9 ธันวาคม 2562…ปัญหาขยะกำลังถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเราทุกคนล้วนเป็นตัวการผลิตขยะ โดยแต่ละวันขยะที่เราสร้างขึ้นเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ลองคิดดูว่าแต่ละปีจะมีขยะทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน
ในเมื่อทุกคนเป็นตัวการผลิตขยะ ทางออกที่ถูกต้องที่สุดจึงอยู่ที่การจัดการกับขยะต้นทาง โดยเริ่มจากบ้านและชุมชนของเรา อย่างที่ “บางซื่อโมเดล” โครงการจัดการขยะภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ ประสบผลสำเร็จมาแล้ว ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way
จากการดำเนินโครงการ “บางซื่อโมเดล” สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งบ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 20 ตันต่อเดือน เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละเดือน
จาก “บางซื่อโมเดล” ต่อยอดสู่ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ
ความสำเร็จของ “บางซื่อโมเดล” จึงถือเป็นโครงการต้นแบบที่ดีในการนำไปถอดบทเรียนและขยายผลการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบจนเป็นศูนย์ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ ปี 2562 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
มาคราวนี้ “บางซื่อโมเดล” จึงถูกขยายผลต่อยอด โดยขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้นมาในระดับจังหวัดผ่านความร่วมมือกับ “จังหวัดระยอง” ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องด้านการบริหารจัดการขยะ โดยกลุ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) ล่าสุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีเปิดตัว “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โมเดลการจัดการขยะในชุมชนที่เชื่อมต่อ “บ้าน–วัด–โรงเรียน–ธนาคารขยะ”
ทั้งนี้ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสร้างขยะ และเพิ่มการรีไซเคิล สอนการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งขยะให้ถูกต้อง ทั้งขยะเปียกและขยะที่รีไซเคิลได้ รวมทั้งไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
“ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ของโลกจัดให้ Circular Economy เป็น Business Model ในธุรกิจ ซึ่งนอกจากระดับองค์กรแล้ว ในระดับส่วนบุคคลก็ต้องตระหนักถึงในการมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะอย่าลืมว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ขณะนี้ใช้ทรัพยากรในอนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา หากเราไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกหลานเราเติบโตขึ้นเขาจะอยู่อย่างไร ซึ่งจุดหลักของโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ คือ การสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชน LIKE (ไร้) ขยะที่ยั่งยืนต่อไป”
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี ขยายความต่อเนื่องการสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้วัด และโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีเจ้าอาวาส พระสงฆ์ คุณครู นักเรียน และผู้นำชุมชน เป็นผู้นำทางความคิดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่อไปยังคนอื่น ๆ ในบ้านและชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น นำโดย “เทศบาลเมืองมาบตาพุด” ในการสนับสนุนมอบสิทธิพิเศษให้กับประชาชนเพื่อส่งเสริมและดึงดูดให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ “ธนาคารขยะเพื่อการประกันชีวิต” อีกด้วย
ปัจจุบัน “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ได้เริ่มนำร่องที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านโครงการ “บ-ว-ร” ได้แก่ บ้าน คือ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัดโขดหิน และ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยมีธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ เป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกการรีไซเคิลของชุมชน โดยมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 6,500 กิโลกรัม
