CIRCULAR ECONOMY

นวัตกรรมจาก “หิ้ง” เส้นใยฟางข้าว สู่ “ห้าง” Unisex Street Fashion

2 กรกฎาคม 2567…เริ่มต้นจากงานวิจัย “นวัตกรรมเส้นใยฟางข้าวผสมเส้นใยจากรังไหม สู่การพัฒนาสิ่งทอเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์” มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ สู่แคมเปญ KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn waste to Agri-Wear” เป็น Unisex Street Fashion ตลอด 3 เดือนนับจากนี้

ภารกิจของแบรนด์คูโบต้า ที่ดำเนินงานต่อเนื่องผ่านมุม CSR คือความพยายามที่จะช่วยให้ชาวนาได้เห็นคุณค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คือฟางข้าว จึงทำงานกับท้องถิ่นและชาวนาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้องค์ความรู้ไม่เผาฟางข้าว ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่นการประกวดโครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ”คูโบต้าอยากจะสนับสนุนให้เกิดวิถีใหม่เกษตรกร หนึ่งในนั้นมีรายได้ใหม่ที่มาจากฟางที่เคยเผา นำมา “อัดก้อน” เปลี่ยนเป็น “เงิน” เพื่อให้เกิด Zero Burn ส่งเป็นเชื้อเพลิงทางชีวมวลให้โรงงานผลิตปูนซิเมนต์เอสซีจีที่อยู่ใกล้ชุมชน

ต่อเมื่อมาเห็นงานวิจัยที่ได้บูรณาการร่วมกันของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนเรขา อัจฉริยะพิทักษ์ สาขาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตนจิรา รัตนประเสริฐ สาขาพืชศาสตร์ และ ดร. ลักขณา พิทักษ์ สาขาเครื่องจักรกลเกษตร คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่มีแนวคิดการลดขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) จึงเลือกใช้วัสดุ “ฟางข้าว” ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากแปลงนาของจังหวัดสุรินทร์ มาพัฒนาเส้นด้ายชนิดใหม่ สร้างองค์ความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

“นวัตกรรมจากงานวิจัยดังกล่าว เราพัฒนาพร้อมกับชุมชน และในมหาวิทยาลัยมีความพร้อมจากคณะต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน สามารถทอเป็นผืนผ้าได้ จึงทำให้งานวิจัยชิ้นนี้มีความสมบูรณ์” รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ กล่าวถึงจุดแข็งของงานวิจัย

เมื่อนำฟางข้าวมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ด้วยกรรมวิธีย่อยเส้นใย คณะวิจัยได้พบว่า เส้นใยจากฟางข้าวมีปริมาณเยื่อใยเซลลูโลสสูง ทำให้เส้นด้ายมีความแข็งแรง ยืดตัวในระดับดี สามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้…จากนั้นจึงได้นำมาปั่นเข้าเกลียวร่วมกับรังไหมเหลือใช้ จนเกิดเส้นด้ายที่ผลิตจากเส้นใยฟางข้าวผสมกับเส้นใยรังไหม สามารถนำไปพัฒนาสิ่งทอเพื่อต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยร่วมกับช่างทอผ้ากลุ่มเกษตรกร จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเลี้ยงไหม ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี…เนื้อผ้าที่ทอได้มีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง สามารถนำไปย้อมสีและพิมพ์ลายได้ อีกทั้งดูดซับความชื้น สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี

 

พิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า

“สยามคูโบต้าเกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการให้แนวคิดนี้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน จึงได้มองหาพันธมิตรที่มีมุมมองเดียวกัน โดยมีการแชร์ไอเดียกับ เกรฮาวด์ ออริจินัล แบรนด์คนไทยที่ออกแบบเสื้อผ้าสไตล์สตรีทแวร์ ได้อย่างโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นแคมเปญ KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT Turn waste to Agri-Wear ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ผนึกเอาภาคการเกษตรผนวกเข้ากับวงการแฟชั่น”

เมื่อมาถึงปลายทาง นับเป็นครั้งแรกของ เกรฮาวด์ ออริจินัล ที่เลือกสินค้าเสื้อผ้า Agri-Wear ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในสไตล์สตรีทแฟชั่นและมีความเป็น Unisex ใช้ความโดดเด่นของลวดลาย Freehand และ Silhouette ที่ปักสไตล์ Handicraft บนตัวผ้าที่ตัดเย็บแบบ Modern Craft เพิ่มมิติด้วยการนำมาออกแบบผสมผสานกับเนื้อผ้าคอตตอนออแกนิก และผ้าร่มรีไซเคิล

“แคมเปญนี้มีระยะเวลา 3 เดือนที่ขายหน้าร้าน ซึ่งเป็นราคาสินค้าของ เกรฮาวด์ ออริจินัลปกติ โดยคอลเลคชั่นนี้จะมีประมาณ 20 SKU หลังจาก 3 เดือน จะมีสินค้าขายอยู่บนออนไลน์ เรามุ่งสร้าง Sustainable Fashion เราจึงเพิ่มกลุ่มไลน์สินค้า Green Label โดยสังเกตได้จากป้ายแท็กเสื้อสีเขียวซึ่งจะติดบนเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้ารีไซเคิล เช่น ผ้ารีไซเคิลที่ผลิตจากขวดน้ำพลาสติก ผ้าคอตตอนออแกนิก หรือการใช้ผ้าในสต็อกเพื่อลดการผลิตผ้าใหม่ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ และลดการใช้สารเคมีเท่านั้น แต่ยังเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด ” ภาคิน เพ็ญภาคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) ขยายความ

ผู้บริหาร 3 ภาคส่วนที่แตกต่างกัน ร่วมมือจนกระทั่งเกิด แคมเปญ KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT Turn waste to Agri-Wear

 

พิษณุ กล่าวถึงความเชื่อในท้ายที่สุดว่า แฟชั่นจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ง่าย เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงเบื้องหลังความตั้งใจมากมายก่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนให้แก่โลก นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทุกคนที่ซื้อสินค้าจะได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของภาคการเกษตร

“ในอนาคตสยามคูโบต้าจะยังต่อยอดแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน และส่งเสริมการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งฟางข้าว หรือในกลุ่มพืชชนิดอื่นๆ มาสร้างไอเดียด้วยวิธี Upcycling ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในหลากหลายสินค้าเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีการเผา ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy พร้อมมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคมและสานต่อความยั่งยืน”

 

 

 

You Might Also Like