CIRCULAR ECONOMY

Journey of Waste พาสำรวจการเดินทางของขยะทะเล แท้จริงแล้วเกิดจากใครกันแน่?

17 ธันวาคม 2562…“30 ปีนับจากนี้ ปริมาณขยะในทะเลอาจมีเพิ่มขึ้นอีกถึง 4 เท่า และอาจมีมากกว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลด้วยซ้ำ” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง แต่ใช่ว่าการคาดการณ์ที่ว่านี้จะเกินจริง ตรงกันข้ามมันอาจจะมาเร็วกว่าที่เราคิดก็ได้

จากรายงานของ Trash Free Seas Alliance พบว่า มีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลในทุก ๆ ปี โดยกว่า 80% ของขยะเหล่านี้มาจากภาคพื้นดิน ในขณะที่อีก 20% เป็นพลาสติกที่ทิ้งจากภายในท้องทะเลเอง ไม่ว่าจะเป็นขยะที่ทิ้งจากเรือประมง เช่น แหอวน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะที่ทิ้งจากเรือสำราญ มีการสำรวจพบว่า ผู้โดยสารหนึ่งคนมีส่วนสร้างขยะในทะเลถึง 3.5 กิโลกรัมต่อวันเลยทีเดียว

ด้าน The Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติดัตช์ มีเป้าหมายจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยกำจัดขยะในท้องทะเลรายงานว่า ปัจจุบันมีขยะกว่า ‘5 ล้านล้านชิ้น’ ลอยอยู่ในท้องทะเลทั่วโลก ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่ได้ล่องลอยอย่างเดียวดาย แต่มันกลับค่อย ๆ ถูกกระแสน้ำพัดพามาจับกลุ่มรวมกันจนเกิดเป็นแพขยะขนาดมหึมา โดย แพขยะขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีพื้นที่กว้างถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า

แต่สิ่งที่จะทำให้เราตกใจไปมากกว่าขยะที่ลอยเหนือผืนน้ำก็คือ ยังมีขยะที่เรามองไม่เห็นจมอยู่ใต้ผืนน้ำอีกมาก

ปัญหาของขยะทะเลเหล่านี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากกว่าที่เราคิด เพราะหากเกิดความสกปรกขึ้นในมหาสมุทร โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลอย่างประเทศไทยแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว และมันไม่หยุดความเสียหายไว้แค่นั้น เพราะระบบนิเวศในทะเล ทั้งแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลนย่อมได้รับความเสียหายส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารอันมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง

หลายครั้งเราก็ตั้งใจ แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจทิ้งขยะ

และที่เราเห็นกันในข่าวอยู่บ่อยครั้งก็คือ สัตว์ทะเลหลายร้อยชนิดต้องประสบชะตากรรมอันน่าเศร้าเมื่อมันบริโภคขยะเข้าไปอย่างไม่รู้จนอันตรายเสียชีวิต หรือขยะบางชนิดก็ไปพันเกี่ยวกับครีบหาง และสร้างบาดแผลให้กับร่างกาย

เห็นไหมว่า หากเราไม่ร่วมมือกันลดขยะทั้งบนบกและในแม่น้ำก็เท่ากับเพิ่มปัญหาขยะในท้องทะเลให้ลุกลามมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาโครงการศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการการจัดการปัญหาขยะทะเล โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการสำรวจมาตรการจัดการปัญหาขยะทางทะเลจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และพบว่าสามารถจัดแบ่งมาตรการจัดการกับขยะทางทะเลได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ

มาตรการจัดการขยะทะเลที่ต้นทาง (การป้องกัน) ลดการสร้างขยะเพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะรั่วไหลลงไปสู่ท้องทะเล หรือนำขยะกลับมารีไซเคิลใหม่ ส่วนขยะ ที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิลจะถูกแบ่งประเภทอีกครั้ง เช่นนำไปผลิตเป็นพลังงาน หรือนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

มาตรการจัดการขยะทะเลที่ปลายทาง (การฟื้นฟู) โดยทำความสะอาดทะเล และชายหาด หลังจากที่ขยะได้รั่วไหลลงสู่ธรรมชาติเรียบร้อยแล้ว ผ่านมาตรการทั้งทางกฎหมาย การกำกับดูแล และการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการกำจัดขยะทางทะเล ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการสร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงผลเสียของขยะทะเลที่เดินทางมาถึงขั้นวิกฤต ซึ่งคลิปวิดีโอ ‘Journey of Waste เส้นทางขยะทะเล’ ของเอสซีจีได้พาเราไปเห็นการเดินทางของขยะทะเลซึ่งมีเพียง 20% เท่านั้นที่เกิดจากกิจกรรมทางน้ำ ส่วนที่เหลือนั้นล้วนเกิดจากน้ำมือของเราทุกคนทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากขยะหนึ่งชิ้นที่ทิ้งไม่ถูกที่ก็อาจหลุดรอดไปยังแม่น้ำ และสู่ท้องทะเล ในที่สุดได้สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล

เห็นไหมว่า ขยะในทะเลเกิดจากตัวเราทุกคน ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว เมื่อเราสร้างขยะได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาขยะได้เช่นกัน เพียงแค่  #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะทะเล

เพื่อตัวเราเอง ลูกหลานเรา และคนรุ่นต่อไป…

 

You Might Also Like