CIRCULAR ECONOMY

การบินไทยมอบรางวัล Zero Waste Living by THAI อัปไซเคิลจากวัสดุผ้าหุ้มเบาะผู้โดยสาร

12 กรกฎาคม 2567… กิจกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการบินไทย ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ สนุกสนานไปพร้อมกับการสร้างสรรค์ผลงาน

ทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจ การบินไทยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่

1.FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
2.FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
3.FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ล่าสุด การบินไทยมอบรางวัล Upcycling โครงการ Zero Waste Living by THAI ภายใต้แนวคิด “FROM WASTE TO WEALTH” เป็นการนำเสนอผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ Upcycling จากวัสดุผ้าหุ้มเบาะที่นั่งผู้โดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นส่วนของผ้าที่สำรองไว้สำหรับการตัดเย็บเป็นอะไหล่สำรองสำหรับสลับสับเปลี่ยนเพื่อแทนที่เบาะที่ชำรุดเสียหาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเครื่องบินโบอิ้ง 747 ได้ปลดระวางแล้ว ผ้าเหล่านั้นจึงไม่ถูกนำไปใช้งาน

“เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อโลกและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการสานต่อแนวคิด Zero Waste Living ส่งเสริมการสร้างสรรค์และความยั่งยืนในสังคม”

มอบรางวัลกับผู้ชนะ พร้อม
ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย

 

ทวิโรจน์ขยายความต่อเนื่องถึงโจทย์ของโครงการ นอกจากการใช้วัสดุผ้าหุ้มเบาะนั่งดังกล่าวแล้ว การนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เน้นหลักการ Upcycle ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถยืดอายุการใช้งานด้วยการปรับเปลี่ยนรูปร่างผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำมาใช้งานได้อีกครั้ง และหลักการ “สร้างมูลค่าใหม่” ที่เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้จริงและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยทั้งสองหลักการนี้จะต้องทำได้ง่ายและไม่ซับซ้อน

ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากการบินไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ยั่งยืน จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด (ภายใต้แบรนด์ CIRCULAR) ธวรรณัฏฐ์ เลิศหัตถศิลป์ ผู้จัดการส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท โซลูชั่น ครีเอชั่น จำกัด (ภายใต้แบรนด์ UP TO YOU) (บริษัทในเครือ PTTGC) และ ดรัสวิน สุวรรณเพชร ผู้ออกแบบเอกลักษณ์แบรนด์ Zero Waste Living by THAI ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาตัดสิน โดยพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ ฟังก์ชันใช้งาน ความสวยงามของกราฟิก และการนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ

ผลตัดสินดังต่อไปนี้

รางวัลชนะเลิศ
ชื่อทีม : MALAI living Collection
เจ้าของผลงาน : ปัทวี เข็มทอง
ผลงาน : ผ้าม่าน และ Bean Bag
แนวความคิด : จากความเชื่อของคนไทยในการใช้เครื่องแขวนดอกไม้ แขวนไว้ที่หน้าต่างเพื่อความเป็นศิริมงคลป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเข้ามาทางประตูหรือหน้าต่าง จึงได้นำความคิดนี้มาเป็นแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าเหลือใช้ของที่นั่งการบินไทยมาออกแบบเป็นผ้าม่านพับ และเบาะนั่ง ใช้เศษผ้าสีสันหลากหลายของที่นั่งผู้โดยสารมาตัดเป็นลวดลายของดอกรักบนเครื่องแขวน โดยลดทอนลวดลายของเครื่องแขวนนำมาตัดเย็บในรูปแบบของโมดูล่า เพื่อให้มีความโมเดิร์นผสมกับความเป็นไทย ผลมกับลวดลายของดอกรัก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการบินไทยนำมาออกแบบและจัดวางให้สวยงามและร่วมสมัย
ผ้าม่าน ออกแบบเป็นม่านพับ โดยนำผ้ามาตัดเป็นรูปทรงวางคละสีให้สวยงามและตัดเย็บเป็นม่านพับเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ซับหลังด้วยผ้า Blackout เพื่อป้องกันแสงและเพื่อความเรียบร้อยของงานเบาะนั่ง ใช้ผ้าที่วางลวดลายนำมาตัดเย็บเป็น เบาะนั่ง ด้่านในใช้ผักตบชวาอบแห้งกลิ่นกล้วยไม้แทนการใช้เม็ดโฟม และยังได้กลิ่นหอมที่เข้ากับอัตลักษณ์ของการบินไทย ทำให้ผลงานนี้ มีลวดลายและมีกลิ่นที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของ การบินไทย

 

รางวัลรองชนะเลิศ
ชื่อทีม : ORCHID SET
เจ้าของผลงาน : นฤสรณ สโตย พัทธสวัสดิ์กุล
สิทธิ์ธาน ทิพมนต์
ผลงาน : หมวก กระเป๋า และรองเท้า
แนวความคิด : ดอกกล้วยไม้ คือ ดอกไม้แห่งความงดงามที่เป็นตัวแทนของความสุขแห่งการเดินทางที่อยู่เคียงคู่โลกของเรา จึงเกิดแนวคิดการสร้างสรรค์ชุดเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย จำนวน 1 ชุด อันได้แก่ หมวก กระเป๋า และรองเท้าจากผ้าหุ้มเบาะที่นั่งสำหรับผู้โดยสารด้วยการนำมาตัดทอนรูปทรงของดอกกล้วยไม้และการทับซ้อนของวัสดุที่แตกต่างกันไป คือ สีม่วง สีชมพู และสีเหลือง เพื่อสร้างความแปลกใหม่และสื่อถึงการตระหนักคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และทรัพยากรธรรมชาติ
เลือกใช้เทคนิคการตัดเย็บ และการผสมผสานวัสดุเพื่อสร้างความแปลกใหม่ และยั่งยืนของเครื่องแต่งกายผ่านวัสดุ ผ้าหุ้มเบาะโดยสารของการบินไทย

 

รางวัลชมเชย
ชื่อทีม : ไทย ยวน
ชื่อเจ้าของผลงาน : วราภรณ์ มามี
ผลงาน : ผ้ากันเปื้อนอเนกประสงค์ ไทย ยวน
แนวความคิด : ผ้ากันเปื้อนอเนกประสงค์ ได้นำแรงบันดาลใจจากผ้าทอไทยยวนมาใช้ในการออกแบบ โดยผู้ออกแบบออกแบบลวดลายด้วยตัวเอง คือ ลายพรรณพฤษกษา ลายดอกปืน (กาสะลอง) ซึ่งสื่อถึง ความเป็นมงคล อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง สดชื้น มีชีวิตชีวา และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผู้ทอผ้าไทยยวนเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนาธรรมไทยอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัลบัตรโดยสารเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-ฮ่องกง จำนวน 3 ที่นั่ง พร้อมประกาศนียบัตร ทีมรองชนะเลิศ ได้รับรางวัลบัตรโดยสารเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-เชียงใหม่ จำนวน 3 ที่นั่ง และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยได้รับของที่ระลึกจากการบินไทย

กิจกรรมประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการสานต่อแนวคิด Zero Waste Living ส่งเสริมการสร้างสรรค์และความยั่งยืนในสังคม มีผลงานจากนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 7 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 15 ทีม

 

You Might Also Like