11 พฤศจิกายน 2563…“เอสซีจี” ในฐานะบริษัทที่ยึดมั่นหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy ) จับมือ 180 พันธมิตรผนึกกำลังผลักดัน เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเป้าหมายแก้ 4 ปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ การแก้ภัยแล้ง ด้วยระบบน้ำหมุนเวียน แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” การจัดการขยะพลาสติกเป็นวาระแห่งชาติ การเสนอภาครัฐสนับสนุนวงการก่อสร้างเป็น Green and Clean Construction พร้อมเดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน เพราะสถานการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากกว่าที่คาดการณ์
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีที่เอสซีจีลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น และแสวงหาภาคีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผนึกกำลังร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อม
“หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับ COVID-19 ส่งผลให้มีการนำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น จนหลายคนเริ่มตระหนักว่าโรคระบาดครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้ายที่เราจะเจอ ดังนั้นการใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าจะทำให้โลกต้องพบกับปัญหาในระยะยาวแน่นอน หากไม่ยับยั้งหรือหาทางบรรเทาปัญหาดังกล่าว ทุกอย่างอาจจะสายจนเกินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ ภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งทรัพยากรที่อาจไม่เหลือพอให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผมจึงคิดว่าเรามาถึงจุดที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน และออกมามีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ด้วยกัน”
รุ่งโรจน์กล่าวต่อเนื่องถึงการโฟกัส Circular Economy ให้ได้ผลนั้น ต้องนำ Circular Economy เข้าไปอยู่ในโมเดลธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องที่เรียกว่า CSR หรือหน่วยงานพิเศษทำเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นเรื่องการออกแบบ จะต้องนำเป้าหมายการออกแบบสินค้าเข้าไปอยู่ในแผนงานบริษัทเลย การบอกว่าสินค้าต้อง 100% รีไซเคิลในแพคเกจจิ้ง สมมติภายใน 3-5 ปี จะต้องนำแผนตรงนี้ไปใส่ไว้ในแผนธุรกิจเลย ทำให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันว่า อีก 5 ปีการพัฒนาสินค้าต้องเป็นแบบนี้ เขาจะมี Purpose เดียวกันว่าจะต้องไปแบบนี้ไม่ใช่งานฝาก หรือมีเวลาว่างก็ทำแล้ว ต้องเข้าไปอยู่ในแผนโมเดลธุรกิจเลย ไม่ใช่PR.ปีต่อปี
ทั้งนี้ เอสซีจีได้มีการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่มีจุดยืนเดียวกันในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าผ่านการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในปีที่ผ่านมามีทั้งหมด 45 ราย และปีนี้เพิ่มเป็น 180 ราย กลายเป็นพลังความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า หลังจากได้มีการระดมความเห็นเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ และประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ความเสี่ยงขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจาก COVID-19 เอสซีจีและพันธมิตรทั้ง 180 รายมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้านที่เป็นพื้นฐานความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศและของโลก คือ
1. สร้างระบบน้ำหมุนเวียน เตรียมความพร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า โดยสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองเรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่นจากพิษเศรษฐกิจ COVID-19 และเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับที่ภาคเอกชนดำเนินการ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด
2. ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2022 (พ.ศ.2565) เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน เสริมสร้างรายได้ที่มั่นคง
3. การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มีโรดแมป มีเป้าหมายชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน (Plastic Waste Management System Roadmap) รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้า รีไซเคิล และให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก รวมถึงมีการจัดซื้อสีเขียว ทำฉลากแบบรีไซเคิล หรือฉลากเบอร์5
4.เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด ลด Waste ตั้งแต่จุดตั้งต้น หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี
“เราต้องขอบคุณพันธมิตรทั้ง 180 รายที่เข้ามาร่วมกันระดมความเห็นต่างๆ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ใน 4 หัวข้อ ถ้าปราศจากผู้ที่รู้จริง เราคงไม่ได้แนวทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนดังกล่าว”
อย่างไรก็ดี สำหรับ เอสซีจี ได้มีการตั้งเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Emergency มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) เพื่อสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)
นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ ไว้ดังนี้
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มการรีไซเคิล ได้มากขึ้น เช่น Mono-materials การพัฒนาเทคโนโลยีที่รีไซเคิล ขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งเสริมการคัดแยก และรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผ่านชุมชน ไร้ขยะ และการจัดทำธนาคารขยะ โดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการผ่านแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “แอปคุ้มค่า” เป็นธนาคารขยะ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วใน 120 ชุมชน มีปริมาณขยะเข้าสู่ระบบหลายพันตัน
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล สินค้าสำเร็จรูปที่ลด waste ในกระบวนการติดตั้ง สินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานหรือนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังแสงอาทิตย์ มุ่งไปสู่ ‘Green Living and Green Society’ รวมถึงการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ‘Turn Waste to Wealth’ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม
รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นเอสซีจีจึงมีแผนที่จะขยายความร่วมมือต่อไป ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าของสินค้าต่างๆ ตลอดจนชุมชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เอสซีจีเข้าไปลงทุน
คลิกชมงาน SD SYMPOSIUM 2020 ย้อนหลังได้ที่: https://bit.ly/2IsJ7OP
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://bit.ly/3ncdU0X
Circular Economy : Actions for Sustainable Future
#SCG #SDSYMPOSIUM2020 #ร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน #SCGCircularWay