CIRCULAR ECONOMY

TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2” พาอาสาเจาะลึก Circular ฉบับดอยตุง

25 พฤศจิกายน 2566…ทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปี มนุษย์ใช้ทรัพยากรโลกมากถึง 70,000 ล้านตัน ทั้งขุดเจาะน้ำมันสำหรับผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงยานยนต์ หรือผลิตพลาสติก หรือถลุงโลหะ สำหรับการสร้างอาคารบ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และอาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมากเกินกว่าความสามารถของโลกที่จะฟื้นตัวได้ ถ้าเรายังคงบริโภค กิน-ใช้-ทิ้ง กันอย่างไม่ยั้ง ในขณะที่ความเป็นจริง “เรามีโลกเพียงใบเดียว” เท่านั้น

กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ ที่ประกาศเป้าหมายใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” มาพร้อมกับ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ปลุกพลังแบรนด์สินค้า (Fulfilling) ปลุกพลัง ธุรกิจเติบโต (Growing) และปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2567 เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านธุรกิจ ส่งเสริมและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและต่างประเทศ จึงจัดกิจกรรมอาสา TCP Spirit ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ลงมือทำ และขยายผลสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสู่คนรอบข้าง โดยตั้งแต่ปี 2565-2566 มาในธีมของคณะเศษสร้าง ที่จะชวนอาสามาทำความเข้าใจและเห็นภาพเรื่องการจัดการขยะในมิติต่าง ๆ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบ ๆ ตัว ร่วมกันเปลี่ยน “เศษ” ให้กลายเป็นการ “สร้าง” ทั้งการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดการ สร้างนิสัยการแยกที่ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์และดูแลโลกใบเดียวของเราให้ดีที่สุด

จากความสำเร็จของ TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 1 ที่นำอาสาลงพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำในจังหวัดระนอง เรียนรู้การจัดการขยะทั้งคัดแยก เก็บกลับ รวมถึงแปลงเป็นรายได้ให้ชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาสาที่ปลุกพลังคนในชุมชนให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมมือจัดการขยะอย่างจริงจัง ปัจจุบันสามารถเก็บกลับวัสดุรีไซเคิลได้ เพิ่มขึ้นถึง 200% นำไปสู่ TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2” ลงลึกการจัดการขยะอย่างเข้มข้นสู่วิถีไร้ขยะ นำทีมคณะเศษสร้าง ปี 2 ทำภารกิจ “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” มุ่งหน้าสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และไพศาล คำกาศ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เล่าถึงการจัดการ “เศษ” ขยะและ “สร้าง” มูลค่าใหม่ผ่านการลงมือทำแบบครบวงจร พร้อมเรียนรู้ความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

 

จากวิสัยทัศน์ที่เข้มแข็ง สู่เครือข่ายที่แข็งแกร่ง

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าเมื่อมีพลัง โลกที่ดีขึ้นก็เป็นไปได้ จึงลงมือทำงานอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ผ่าน TCP Spirit กิจกรรมอาสาที่นำประเด็นสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรอบตัว เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน”

โดยปีนี้กลุ่มรุ่นพี่จากคณะเศษสร้าง ปี 1 ได้กลับมาทำหน้าที่อาสา TCP Spirit เป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ขณะที่เหล่าอาสาปี 2 จะได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นครบลูปในเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกร่วมกันผลักดันเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรโลก จากความร่วมมือของทุกคน

สราวุฒิ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้านับจากคณะเศษสร้าง ปีนี้เป็นปีที่ 2 แต่ถ้าพูดถึง TCP Spirit กลุ่มธุรกิจ TCP ทำมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว โดยเริ่มต้นจากเรื่องปลูกป่า มาสู่เรื่องน้ำ และ 2 ปีที่ผ่านมานี้มีการขับเคลื่อนเพิ่มเติมในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน

