17-19 พฤษภาคม 2567 …ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บัมบัง จันดรา รองประธานฝ่ายธุรกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษของ Dow และฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เซ็นต์ MoU ร่วมเป็น “พันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพลาสติกหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในเอเชีย (Partnership to Accelerate the Circular Plastic Ecosystem in Asia)”
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการรีไซเคิลพลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งเป้าเร่งพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกปริมาณกว่า 200,000 ตันต่อปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นผลิตภัณฑ์หมุนเวียนที่มีมูลค่าด้วยกระบวนการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) และการรีไซเคิลขั้นสูง (Advanced Recycling) ภายในปี 2573
SCGC และ Dow มีแผนจะเร่งพัฒนาและยกระดับการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง สำหรับความร่วมมือในขั้นแรกนั้นครอบคลุมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (PCR) โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในปัจจุบัน รวมทั้งบูรณาการการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการที่มีเทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูงที่เกี่ยวเนื่องกับการรีไซเคิลเชิงกลและการรีไซเคิลขั้นสูงในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศห่วงโซ่คุณค่าที่แข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งบริหารจัดการและรีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนพลาสติกใช้แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“SCGC พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก Green PolymerTM และเทคโนโลยี Compound ในการเพิ่มประสิทธิภาพเม็ดพลาสติก เพื่อคืนคุณค่าพลาสติกใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกระบวนการรีไซเคิล และการรีไซเคิลขั้นสูง โดยยังคงคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและรองรับความต้องการของตลาดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ทั้งในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สะท้อนกลยุทธ์ Low Waste, Low Carbon ของ SCGC อย่างเป็นรูปธรรม” ศักดิ์ชัยกล่าว
สำหรับในระยะถัดไป ทั้งสองบริษัทคาดการณ์ว่าจะร่วมกันจัดหาพลาสติกใช้แล้วจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลาสติกรีไซเคิลชนิดต่าง ๆ และขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
“เอเชียเป็นหนึ่งในแหล่งขนาดใหญ่ของพลาสติกใช้แล้วที่สามารถแปรรูปได้ เราต้องการพลิกโฉมวิธีการจัดการกับขยะในภูมิภาค โดยสร้างโมเดลใหม่ที่ให้คุณค่ากับพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ เพื่อเก็บรวบรวมสิ่งเหล่านี้และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยพัฒนาเทคโนโลยีในการคัดแยกขยะ การรีไซเคิลเชิงกล และการรีไซเคิลขั้นสูง ความร่วมมือกับ SCGC จะทำให้ทั้งสองบริษัทมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่เรามีจำหน่าย ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา และลิขสิทธิ์ทางเทคโนโลยีของเรา เมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการผลิตเม็ดพลาสติกประสิทธิภาพสูงแล้ว ลูกค้าของเราจะได้รับความคุ้มค่าทั้งในด้านต้นทุน ความพร้อม รวมไปถึงคุณภาพของพลาสติกและวัสดุหมุนเวียน” บัมบังกล่าว
ฉัตรชัย เสริมว่า Dow ได้ดำเนินกิจการในประเทศไทยมานานถึง 57 ปี มีความภาคภูมิใจที่จะได้เริ่มต้นก้าวต่อไปด้วยการพัฒนาพันธมิตรเพื่อธุรกิจพลาสติกหมุนเวียนร่วมกับ SCGC ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ไว้วางใจ โดยตลอดระยะเวลา 37 ปีที่ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนด้วยกันในประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ทั้งสององค์กรมีความมุ่งมั่นที่เหมือนกันในด้านความเป็นเลิศและความยั่งยืน SCGC จึงเป็นพันธมิตรในอุดมคติที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกันในครั้งนี้ โดยเราตั้งใจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องให้กับลูกค้าควบคู่ไปกับการสนับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาคนี้
ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนในการ “เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ (Transform the Waste)” ของ Dow ทั่วโลก ซึ่งมุ่งมั่นจะเปลี่ยนขยะพลาสติกและนำวัตถุดิบทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ให้ได้ 3 ล้านตันต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ SCGC ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon ที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% และมีเป้าหมายขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 อีกด้วย