6 กันยายน 2562…ในงานอีเวนท์แต่ละงาน สิ่งที่เราเห็นเหมือนกันคือ Backdrop ของงาน เมื่อจัดงานเสร็จแล้วก็รื้อและนำไปทิ้งนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่งาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ของเอสซีจี ได้เปลี่ยนจากความเคยชินเข้าสู่ Circular Economy ด้วยแนวคิดว่าศิลปะสามารถเกิดจากการ Reuse และ Recycle ได้
ความเคยชินตั้งแต่ Backdrop ยังเป็นชิ้นงานโฟมในอดีต เปลี่ยนมาเป็นกระดาษหรือวัสดุอื่นซึ่งเป็นการสร้างขยะจำนวนมาก ต่อเมื่อมีงานอีเวนท์ใหม่ขึ้นมา ก็ทำ Backdrop ใหม่อีกครั้งแล้วลงสู่ถังขยะในตอนท้ายเช่นเดิม
ทำอย่างไรจะ “ลดขยะ” ในการจัดงานอีเวนท์ได้บ้าง? นั่นคือสิ่งที่สอดคล้องกับงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ซึ่งมีแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นแกนหลัก
คำถามข้างต้นก็เกิดขึ้นกับ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ หรือเอ๋ ศิลปินที่ทำงานศิลปะจากของเหลือใช้ เมื่อนึกถึง Backdrop ในงานอีเวนท์
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต และการบริโภคแบบเส้นตรง (Linear Economy) หรือ นำมา-ผลิต-ทิ้งไป (Take-Make-Dispose) ก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดความกังวลว่าทรัพยากรจะหมดไป
ส่วนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางที่เปลี่ยนกระบวนการของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต เพราะผู้ผลิตจะต้องมีความคิดสร้างสรรรค์ มีนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสีย ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสมในรูปแบบ ผลิต-ใช้-วนกลับ (Make-Use-Return)
“เรามองไปถึงการใช้ของที่มีอยู่แล้วดีไหม ในการนำมาทำเพื่อเป็นชิ้นงาน จึงมีไอเดียว่า เราจะเอาขยะมาทำเป็น Backdrop คือ Key Visual ของงาน”
วิชชุลดา ขยายความถึงขั้นตอนการทำงานว่า จะเริ่มจากไปดูโรงเก็บขยะจากชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี และภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ (บางซื่อ) ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยเป็นขยะสะอาด ซึ่งมีทั้งลังกระดาษ พลาสติก กระป๋องน้ำอัดลมที่ดื่มแล้ว ฯลฯ โดยวัสดุที่เลือกเป็นหลัก ประกอบด้วย
1.กระป๋องน้ำอัดลม รวมประมาณ 70%
2.แกนกระดาษทิชชูในห้องน้ำ ประมาณ 20%
3.ขวดพลาสติก PET
4.หลอดพลาสติก
5.ฝาขวดพลาสติก
6.แก้วพลาสติก
7.แห, อวนพลาสติก
เมื่อเลือกวัสดุที่สะอาดมาระดับหนึ่ง ถึงเวลาหน้างานก็ต้องแยกขยะ นำไปทำความสะอาดอีกครั้ง โดยกระป๋องน้ำอัดลมนั้นทำความสะอาดยากที่สุด ความสนุกเกิดขึ้นในการจัดการอย่างระมัดระวัง เมื่อเห็นลูกหนูเล็กๆ ตัวเป็นๆ 6 ตัวในกระป๋องน้ำอัดลม แต่ไม่มีแม่หนู!
“สไตล์การทำงานของเอ๋จะเลือกวัสดุก่อน เพราะในแง่งานศิลปะ สวยดี อย่างตัวกระป๋องเราชอบ Texture ของมัน เวลาบุบลงไปจะสะท้อนแสงได้ดี เหมือนกับสีเงิน ๆ เวลาถูกแสง จะวิบ ๆ วับ ๆ เอ๋มองว่าตรงนี้น่านำมาเป็นลูกเล่นอะไรบางอย่างได้ หากใช้วัสดุอื่น ๆ อาจจะไม่วิบวับเท่า ส่วนขวดพลาสติก PET มีความลึก ความหนาของขวดเวลาเขาขึ้นรูปขึ้นมา เอ๋ว่ามันเป็นเสน่ห์ เวลาถูกแสงไฟจะสะท้อนออกมาเป็นแสงหักเห มีความสวยงาม เมื่อถึงเวลาลงมือทำงานก็เป็นการ Improvised หน้างาน”
วิชชุลดาเล่าต่อเนื่องถึงกระบวนการทำงาน Backdrop ซึ่งเป็น Key Visual ของงาน เป็นภาพลักษณ์ของงาน ดังนั้นจะต้องให้คนเห็นแล้วปัง!
