CIRCULAR ECONOMY

ทางที่ขยะพลาสติกจะไป นวัตกรรม “ถนนจากพลาสติกเหลือใช้”

8 ตุลาคม 2563… หวังสร้างมาตรฐานใหม่ให้การทำถนนของประเทศ นำพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทาง ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรง และยืดอายุการใช้งานของถนน

สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (กลาง) ปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ที่ 2 จากขวา) รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (ขวาสุด) ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (ซ้ายสุด) และ ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ที่ 2 จากซ้าย) ร่วมลงนามศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ เพื่อเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง หวังแก้ปัญหาขยะและเพิ่มความแข็งแรงให้ถนน พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy (Bio – Circular – Green Economy) ของรัฐบาล

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน โดยเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นต้น มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ

ปัจจุบันเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้ เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน

แถวบน การทำถนนพลาสติกรีไซเคิลในโครงการการพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ และต้นแบบถนนพลาสติกบริเวณนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล จ.ระยอง
แถวล่าง ถนนพลาสติกของ เซเว่น อีเลฟเว่น และภาพมุมสูงต้นเเบบถนนพลาสติกบริเวณนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล จ.ระยอง

การที่จะต้องใช้พลาสติกจำนวนมากในการทำถนน มีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลาสติกจากชุมชนในบริเวณที่จะทำถนนจากพลาสติกเหลือใช้ ซึ่งเอสซีจีจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และยังจะเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงการนี้ได้

เมื่อมีข้อสงสัยในความทนทานของถนนพลาสติกเหลือใช้พบว่า กลุ่มบริษัทดาว ได้ริเริ่มโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ใช้ถนนได้นานแล้วมีความแข็งแรงมากกว่าถนนลาดยางมะตอยแบบเดิม ส่วนในประเทศไทยได้ทดลองทำที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ, SC Asset,MQDC ฯลฯ ก็มีประสิทธิภาพทนทานเช่นกัน และในกรณีจะต้องซ่อมแซมก็จะใช้ถนนลาดยางมะตอยเป็นหลักเช่นเดียวกับการสร้างถนน

ดังนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป ทางกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ได้นำข้อมูลดังกล่าวที่ภาคเอกชนได้ทดลองทำ คู่กับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าสู่งานวิจัย งานวิเคราะห์และตรวจสอบ และมีมาตรฐานต่าง ๆ ด้านงานทางมามากกว่า 108 ปี และกรมทางทางหลวงชนบทจะทำจริงที่แถบสระบุรี รวมถึงระยอง ซึ่งมีพลาสติกเพียงพอในการทำงานให้เร็วขึ้น

ผู้บริหารที่ร่วมลงนามเห็นตรงกันว่า ถนนพลาสติกเหลือใช้มีความทนทาน ช่วยลดต้นทุนในการทำถนน ช่วยจัดการพลาสติกที่ได้ผลชัดเจน นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อทุกคนคัดแยกพลาสติกได้ถูกต้องแล้ว ขยะพลาสติกจะมีที่ไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ไปที่หลุมฝังกลบ

 

You Might Also Like