22 พฤศจิกายน 2562…ต้องยอมรับว่า เอสซีจี เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีพัฒนาการด้าน Upcycling อย่างต่อเนื่องตามแนวทาง SCG Circular Way ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
หลังจากแนวความคิด Circular Economy เกิดขึ้นมา วันนี้เราเริ่มเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างมากขึ้น จากการที่หลายองค์กรร่วมกันคิดค้นวิธีการ Upcycling ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการใช้งานใหม่มากมาย
ที่ผ่านมา เอสซีจี จับมือกับหลายหน่วยงานเพื่อคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ และส่งต่อแนวคิด Circular Economy ไปกับหลายองค์กร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นตามแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นับเป็นการยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งสิ้น
แต่หัวใจหลักที่จะทำให้เกิดสินค้าใหม่ที่มีประโยชน์นั้นต้องอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์” จึงกลายเป็นที่มาของโครงการดีๆ จาก SCG Experience ศูนย์รวมนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยและบริการพร้อมโซลูชั่น เปิดเวทีการประกวด “Upcycling Design Contest : Upcycling Think from Waste” ชวนคนรักษ์โลก และรักงานออกแบบมาโชว์ไอเดียเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี กล่าวว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เอสซีจีจึงต้องการผลักดันให้แนวทางดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากขึ้น และกระตุ้นให้ภาคีต่าง ๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อลดผลกระทบต่อโลกของเราให้มากที่สุด
เพื่อตอกย้ำ SCG Circular Way เอสซีจีจึงได้คิดโครงการประกวด Upcycling Design Contest by SCG Experience ขึ้นมา โดยเงื่อนไขการประกวดครั้งนี้ เปิดโอกาสให้คนรักษ์โลกที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ในโจทย์ “Upcycling Think from Waste” โชว์ไอเดียสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ โดยออกแบบผลงานจากวัสดุเหลือใช้ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงาน ตลอดจนสินค้าปลายทางที่ผู้บริโภคใช้จาก 3 กลุ่มธุรกิจในเครือเอสซีจี
–กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น วัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้าง, เศษกระเบื้อง, ก้อนอิฐ
-กลุ่มธุรกิจกระดาษ เช่น เศษกระดาษจากการผลิต, กล่องกระดาษลังที่ใช้บรรจุของแล้ว
-กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีคอลล์ เช่น ท่อที่เหลือใช้, รั้ว, ระแนงต่างๆ

กิจกรรมในงานมีทั้งการเวิร์คช้อปทำโคมไฟ จากกระดาษ ทำกระเป๋าสตางค์จากถุงปูน ทำรองเท้าแตะจากรองเท้าแตะที่อยู่ในทะเล และการจำหน่ายสินค้าหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก
“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เราจัดงานประกวด โดยเราเลือก SCG Experience เป็นพื้นที่จัดงาน เพราะเราคิดว่า SCG Experience อยู่ในพื้นที่ที่คนมาใช้บริการกันมาก เป็นสถานที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะกับการนำเสนองานที่เน้นการสร้างคุณค่าเพิ่ม และยังเหมาะแก่การจัดเวิร์คช้อปเพื่อให้นิสิตนักศึกษาหรือบุคคลที่สนใจเรื่องนี้ ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้วัสดุเหลือใช้จาก 3 กลุ่มธุรกิจ ในการออกแบบให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เหลือใช้ โดยเราจะมีเกณฑ์พิจารณาในการตัดสินที่วัดจากไอเดียความคิดสร้างสรรค์ 30 คะแนน วัสดุเอสซีจี 30 คะแนน และการนำไปต่อยอดหรือใช้ได้จริงอีก 40 คะแนน”
นี่ก็คือโฉมหน้าของผู้ชนะรางวัล Upcycling Design Contest
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ หมวกกันแดดรีไซเคิล จากกฤษฎา นุตวงษ์

จากกระสอบปูนเหลือใช้เป็นจำนวนมากในชุนชนบ้านช่างหล่อ ใส่ไอเดียการออกแบบตัดเย็บเป็นคอลเล็กชั่นหมวกกันแดดและกระเป๋าหลากหลายสไตล์ที่เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงเป็นการต่อยอดสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย
กฤษฎาเล่าถึงความท้าทายของงานนี้ : อยู่ที่การตีโจทย์ให้แตกว่า เราจะสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับของที่ไม่มีค่าได้อย่างไร โดยที่ไม่หลงเหลือ Waste ผมจึงออกแบบสินค้าให้สามารถนำเศษวัสดุมาใช้ให้หมดตั้งแต่กระบวนการแรกถึงกระบวนการสุดท้าย อย่างการเอาถุงมาตัดหมวก เศษที่เหลือก็ไม่ทิ้ง เอามาทำแทนนุ่นให้ผู้ป่วยติดเตียง ในเวลาเดียวกันก็ต้องแฝงความสร้างสรรค์ไว้ในตัวผลงาน โดยผมนำเรื่องเซกเมนต์เตชั่นมาช่วยดีไซน์ เช่น กระเป๋าก็ต้องเจาะกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน โดยวางแผนเรื่องการตลาด ให้กลุ่มที่ยังไม่เป็นลูกค้าเรา 60% ให้มาเป็นลูกค้าเราด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ Elements จากชยากร พุ่มจุมพล และสารัช คุณะเพิ่มศิริ

ไอเดียการนำเอาเศษท่อประปาและเศษระแนงไม้สังเคราะห์ที่เป็นวัสดุเหลือใช้ในโครงการก่อสร้าง ผสานความคิดสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบอุปกรณ์บนโต๊ะทำงาน โดยนำเสนอผ่านรูปทรงของผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับการใช้งาน
ชยากร+สารัช ขยายความเพิ่ม : เราพยายามเลือกวัสดุที่มีการบริหารจัดการง่ายที่สุด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดในการผลิตน้อยที่สุด และมีความเป็นไปได้มากสุดในการออกแบบผลิตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจต่อไป เราจึงพยายามใช้เศษวัสดุให้หลากหลายมากที่สุด มาจากเศษท่อคนละแบบเพื่อครอบคลุมความชอบของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยสอดแทรก Story ของ Upcycling เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Sack Straps จากอิสราฤทธิ์ ศรีโท

การออกแบบสายนาฬิกาข้อมือจากถุงปูนที่นำลวดลายของถุงปูนที่มีความแตกต่างกันมาสร้างเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาแต่ละเรือน พร้อมทั้งต่อยอดไอเดียนำไปสู่คอลเล็กชั่นนาฬิกาสุดชิคหลากหลายสไตล์ในอนาคต
อิสราฤทธิ์ เล่าถึงความยากของงาน : ส่วนที่ยากคือการทำสายนาฬิกา ถุงปูนที่นำมาใช้มีความบาง เพราะวัสดุการทำถุงปูนจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะต้องบางแล้วเขาผสมพลาสติกเลย ส่วนของประเทศไทยจะแยกเป็นเลเยอร์ ดังนั้นการพับจะต้องพับเก็บให้เรียบเพื่อทำเป็นสายนาฬิกา บางชิ้นก็เปียกเลย ส่งผลให้ตอนเจาะรู อากาศเข้าไปง่าย
รางวัล Popular Vote จากการโหวตผ่านเฟสบุ๊คเพจ SCG Experience ได้แก่ Value Clock จากอริษรา บุตรโคตร

จากการนำเศษกระเบื้องปูพื้นสู่การออกแบบเป็นนาฬิกาแขวนผนังที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุ ที่ใส่ไอเดียงานดีไซน์สไลต์ minimal ได้อย่างลงตัว
อริษราบอกเล่าถึงความพยายาม : เราพยายามปรับขนาดนาฬิกา และปรับลวดลายให้เหมาะกับดีไซน์ของบ้านแต่ละแบบให้มากขึ้น แต่ยังมีการปรับน้ำหนักของวัสดุที่เรานำมาใช้อย่างกระเบื้องและปูนซึ่งมีน้ำหนัก ให้เกิดความเบามากขึ้น โดยใช้วิธีหล่อให้บางลงเรื่อย ๆ จนเป็นนาฬิกาที่มีน้ำหนักเบาลงประมาณหนึ่งกิโลกรัม
ศักดิ์ชัย กล่าวถึงแต่ละรางวัล เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่างกัน แต่ต้องอาศัยการต่อยอดการผลิตต่อไป

“ผู้ชนะเลิศมีจุดเด่นตรงที่สินค้ามีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำไปผลิตสร้างเป็นรายได้เสริม ส่วนรางวัลที่ 2 แม้ว่ายังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องกลุ่มลูกค้าและการผลิตในระดับแมส แต่แสดงให้เห็นว่าผ่านการทำการบ้านอย่างหนักในการนำวัสดุที่จะใช้มาทำ ในขณะที่รางวัลที่ 3 ยังไม่ถือว่า Upcycling แบบ 100% เพราะตัวเรือนยังซื้อมา แต่สำหรับสายนาฬิกานั้นสามารถนำมาต่อยอดกับแคมเปญกระเป๋าเอสซีจีได้”
ศักดิ์ชัย กล่าวในท้ายที่สุดถึงภาพรวม Upcycling Design Contest ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นต่อมไอเดียความคิดสร้างสรรค์ บนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นต่อไปให้คำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างรู้คุณค่ามากที่สุด ไม่ทิ้งวัสดุเหล่านี้ลงถังขยะอย่างเดียว