การคัดแยกขยะอย่างละเอียดตามโมเดลดอยตุง

“ความแตกต่างของปีนี้กับปีที่แล้วคือ ปีที่แล้วมีการออกเก็บขยะ แยกขยะ และได้เห็นปัญหาจริงแล้วว่าบริเวณที่เป็นเกาะมีการบริหารจัดการที่ลำบากกว่าบนแผ่นดินใหญ่ ปีนี้จึงมีพัฒนาการมากขึ้นโดยเมื่อเก็บและแยกขยะแล้วจะเห็นภาพรวมว่าหลังจากนั้นถ้าจะทำให้ครบลูปสามารถเอาไปทำอะไรได้อีก สำหรับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนต้องการองค์ความรู้เรื่องนี้อีกมาก หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีนัก อย่างพลาสติกมีหลายแบบซึ่งคนก็ยังไม่รู้จักดีว่าแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน เราจึงคาดหวังว่าอาสาที่มาเข้าร่วมกับเราจะได้รับองค์ความรู้และนำไปปรับให้เข้ากับบริบทการใช้ชีวิตของตนเอง กับชุมชน หรือองค์กรของเขา เพื่อต่อยอดเรื่องนี้ให้ขยายวงกว้างออกไป รวมถึงสร้างเครือข่ายให้สามารถเชื่อมต่อกันได้เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ขยายวงมากขึ้น”

เจาะลึกแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้วยการลงมือทำจริง!

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ รับหน้าที่ครูใหญ่คณะเศษสร้าง มหาวิทยาลัยชีวิตจริง เล่าถึงหลักสูตรในปีนี้ว่า อาสาสมัครทั้ง 60 คน จะได้เรียนรู้ เจาะลึกแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านประสบการณ์จริงในหลักสูตรพิเศษฉบับ “ดอยตุงโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาครบวงจรเพื่อความยั่งยืน จากโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย ครบลูปตั้งแต่กิจกรรมคัดแยกขยะ ซึ่งศูนย์จัดการขยะที่ดอยตุงสามารถแยกได้ถึง 44 ประเภท การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ การสร้างมูลค่าให้กับวัสดุ สร้างรายได้ให้ชุมชน และเวิร์กช็อปทำความเข้าใจภาพรวมขนาดใหญ่ผ่าน “The Butterfly Diagram: Visualizing the Circular Economy” ไขความลับวัฏจักรหมุนเวียนจากห้องเรียนธรรมชาติ ให้ทุกคนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีผลกระทบต่อกัน เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของโลกในปัจจุบัน

“สำหรับเมืองไทยเราเห็นความก้าวหน้าและความตื่นตัวจากภาคเอกชน อย่าง กลุ่มธุรกิจ TCP แม้ว่าผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแพคเกจจิ้งแต่ก็ทำในเรื่องของพลังงานด้วย ลงทุนเรื่องน้ำและมองถึงการพัฒนาสินค้าที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่เมืองไทยยังขาดอยู่คือเรื่องของกฎหมาย เพราะเรากลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มีพรบ.เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ชัดเจน ผมมองว่า ภาครัฐควรมี Incentive ให้กับบริษัทที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขยายผลให้สำเร็จต่อไป การมี พรบ.เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจะได้มีเครื่องมือต่างๆ ในการกำกับดูแล เช่น EPR ที่จะช่วยให้เกิดการรับผิดชอบของผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม เหมือนอย่างที่ยุโรปทำเรื่องภาษีเข้มข้นเช่นCBAM ก็ช่วยผลักดันให้เรื่องนี้ก้าวหน้ามากกว่าเดิม”

มาถึงรายวิชารักษ์โลกที่ทุกคนได้เรียนรู้ในปีนี้ ประกอบไปด้วย

คู่มือ TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2”

-วิชากายวิภาคของ “เศษ”: เข้าใจบริบทของสำนักงานและโรงงานผลิตผ่านของเหลือหรือ “ขยะ” และจะได้ลงมือจริง ไม่ใช่แค่แยกขยะที่เราบริโภค แต่ลงลึกถึงขยะปลายทางที่สามารถแยกได้ถึง 44 ประเภท และทุกประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

