CIRCULAR ECONOMY

World Without Waste ของโค้ก ขอคืน X พฤติกรรมแยกขยะสร้างได้

19-20 ตุลาคม 2562…การรุกประเด็นโลก Packaging Goal ของ โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) สร้าง Impact กับ 2 บจ.ใน ตลท.ถึงผู้บริโภคตรง ๆ เพื่อส่งเสริมการคัดแยกและจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลเพื่อลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) สร้าง Awarness ในเรื่อง “การคัดแยกขยะ” ในวงกว้างประเดิมผ่าน

1.บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

การจับมือกันเกิด โครงการ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะดำเนินการผ่านผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ด้วยการนำขยะที่เกิดจากร้านอาหารในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กลับมารีไซเคิล

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย นำโดย พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด (ที่ 5 จากขวา) พลตรีพัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) (ที่ 4 จากขวา) มร.คาร์ลอส ดิแอซ-ริกบี้ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทยและลาว (ที่ 3 จากขวา) จับมือ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดย พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร (ที่ 5 จากซ้าย) และพันธมิตร อันได้แก่ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) โดย วรวัฒน์ บูรณากาญจน์ ผู้แทนกรรมการผู้จัดการ (ซ้ายสุด) บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด โดย สัมพันธ์ ลู่วีระพันธ์ กรรมการผู้จัดการ (ขวาสุด) บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด โดย สาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ (ที่ 2 จากขวา) บริษัท เวสท์ทีเรียล จำกัด โดย จิรภัทร ยิบยินธรรม รองกรรมการผู้จัดการ (ที่ 3 จากซ้าย) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) โดยมร.ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล (ที่ 2 จากซ้าย) และ มยุรี อรุณวรานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทจีอีพีพี สะอาด จำกัด (ที่ 4 จากซ้าย) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ส่งเสริมการแยกวัสดุรีไซเคิลเพื่อลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างคุณค่าร่วมผ่านธุรกิจรีไซเคิลสมัยใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลกล่าวว่า จะปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ และพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เหมาะสม เช่น การบริหารจัดเก็บและจัดการพื้นที่ในการแยกขยะ โดยใช้ระบบของโค้กกับพันธมิตร ทดลองสร้างระบบการจัดเก็บวัสดุบรรจุภัณฑ์ชนิดที่ไม่เก็บคืน อันได้แก่ ขวดพลาสติก PET กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้วชนิดไม่คืนขวด และกล่องเครื่องดื่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแยกขยะอย่างเป็นระบบ

การทำงานตามระบบดังกล่าว โคคา-โคล่า ได้จับมือกับสตาร์ตอัพเจ้าของแพลตฟอร์มการจัดเก็บขยะสมัยใหม่อย่าง GEPP ให้เข้ามาช่วยวางระบบ และทำงานร่วมกับทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล เพื่อส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และจัดส่งบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทผู้รับรีไซเคิลโดยตรง อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่และลดปริมาณขยะทั้งหมดในภาพรวมตามโครงการ Journey to Zero ของทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ แต่โครงสร้างและระบบของไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่ง GEPP จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ โดยได้เริ่มจัดการฝึกอบรมให้พนักงานของเซ็นทรัล พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยการช่วยออกแบบพื้นที่ในการแยกขยะในร้านอาหาร การจัดตารางเวลาเพื่อเข้าไปทำการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลถึงที่ นอกจากนี้ ยังรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บและซื้อขายทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล ตลอดจนวางแผนในการพัฒนาและขยายโครงการอย่างเป็นระบบร่วมกับโคคา-โคล่าและเซ็นทรัลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากโครงการนำร่องดำเนินไปได้ด้วยดี ก็มีเป้าหมายที่จะร่วมกับโคคา-โคล่าที่ในการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่มีศูนย์การค้ากลุ่มเซ็นทรัลตั้งอยู่ทั้งหมด

เมื่อเกิดรายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล กลุ่มเซ็นทรัลก็มีแผนในการวางแนวทางที่จะมอบกลับคืนให้กับทุกภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยในการจัดเก็บและคัดแยกขยะด้วย

2.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

เพราะ โคคา-โคล่า เชื่อว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาการไม่แยกขยะเป็นปัญหาพฤติกรรมของคน หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้ ปริมาณขยะในภาพรวมก็จะลดลง วัสดุที่รีไซเคิลได้ก็จะถูกนำกลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ฉะนั้น จึงริเริ่มนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่กำลังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า สามารถมีส่วนช่วยปรับพฤติกรรมของคน เพื่อแก้ปัญหาสังคมและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้ในบริบทแบบไทย ๆ จึงเป็นการทำงานร่วมกับอีก 2 ภาคส่วน ทดลองเพื่อศึกษาและสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในครัวเรือน โดยใช้เทคนิคการ “สะกิด” (Nudge) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกัน ของ Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein

เทคนิคนี้ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องของนิสัยและความเคยชินมากกว่าความคิดเชิงเหตุผล และนำความเข้าใจนั้นมา สร้างมาตรการจูงใจแบบง่าย ๆ แต่มีประสิทธิผลในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้คือการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะที่ต้นทาง

นันทิวัต ธรรมหทัย (ตำแหน่งนั่ง ขวาสุด) ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, จริยา จันทร์เจิดศักดิ์ (กลาง) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเผยผลการทดลองการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในกลุ่มผู้อยู่อาศัยใน T77 Community

การทดลองทฤษฎีการสะกิดครั้งนี้ ดำเนินการครอบคลุม แสนสิริ คอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562) พบว่า ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์เพื่อการแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ ความ “ยุ่ง” คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ “ยาก” จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงส่งผลให้คนไม่แยกขยะ

การแก้ปัญหา ‘ยุ่ง’ หรือความขี้เกียจในการแยกขยะนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา ‘ยาก’ หรือความไม่เข้าใจ เราจึงควรกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนความขี้เกียจให้มาเป็นนิสัย โดยอาศัยกลไกทางสังคม ทำให้เห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะโดยเฉพาะคนในชุมชนเดียวกัน อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแยกขยะที่ได้จากผลการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนี้ ประกอบไปด้วย การจัดหาถังขยะให้สอดคล้องกับประเภทขยะ การออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับระบบความคิดของคน รวมถึงการสื่อสารโดยใช้รูปภาพอธิบายที่ไม่ซับซ้อน และมีข้อความสั้น ๆ กำกับ ร่วมกับการแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ในการแยกขยะด้วยการสอดไว้ตามห้อง หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ขยะ” โดยอาจใช้คำว่า เศษอาหาร หรือ รีไซเคิลแทน เป็นต้น

การสร้าง Impact ของโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) นี้ เกิดจากวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ที่มีเป้าหมายในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 % ก่อน พ.ศ.2573

ดังนั้น ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง เนื่องด้วยการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทย* พบว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกใส (PET) และกระป๋องอลูมิเนียมมีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่มีการแยกขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง

ความสำเร็จในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องขยายเครือข่ายพันธมิตรต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างผลการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียวอย่างแน่นอน

*รายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า หรือแวลูเชนของขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียม ในประเทศไทย โดย GA Circular (A report on Material Flow and Value Chain Analysis for PET Bottles and Aluminium Cans in Thailand by GA Circular

 

 

 

 

You Might Also Like