ที่สำคัญยังมีแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ที่พัฒนาโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลและเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจร โดยช่วยวางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง
“วัสดุถ้าอยู่ถูกที่ไม่เรียกว่า Waste เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้สิ่งที่จะต้องทำก่อนคือ Waste Management ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผลักดันเรื่องนี้กับชุมชน โดยชุมชนนั้นจะต้องมีผู้นำที่เชื่อเรื่องนี้ด้วยเราจึงจะทำ อีกทั้งชุมชนจะต้องแข็งแรง ครัวเรือนในชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือ โดยเวลาพูดคุยกับชุมชนเราจะมี Keyword ของการจัดการขยะว่า #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก ขณะเดียวกันก็มีรายได้กลับมาด้วยแอปพลิเคชันคุ้มค่านั่นเอง”
บ้าน-วัด-โรงเรียน และธนาคารขยะ ศูนย์กลาง “ความรู้ แรงบันดาลใจ บริหารจัดการขยะ”
ด้าน ผอ.บุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 กล่าวว่า โรงเรียนมีนักเรียน 483 คน ครู 49 คน และที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะโดยสร้างการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะผ่านการลงมือทำ เช่น ใช้ถังสังฆทานของวัดที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาใช้ใหม่เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจมากขึ้น และนำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยฝังลงดิน ถุงนมโรงเรียนถูกนำมาล้างทำความสะอาดตากให้แห้งเพื่อนำกลับมาเป็นของรียูส เช่น ผ้ากันเปื้อน หรือนำไปขายได้ ส่วนน้ำจากการล้างถุงนมนำมารดน้ำต้นไม้ผ่านการถีบจักรยานจากเด็ก ๆ ที่เริ่มมีน้ำหนักเกิน
“การเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะต้องเปลี่ยนวิธีคิด คิดอย่างเป็นระบบ จากนั้นก็ต้องลงมือทำ เพราะเราอยากให้นักเรียนเป็น “พลเมืองโลก” ไม่ใช่แค่ “พลเมือง” ส่งผลให้ปริมาณขยะของโรงเรียนลดลงอย่างมีนัยยะจนหลายภาคส่วนมาดูงานที่โรงเรียน”
พระมหานักรบ อัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน กล่าวถึงวิธีบริหารจัดการขยะว่า “วัดโขดหินใช้วิธีรับบริจาคขยะผ่านการเปิดบัญชี และรณรงค์ให้ญาติโยมที่มาวัดเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ ส่วนอาหารเช้าที่รับบิณฑบาตรมาเยอะนั้น หลังจากพระพิจารณาแล้วก็จะแบ่งให้คนงานอยู่ในแคมป์ก่อสร้างละแวกวัด และเศษอาหารที่เหลือก็จะไปทำเป็นปุ๋ย”
ความร่วมไม้ร่วมมือยังลงไปถึงญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด หากใครเข้าใจเรื่องการแยกขยะก็จะคอยแจ้งให้ผู้ที่เพิ่งมาทำบุญที่นี่ได้ทราบ เช่น ถ้าใส่อาหารในถุงพลาสติกมาให้แยกถุงสะอาดอีกด้าน เพราะสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ถุงไม่สะอาดจะมีจุดให้แยกแล้วจะมีคนล้างเพื่อเตรียมส่งไปจัดการให้ถูกต้อง ถือเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของวัด ที่ทำให้ทุกคนที่มาวัดตื่นตัวในการจัดการขยะ และบางคนก็นำขยะจากบ้านมาบริจาคเพื่อสร้างรายได้จากการขายขยะไปเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กผู้ด้อยโอกาสต่อไป
หนึ่งในชาวบ้านบอกว่า เดิมชุมชนเขาไผ่พยายามคัดแยกขยะ แต่ทำในลักษณะองค์ความรู้ที่มีอยู่ของชาวบ้าน ต่อมาเป็นความตั้งใจที่จะช่วยภาคราชการและเอกชนด้วยอีกทางหนึ่งจึงตั้งธนาคารขยะขึ้นในปี 2554 โดยใช้อาสาสมัครเป็นหลักในการคัดแยก
“จนกระทั่ง 8-9 เดือนที่ผ่านมา เอสซีจีเข้ามาให้ความรู้ด้านประเภทพลาสติกเพื่อนำไปสู่การคัดแยกขยะต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำระบบดิจิทัลเข้ามายกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะจากชุมชน ผ่านแอปพลิเคชันคุ้มค่าซึ่งช่วยธนาคารขยะได้มาก เพราะนอกจากใช้ง่ายแล้วยังมี ฟังก์ชันหลักที่ครอบคลุมการจัดการขยะ ทั้งการบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะที่รับซื้อมาและขายไป จัดเก็บข้อมูลสมาชิก และจัดทำรายงานได้ง่ายและสะดวก”
สำหรับแผนการทำงานปี 2563 เอสซีจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อีก 700 ครัวเรือนในชุมชนเดิม นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ชุมชนใหม่ ที่มีใจพร้อมจะเดินหน้าเป็น ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปเพื่อให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองไร้ขยะอย่างสมบูรณ์