CSR

หลังบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง ไม่เกิน 4 ปี ชุมชนมีรายได้เกษตรกรรมเพิ่มกว่า 60%

19 เมษายน 2564…SD PERSPECTIVES ลงพื้นที่กับอินทัช ร่วมกับ สสน. บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่ชุมชนบ้านวังยาว จ.ร้อยเอ็ด ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ทองอินทร์ สารารัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ประธานบริหาจัดการน้ำชุมชนวังยาว-วังเจริญ อ.วังยาว จ.ร้อยเอ็ด ยอมรับว่า พื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำชี เส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชน จะมีภัยธรรมชาติ 2 เรื่องคือ น้ำท่วม และน้ำแล้ง ประมาณเดือนสิงหาคมทุกปี เข้าสู่ภาวะน้ำท่วม 4 เดือน ต่อเมื่อประมาณกุมภาพันธ์-พฤษภาคมจะเป็นภาวะภัยแล้ง เพราะแหล่งน้ำตื้นเขินจัดเก็บน้ำไม่ได้เต็มที่ ประกอบกับขาดการเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละแห่ง ทำให้เกษตรกรโดยรอบ 4 หมู่บ้าน 240 ครัวเรือน ในพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำเกษตรกรรม รายได้หลักมาจากการทำนาปรังเพียงอย่างเดียว

จากการที่อินทัช นำน้ำสะอาดส่งถึง เด็กๆ กำลังดื่มน้ำจากตู้กดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และชาวบ้านซื้อน้ำที่ตู้กดน้ำชุมชน กลายเป็นความผูกพันระหว่างบริษัทและชุมชนในเวลาต่อมา

จากปัญหาชุมชนที่มีอยู่ข้างต้น  ก็เปิดใจคุยตรง ๆ กับภาคเอกชนคืออินทัช อยากให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ประโยชน์จาก ปัญหาน้ำท่วม ลดภัยแล้ง ทำให้สสน.นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้น น้ำที่ท่วมถูกเก็บกักไว้ในใช้หน้าแล้ง เมื่อมีน้ำชาวบ้านยกคันนาปลูกผักเพิ่มขึ้น มีปลาในน้ำเพื่อการประมงมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ส่งผลให้รายได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามตารางด้านล่าง

ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์พรรณชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวถึงการร่วมทำงานกับชุมชนที่นี่ด้วยประโยคแรก

“ผู้นำชุมชน และชุมชนที่นี่มีใจ มีความเข้มแข็ง อยากแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง”

ผลที่ออกมาจึงมีภาพที่ชัดเจน เมื่อน้ำท่วม จะมีระบบระบายน้ำอย่างรวดเร็วไปยังอ่างเก็บน้ำแหล่งต่าง ๆ ของชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อน้ำแล้ง ก็มีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ นำมาใช้ทั้งการบริโภคและเกษตรกรรมได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งนำชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการบริหารขัดการน้ำระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

รายได้เกษตรกรรมมาจากชาวบ้านทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และเมื่อน้ำมีเพียงพอ รายได้จากการประมงก็มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน

รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการเข้ามาพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561 ในปีแรก พบว่านักเรียนโรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดที่ได้มาตรฐาน อินทัชจึงสนับสนุนการจัดทำระบบผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบสำรองน้ำจากน้ำฝนให้กับโรงเรียน และสนับสนุนตู้กดน้ำหยอดเหรียญแก่ชุมชนบ้านวังยาวให้สามารถมีน้ำบริโภคได้ในราคาประหยัด และเป็นรายได้เสริมแก่โรงเรียนในระยะยาว หลังจากนั้นจึงขยายผลมาสู่การบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำสำหรับเกษตรกรรม เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

ทองอินทร์ (ซ้าย) นำ ณรงค์ศักดิ์ และรัชฎาวรรณ เข้าพื้นที่การบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง

ต่อเมื่อพบปัญหาที่ชุมชนขอคำปรึกษาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง จึงร่วมมือกับสสน.   เกิดครงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 นำแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ : เรียนรู้ ปฏิบัติ บริหาร วางแผน และพัฒนา

1.นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาวางแผน พัฒนาและบริหารจัดการ มีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปฏิบัติ และกำหนดกฎกติการ่วมกันทำงานด้วยความโปร่งใส มีการติดตาม ประเมินผล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

2.จัดทำข้อมูลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาทิ การจัดทำข้อมูลชุมชน แผนที่และแผนผังแหล่งน้ำ ร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาและบริหารแหล่งน้ำของตนเอง

3.ปรับวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

แผนงานบริหารจัดการน้ำชุมชนระหว่างปี 2562-2565

จากการสำรวจภายหลังการดำเนินงาน พบว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับคนใน 4 หมู่บ้าน 1,140 ราย 240 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,300 ไร่ โดยสามารถสำรองน้ำในระบบได้กว่า 269,000 ลูกบาศก์เมตร ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 60% ทั้งนี้ แผนงานบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย

ชาวบ้านเรียนรู้การอ่านแผนที่ เพื่อจัดการน้ำ และใช้เครื่อง GPS ค่าความละเอียดสูง เพื่อวัดระดับความสูงต่ำในพื้นที่

-จัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชน และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือระบุตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS), แผนที่ภูมิศาสตร์ (GIS), ร่วมกับการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ (QGIS) สำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลแหล่งน้ำเป็นฐานข้อมูลของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเรียนรู้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เพื่อวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้ในอนาคต

-จัดอบรม ศึกษาดูงานร่วมกับเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน นำมาปรับใช้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่

-ร่วมกันสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแกนดิน ณ กุดชีเฒ่า เพื่อกักเก็บสำรองน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 2 เมตร และมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 240,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรโดยรอบมีน้ำในการทำเกษตร มีแหล่งอาหารจากการทำประมงพื้นบ้าน ช่วยสร้างอาชีพ และรายได้เสริม

บน Before & After คลองอบต.
ล่าง Before & After ฝาย

-ขุดลอกคลองไผ่และสร้างอาคารยกระดับน้ำ และเสริมท่อลอดเชื่อมต่อคลองไผ่ และกุดชีเฒ่า เพื่อเก็บและผันน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับพื้นที่การเกษตร

-ขุดลอกหนองก่ำ เพื่อกั้นแนวเขตเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ไร่ เป็น 6 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก และเก็บน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงขุดลอกคลองส่งน้ำเดิม (คลอง อบต.) เป็นคลองดักและผันน้ำหลากสามารถเก็บน้ำในคลองได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

-สำหรับปี 2564-2565 มีแผนขุดลอกแนวกั้นหนองก่ำ อาคารยกระดับน้ำ เชื่อมต่อคลองดักน้ำหลาก และเก็บสำรองน้ำในหนองฮี พร้อมวางท่อระบายน้ำหลากลงแม่น้ำชีลัด รวมถึงวางระบบสูบน้ำบนผิวดินเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน

รัชฎาวรรณ กล่าวในท้ายที่สุดว่า อินทัชมีเป้าหมายด้าน CSR ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้นด้วยการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง

You Might Also Like