กระป๋องน้ำอัดลมมีสีสันสวยงาม เห็นแล้วสะดุดตา โดยไม่ต้องพ่นสีหรือทำอะไรเกี่ยวกับสีเลย เมื่อนำกระป๋องที่ถูกตีให้แบนมากแบนน้อย มาวางติดกันมากๆ ในพื้นที่ด้านหลัง ซึ่งกระป๋องที่ถูกตีไม่แบนมาก จะช่วยให้เกิดการหักเหของแสง
ในขณะที่ขวดพลาสติก ทำเป็นพุ่ม ๆ แล้วค่อยนำไปติดโดยการเจาะเป็นรู ใช้ลวดผูกติดกับโครงไม้ด้านหลัง เช่นเดียวกับทุกวัสดุที่ใช้ ส่วนลูกศรหมุนเวียนที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน ก็ใช้ฝาขวดพลาสติก วางเรียงติด ๆ กัน โดยให้สีของฝาขวตัดกันเอง
เมื่อดูภาพรวมของงานเสร็จแล้ว ก็ใส่ไฟสีแดง เพราะในมุมความเป็นศิลปะ สีที่เป็นคู่ตรงข้ามสีฟ้าและสีเขียวก็คือสีแดง ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างโดดเด่นขึ้นมา นอกจากนี้สีแดงยังสื่อถึงสีหลักของเอสซีจี
ส่วนหลอดดูดที่ใช้ตกแต่งโพเดียมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้กล่าวปิดงานนั้น มาจากโจทย์ที่ต้องการตกแต่งโพเดียมจากลังกระดาษให้สวยงาม วิชชุลดาเลือกใช้หลอดดูดหลากหลายสี ตัดเป็นชิ้น ๆ ติดลงไป เช่นเดียวกับฝาขวดพลาสติกจะติดอยู่อีกด้านของโพเดียม
ทั้งนี้หลอดดูดเหล่านี้มีทั้งจากถังขยะ และหลอดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ในมุมมองของวิชชุลดาก็ถือว่าสิ่งนี้ก็เป็นขยะ ดังนั้นขยะจึงไม่จำกัดเพียงว่าของที่ใช้ หรือกิน แล้วทิ้ง เท่านั้น
Signature งานศิลปะของวิชชุลดาคือสีโทนร้อน ก็ใส่ลายเส้น ไฟสีแดง ก็จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงในชิ้นงาน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากสีในโทนของ Circular Economy หรือมุมของการรักษ์โลก ที่ปกติมักจะใช้สีเอิร์ธโทน น้ำตาล เขียว แต่วิชชุลดาต้องการพลิกมุมคิดว่า “ความรักษ์โลกสนุกได้นะ” แม้แต่แกนกระดาษสีน้ำตาลที่ใส่เข้าไปก็สนุกได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พ่นสีเลย สาเหตุที่สนุกได้เพราะเกิดจากการจับคู่สีกันดังที่กล่าวข้างต้น
“สิ่งที่เอ๋ตั้งใจสื่อสารในโจทย์ครั้งนี้คือให้คนตระหนักว่าฉันจะไม่ทิ้งขยะอีก และเอ๋ต้องการให้คนที่เห็นเกิดความรู้สึกว่า ของที่เราใช้ไปสามารถนำกลับมาเพิ่มมูลค่าได้ โดยเฉพาะองค์กรที่จะมีอีเวนท์บ่อย ๆ เมื่อเห็นงานชิ้นนี้เชื่อว่าจะฉุกคิดได้ว่า ฉันไม่ต้องทำของใหม่ก็ได้นะ ของที่มีอยู่แล้วนำมาสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะทุกอย่างสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ทั้งหมด เพียงใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป”
หลังจากจบงาน ย่อมต้องมีคำถามต่อว่า Backdrop และโพเดียมจะไปไหนต่อ ?
คำตอบคือตอนนี้ Backdrop ถูกนำกลับมาตั้งที่อาคาร 100 ปีเอสซีจี ที่เอสซีจีสำนักงานใหญ่ (บางซื่อ) พร้อมที่จะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกครั้งที่มีการจัดงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
“ทั้งหมดนี้เอ๋อยากให้มองว่าคืองานศิลปะ สามารถเก็บรักษา โดยการปัดฝุ่นเก็บธรรมดา ล้างน้ำได้เลย หากตั้งอยู่ในตัวอาคาร แต่ถ้าเบื่อ ไม่ใช้แล้ว ทำอย่างไร ก็ถอดออกเป็นชิ้น แกะลวดดึงของออก ซึ่งของทุกชิ้นไม่ได้พ่นสีเพราะจะทำให้รีไซเคิลยากหรือไม่ได้เลย นั่นหมายถึงว่า ของทุกชิ้นที่เห็นอยู่บน Backdrop และโพเดียม เมื่อแกะออกมาแล้ว สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ทั้งหมด หรืออาจจะแกะออกมาแล้วนำไปทำเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมาก็ได้เช่นกัน เป็นการรียูส จะได้ลดการใช้ของใหม่ ซึ่ง Backdrop ถอดประกอบได้ 8 ชิ้น เป็นระบบน๊อคดาวน์”
เมื่อขยะไม่มีวันหมดไปจากโลก ตราบใดที่ยังมีมนุษย์บนโลก ดังนั้นเราจะจัดการขยะได้อย่างไร นั่นคือการนำขยะกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อแท้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ขยะ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค เราจะทำอย่างไรไม่ให้ขยะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราจะต้องคิดว่าขยะที่เกิดแล้ว เราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง
“เอ๋ไม่ใช่นักสร้างนวัตกรรม แต่เป็นศิลปิน สามารถเปลี่ยนขยะแต่ละอย่างให้มีความสนุกและสร้างสรรค์ได้เรื่อย ๆ ศิลปินทำงานเรื่องนี้เพื่อให้คนฉุกคิดได้ และไปพัฒนาต่อว่าจะทำอะไรได้ต่อปัญหานี้ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนคือส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญมาก เพราะคนมากก็ใช้ทรัพยากรมากขึ้น และทรัพยากรกำลังจะหมดไป เราต้องใช้เท่าที่จำเป็น และให้คุ้มค่า นั่นคือการนำเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์”
เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกันได้นำไปปรับใช้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง เช่นเดียวกับงานศิลปะทั้ง 2 ชิ้นในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง