30 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2562…เชื่อไหมว่าปัญหาขยะทะเลที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดมาจากขยะที่อยู่ใกล้ทะเลอย่างเดียว แต่ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้องต่างหาก และประเทศไทยก็มีขยะในทะเลเป็นอันดับที่ 10 ของโลก
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบนบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล แน่นอนว่าในเมื่อปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมจับมือกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกันอย่างเหนียวแน่น
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชุมชนรัชดาเป็นพื้นที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากต้นทาง โดยเริ่มตั้งแต่วิธีคิดและพฤติกรรม ไม่ทำให้เกิดของเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่คนไทย ที่จะไม่มีอะไรกลายเป็นขยะ
โดยความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการรวมพลังของ 14 องค์กรย่านรัชดา 12 ธุรกิจเพื่อสังคม และบริษัทพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างปรากฏการณ์คนเมืองรูปแบบใหม่ ลดภาวะโลกร้อน ด้วยแนวคิด กำจัดคำว่า “ขยะ” ให้หายไป ร่วมหาทางใช้.. ให้ถึงที่สุด ผ่านโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ไม่มีคำว่า “ขยะ” อยู่ในไลฟสไตล์
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ บ้านเลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก ร่วมกับบริษัท ศูนย์การค้า ที่พักอาศัย ย่านรัชดา และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ Care the Whale: Climate Action Collaboration @Ratchada District ปฏิรูปกระบวนการจัดการขยะด้วยแนวคิด “ขยะล่องหน” โดยเริ่มต้นที่ “ตัวเรา” ทุกคน ร่วมรณรงค์คิดใหม่ให้ไม่มีคำว่า “ขยะ” อยู่ในไลฟสไตล์ สร้างวิธีคิด และพฤติกรรมที่คำนึงถึงส่วนรวม เพื่อให้ชุมชนรัชดาเป็นพื้นที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมสมดุล และเชื่อมต่อการแปรรูปของเหลือใช้ให้ไปสู่ของใช้ใหม่ ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“ความร่วมมือที่เริ่มต้นจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดาภิเษก นำร่องโดย 14 องค์กร บนพื้นที่ร่วม 600,000 ตารางเมตร มีพนักงานจาก 14 องค์กรที่อยู่ในพื้นที่กว่า 30,000 คน ร่วมสร้างย่านน่าอยู่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำให้ขยะล่องหน การจัดการของเสียอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คนในย่านจะเป็นต้นแบบ เป็นพลังหลักในการขยายแนวคิดนี้ไปยังผู้มาเยือนย่านรัชดา ซึ่งในแต่ละเดือนมีมากถึง 1.3 ล้านคน โดยมีวาฬ (Whale) เป็นตัวแทนของระบบนิเวศน์ที่รอให้มนุษย์เข้ามาแก้ไขและสร้างความสมดุล”
ในทางปฏิบัติ “Care the Whale ขยะล่องหน” ได้มีการสร้างเครื่องมือกลาง Care the Whale Calculator ช่วยในการคำนวณ-ทบทวน-ประมวล ผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดขยะต้นทาง เพื่อให้มองเห็นผลลัพธ์ ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในการออกแบบแผนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ ลดการใช้ ลดการเกิดขยะ
สำหรับการนำขยะไปแปรรูปหรือนำมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรนอกย่าน ที่มีศักยภาพในการแปรรูปและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อยอด การเป็นย่านน่าอยู่ครบทุกมิติในอนาคต ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งด้านความรู้ทางการเงิน และการท่องเที่ยวในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน
พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเพิ่งย้ายบ้านใหม่ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 93 ในย่านถนนรัชดาเมื่อปี 2559 ก็ตาม แต่ก็มีการดำเนินงานภายใต้ Green and Sustainable ซึ่งเป็นวิถีที่อยู่ในดีเอ็นเอของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
โดยเริ่มจากขยะ ทุกครั้งของการทิ้งลงถัง นอกจากจะมีการแยกประเภทขยะแล้วยังวิเคราะห์และวางแผนว่าจะแยกขยะอย่างไรเพื่อให้เป็น Zero Waste to Landfill อย่างแท้จริง
“เราเดินหน้าการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายการเป็น Sustainable SET และต้องการเป็น Zero Waste to Landfill และเราก็ทำได้แล้วด้วยแรงใจของผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน มากไปกว่านั้นเราพร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์ที่เราเดินมา 3 ปีให้กับเพื่อนบ้านของเราในย่านธุรกิจนี้ โดยโครงการ Care the Whale ทุกบ้านจะได้เครื่องคำนวณไปวัด เพื่อที่เราจะได้วางแผน ให้ขยะล่องหนได้จริง ๆ และนำไปสู่เป้าหมาย Zero Waste to Landfill ที่ทุกครัวเรือนตั้งใจจะไปถึงให้ได้”
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เสริมว่า ความตั้งใจของโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” สามารถยกสถานะให้เป็น Care the World ได้เลย เพราะจุดประสงค์งที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ คือการแคร์อนาคตทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานของเราทุกคน
“เราทำงานวันนี้เพื่อดูแลลูกหลานเราในอนาคต ซึ่งเราต้องหยุดยืมทรัพยากรในอนาคตมาใช้มากไปกว่านี้ ดังนั้นโครงการ Care the Whale ขยะล่องหน จึงถือเป็นทิศทางที่ดีที่ทำให้เราเห็นความร่วมมือร่วมใจกันจัดการปัญหาขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต”
มิติใหม่ของการรวมพลังย่านรัชดา
เราเห็นองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันทางธุรกิจมานักต่อนักแล้ว โครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับย่านธุรกิจอื่นๆ หลังเห็นย่านรัชดาเป็นชุมชนต้นแบบ และนี่คือส่วนหนึ่งขององค์กรในย่านรัชดาที่เข้าร่วมโครงการ
ณัฏฐิณี เนตรอำไพ Head External Affairs & Media Behavior บริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย จำกัด
“สิ่งที่ยูนิลิเวอร์กำลังทำอยู่ในวันนี้ และตรงกับวิสัยทัศน์ของ Uniliver Global คือเราเชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตไม่ได้ หากโลกของเราป่วย และตอนนี้โลกเราป่วยอยู่ เราต้องร่วมมือร่วมใจรักษาโลกของเรา และการที่ยูนิลิเวอร์มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก เราได้ตั้งเป้าที่จะให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้น Recycle ได้ สามารถใช้ซ้ำและเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า”
“แต่การที่เราทำภายนอกแล้ว เราต้องทำที่ภายในองค์กรเราให้เข้มแข็งด้วย เริ่มต้นในสิ่งที่ใกล้ตัวด้วยการแยกขยะ โดยที่อาคารสำนักงานจะมีกฎไม่อนุญาตให้พนักงานถือขวดพลาสติกขึ้นตึก แต่เราจะมีที่กดน้ำดื่มให้ ทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานใช้จานกระเบื้องในโรงอาหาร ส่วนขยะอาหารที่เหลือจะนำไปทำปุ๋ยหมัก และทุกสิ่งเหลือใช้ในออฟฟิศที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม”
พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทย ประกันชีวิต จำกัด
“ตามนโยบายของกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของเมืองไทยประกันชีวิต มีความคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งเราทำในหลายๆ ด้าน ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับกรมประมง กรมป่าไม้ รวมถึงปัญหาเรื่องขยะ ซึ่งพนักงานที่นี่จุถูกปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในดีเอ็นเอ ทำให้พนักงานในระดับต่างๆ ส่งไอเดียการบริหารจัดการปัญหาขยะขึ้นมา”
“ในการแยกขยะ ทุกชั้นจะมีถังแยกขยะ แล้วแม่บ้านจะคัดแยกแยกต่อว่าส่วนไหนนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนขยะอันตรายเราจับมือกับสำนักสิ่งแวดล้อม เขตห้วยขวาง ขยะอิเล็คโทรนิกส์ เราจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดส่งขยะไปกำจัดอย่างเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรายได้จากการขายขยะส่วนหนึ่งแบ่งให้แม่บ้าน และส่วนหนึ่งถูกนำไปบริจาคให้มูลนิธิเมืองไทยยิ้ม เพื่อไปทำสาธารณกุศล ในส่วนของขวดน้ำดื่ม ท่านกรรมการผู้จัดการเป็นคนให้ไอเดียในการเปลี่ยนขวดน้ำให้มีขนาดเล็กลงแต่เพียงพอต่อการดื่ม เมื่อดื่มเสร็จแล้ว ขวดเหล่านี้ก็จะนำไป Upcycling ซึ่งเราได้ร่วมมือกับ GC นำขวดน้ำพลาสติกมาผ่านกระบวนการเป็นเสื้อกีฬาในการวิ่งเมืองไทยมาราธอน สะพานพระราม 8 ที่ผ่านมาได้จำนวนหลายพันตัว”
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ Chief Innovation & Sustainability Officer บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“ธุรกิจเราเป็นเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นขยะบางส่วนก็จะเป็นอิเลคทรอนิส์ แต่ในองค์กรเรามีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ในเวลาเดียวกันเราก็มีการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานของทรู อินคิวบ์ ที่เข้าไปลงทุนให้กับสตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อม”
“ผมคิดว่า โครงการนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญ และจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย หลายองค์กร หากไปดูเป้าหมาย SDGs Goal ซึ่งเป้าหมาย 17 เป็นเรื่องพาร์ทเนอร์ชิพ วันนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ว่า พาร์ทเนอร์ชิพเป็นสิ่งที่สร้างอิมแพคจริงๆ”
นับเป็นการร่วมสร้างปรากฏการณ์คนเมืองรูปแบบใหม่ ลดภาวะโลกร้อน ด้วยแนวคิด กำจัดคำว่า “ขยะ” ให้หายไป ร่วมหาทางใช้.. ให้ถึงที่สุด ผ่านโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรัชดาเป็นพื้นที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากต้นทาง โดยเริ่มตั้งแต่วิธีคิดและพฤติกรรม ไม่ทำให้เกิดของเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่คนไทย ที่จะไม่มีอะไรกลายเป็นขยะ