7 พฤศจิกายน 2561…จำนวนถุงพลาสติกดังกล่าว เท่ากับจำนวนขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ตัน ผสมยางมะตอยถูกราดบนถนน 2,600 ตารางเมตร ณ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยความร่วมมือกับเอสซีจีและ ดาว ตอบแนวคิด Circular Economy
จากการทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของถนนยางมะตอยซึ่งใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบ กับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนยางมะตอยซึ่งมีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบนั้นมีคุณสมบัติดีขึ้นทั้งในด้าน การเพิ่มความแข็งแรงคงทน ประมาณร้อยละ 15-33 การเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนประมาณร้อยละ 6 และต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาที่ดิน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ได้นำพลาสติกใช้แล้ว อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถุงใส่อาหาร จากการคัดแยกขยะภายในเอสซีจีและครัวเรือนชุมชน ซึ่งรวบรวมโดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง มาใช้ทดสอบเป็นส่วนผสมสำหรับสร้างถนนยางมะตอย
บนถนนต้นแบบ “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” เส้นแรกของไทย
ทั้งนี้ ดาว เคมิคอล มีประสบการณ์ร่วมกับประเทศอินเดีย และอินโดนีเซียจัดทำโครงการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ทำถนนยางมะตอย โดยในประเทศอินเดียนั้นได้สร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลในเมืองบังคาลอร์และเมืองปูเณ่รวมความยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งใช้ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 100 ตัน สำหรับประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิลในเมืองเดป๊อคความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9,781 ตารางเมตร จากขยะพลาสติกจำนวนกว่า 3.5 ตัน