-วิชาสร้างโอกาสปลุกปัญญา: ลงมือเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็น “วัสดุ” จากพลาสติกให้กลายเป็นกระถางใส่ต้นไม้ จากเปลือกหัวหอมให้กลายเป็นสีย้อมผ้า หรือจากห่อขนมกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ และปุ๋ยไส้เดือนที่มีกระบวนการ Circular ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาสาจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างเศษให้กลายเป็นของใช้หลากหลาย

-วิชาการเดินทางของขยะ: ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของขยะผ่านผลงานชิ้นเอกที่เหล่าอาสาสร้างขึ้น ว่าเส้นทางของขยะ และกระบวนการชุบชีวิตขยะต้องทำอย่างไร สามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านหรือต่อยอดไอเดียเพิ่มมูลค่าสร้างวิถีไร้ขยะได้อีกหลากหลาย

-วิชาสร้างคุณค่าให้กับ “ขยะ” กลายเป็น “เศษวัสดุ”: อาสาจะได้ร่วมกันออกแรงซ่อมแซมถนนที่ชำรุด โดยใช้เศษโมลด์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเซรามิกร่วมกับปูน และเปลือกแมคคาเดเมีย ถมถนนที่เป็นหลุมเป็นร่องให้เรียบ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรของผู้คนในชุมชน

ฐานการเรียนรู้ TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2” ในกระบวนการ Circularฉบับดอยตุง

-วิชาปลูกคนปลูกป่า วิถีวงกลม: พาอาสาทุกคนไปเดินป่า ฟังเสียงนก ใช้เวลาสัมผัสกับธรรมชาติ บนเส้นทางที่ตัดผ่านพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์ สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

-วิชาดวงดาวในจักรวาล: ชวนกันมาถอดบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน Butterfly Diagram เรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ว่าทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน แล้วจะเข้าใจว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินจริง

เรียนรู้กับวิชาปลูกคนปลูกป่า วิถีวงกลม

-วิทยานิพนธ์: ตกตะกอนความคิดและต่อยอดความสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งหมด กลั่นออกมาเป็น THESIS การจัดการ “เศษ” เพื่อ “สร้าง” ประโยชน์ ส่งต่อไอเดียดีๆ และพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง

ไพศาล คำกาศ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เสริมว่า “ดอยตุงโมเดล สามารถให้หน่วยงานต่างๆมาเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย บางกลุ่มต้องการมาหาวิธีการจัดการเศษอาหารอย่างเดียว อยากรู้ว่าวิธีการจัดการในเมืองกับในชุมชนต่างจังหวัดแตกต่างกันอย่างไร บางกลุ่มต้องการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เราจะมีองค์ความรู้แต่ละชุดให้องค์กรต่างๆเลือกเรียนรู้ อย่างการแยกขยะของเราจะแยก 44 ประเภท เป็นขยะที่ขายได้ 32 ประเภท ขยะอันตรายมีประมาณ 7-8 ประเภท ขยะที่ให้พลังงาน 11-12 ประเภท ทั้งหมดเป็นชุดความรู้สำหรับหน่วยงานต่างๆที่ตั้งเป้าว่าจะไม่มีขยะที่บ่อฝังกลบให้เขานำไปเป็นคู่มือเป็นแนวทางในการแยกขยะสำหรับองค์กรของตัวเอง”

นับว่ากิจกรรมอาสา TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้การจัดการขยะอย่างจริงจัง พร้อมลงมือทำด้วยตัวเอง และแม้ว่ากิจกรรมจะจบลงไป แต่บรรดาอาสาเหล่านี้จะเป็นพลังในการนำสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ไปขยายผลเป็นแรงกระเพื่อมต่อไปไม่สิ้นสุด ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply