CIRCULAR ECONOMY

กระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไต : นวัตกรรมใหม่จาก PRINC และ SCGC

19-20 ตุลาคม 2567…บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารโรงพยาบาลเอกชนในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ร่วมมือกับ SCG Chemicals (SCGC) และพันธมิตร เปิดตัวโครงการนำร่อง Circular Economy ในวงการแพทย์ผ่านการแปรรูป ถุงน้ำยาล้างไต ที่ใช้แล้วเป็น กระเบื้องพีวีซีรีไซเคิล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ขยะจากถุงน้ำยาล้างไตถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะทางการแพทย์ และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่เคยถูกทิ้ง

โครงการนี้มีพันธมิตรสำคัญ เช่น Baxter Healthcare บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำ และ Dynoflex ผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิล โดยพวกเขาได้ร่วมกันพัฒนาและสร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลที่สามารถนำขยะทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงน้ำยาล้างไต ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 1,740 ตันต่อปี กลับมาแปรรูปเป็นกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูง โครงการนี้ได้นำร่องติดตั้งกระเบื้องที่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ และจะขยายการติดตั้งไปยังโรงพยาบาลในเครืออีก 3 แห่งในจังหวัดต่าง ๆ รวมพื้นที่ติดตั้งทั้งหมดกว่า 9,000 ตารางเมตร

 

บันทึกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไต ในห้องพักคนไข้

นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ PRINC กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมมือในครั้งนี้ว่า การจัดการกับขยะทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงน้ำยาล้างไต ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย หากได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีจะไม่กลายเป็นขยะติดเชื้อ และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังสร้างคุณค่าให้กับทรัพยากรตามหลัก Circular Economy เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน

 

เทคโนโลยีจาก SCGC เปลี่ยนถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นเม็ดพลาสติกพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูง ก่อนจะเป็นกระเบื้องพีวีซีรักษ์โลก

 

ในมุมของ SCGC ซึ่งเป็นผู้นำโซลูชันด้าน Green Polymer ชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ SCGC กล่าวว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการใช้พลาสติกรีไซเคิลในอุตสาหกรรมการแพทย์ โดย SCGC ได้ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูงเพื่อแปรรูปถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นจำนวน 5,320 ถุง ให้เป็นเม็ดพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นกระเบื้องพีวีซีที่ใช้งานได้จริง โดยใช้ทดแทนพีวีซีได้ถึง 80% คิดเป็นขยะพลาสติกพีวีซี 800 กิโลกรัมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,110 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 120 ต้น สอดคล้องกับเป้าหมายของ SCGC ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ พอล อุทัยชลานนท์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท Baxter Healthcare ได้กล่าวถึงความสำคัญของการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการทำความสะอาดและทิ้งถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกต้อง เพื่อให้ถุงเหล่านั้นสามารถถูกนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณขยะและส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลในวงการแพทย์มากขึ้น

 

ถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้ว

กนิษฐ์ สารสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท Dynoflex ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัสดุตกแต่งพื้นไวนิลที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ได้กล่าวว่า Dynoflex มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label) และฉลากเขียว (Green Label) ซึ่งโครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่บริษัทสามารถใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการผลิตวัสดุรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO และ ASTM ในการนำขยะทางการแพทย์กลับมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ และช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการแพทย์

โครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในด้านการจัดการขยะทางการแพทย์ และสะท้อนให้เห็นถึงการนำหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like