามโดยแบรนด์มากกว่า 160 แบรนด์ (หนึ่งในสามของทั้งหมดเมื่อคิดตามจำนวนชิ้นของเสื้อผ้าทั้งหมดที่ขายได้) ให้คำมั่นสัญญาว่า ภายในปี 2025 25% ของวัตถุดิบ เช่น สิ่งทอที่พวกเขาใช้ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ
มีบางแบรนด์ตั้งเป้าหมายมากขึ้น เช่น Adidas มุ่งมั่นที่จะใช้พลาสติกรีไซเคิล 100% ภายในปี 2024 และ Inditex เจ้าของ Zara ซึ่งให้คำมั่นว่าจะจัดหาเส้นใย 40% จากกระบวนการรีไซเคิลภายในปี 2030
กำหนดเวลาที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงกฎหมายของสหภาพยุโรป น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้แบรนด์ต่างๆ ใช้เส้นใยรีไซเคิลมากขึ้น แม้อุปทานของวัสดุดังกล่าว ในปัจจุบันจะมีจำกัดแต่บริษัทสตาร์ทอัพรีไซเคิลจำนวนมากก็กำลังค้นหาวิธีเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าให้เป็นเส้นใยใหม่ ซึ่งจำลองรูปลักษณ์และความรู้สึกของวัสดุใหม่
บริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Spinnova, Renewcell และ Infinited Fiber ได้พัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลทางเคมีเพื่อสร้างเส้นใยใหม่จากเสื้อผ้าที่อุดมด้วยผ้าฝ้าย ขณะเดียวกันก็ใช้วัสดุผสมราคาประหยัด เช่น ผ้าฝ้ายโพลี ซึ่งยากที่จะแยกและรีไซเคิล แต่บริษัทอย่าง Worn Again, Envrnu และ Circ ก็กำลังแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
Worn Again วางแผนสร้างโรงงานสาธิตการรีไซเคิลแห่งใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์ โดยปูทางไปสู่โรงงานที่ได้รับใบอนุญาต 40 แห่ง ภายในปี 2040 ซึ่งสามารถแปรรูปขยะสิ่งทอได้ 1.8 ล้านตันต่อปี
รายงานของ McKinsey ระบุว่า ปี 2022 ยุโรปรีไซเคิลขยะสิ่งทอได้ถึง 26% ส่วนภายในปี 2030 สิ่งนี้จะสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ 3,500-4,500 ล้านยูโร สร้างงานใหม่ 15,000 ตำแหน่ง และประหยัด CO2 ได้ 3.6 ล้านตัน แต่ในปัจจุบัน มีสิ่งทอเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลทั่วโลกให้เป็นเสื้อผ้าใหม่ เทคโนโลยีการรีไซเคิลที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ส่วนหนึ่งของความท้าทายในการปรับขนาดการรีไซเคิลสิ่งทอให้อยู่ในระดับนี้คือการขาดข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ สถานที่ และองค์ประกอบของของเสียที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน และจุดที่รวบรวมไว้หลังการบริโภคจะช่วยประเมินศักยภาพของการรีไซเคิลสิ่งทออย่างเต็มที่ บริษัทต่างๆ เช่น Reverse Resources ได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับขยะสิ่งทอแล้ว นั่นคือ เครือข่ายทั่วโลก ประกอบด้วยผู้รีไซเคิล 70 ราย ผู้จัดการขยะ 44 ราย และผู้ผลิต 1,287 รายใน 24 ประเทศ
การรีไซเคิลสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นจะต้องอาศัยแนวทางการทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสร้างสิ่งทอรีไซเคิลคุณภาพสูง แบรนด์ นักลงทุน ซัพพลายเออร์ ผู้รีไซเคิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องร่วมมือกันเพื่อค้นหาวิธีที่จะทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลสิ่งทอเติบโต
โครงการผ้าฝ้ายใหม่ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ 12 แบรนด์ (รวมถึงกลุ่ม H&M และ Adidas) ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และสถาบันวิจัย ถือเป็นก้าวแรกในการเพิ่มการรีไซเคิลสิ่งทอ ขณะเดียวกันก็ยังต้องการเงินเพิ่มเติมจากกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้บรรลุอัตราการรีไซเคิลที่ 18%-26% ภายในปี 2030 จะต้องลงทุนอีกมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรวบรวม คัดแยก และแปรรูปขยะสิ่งทอ
การรีไซเคิลสิ่งทอไม่ได้มีไว้สำหรับบริษัทแฟชั่นที่มี “ความยั่งยืน” เพียงไม่กี่แห่งอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีบริษัทฟาสต์แฟชั่นใดสามารถเพิกเฉย นักช้อปเองก็ต้องเรียกร้องให้แบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบแสดงความมุ่งมั่นในการรีไซเคิลสิ่งทอที่มีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแคมเปญการตลาดและคอลเลกชันแฟชั่น
ที่มา