CSR

ปั้น “กลุ่มอาชีวะ” เป็นผู้ประกอบการ “อีคอมเมิร์ซ”

27 มิถุนายน 2564…SD PERSPECTIVES รับทราบเงื่อนไขโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” จบม.3หรือจบปวช. ครอบครัวมีรายได้น้อยแต่ผลการเรียนดีเกรด 3 ขึ้นไป มุ่งมั่นอยากเรียนจบเป็นผู้ประกอบการ “อีคอมเมิร์ซ”

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกันกล่าวถึงความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายใน โครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” โดย Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งกระจายองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมกว่า 4,000 คน ปลูกทักษะและวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) ตลอดจนทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Employability Skills) เตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานแห่งอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Nation ในไทย

มณีรัตน์ กล่าวถึงรายงาน e-Conomy SEA 2020 จาก Google, Temasek และ Bain & Company กล่าวถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซไทยว่าในปี 2563 มีมูลค่าถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ดังนั้นทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล จึงเป็นทักษะสำคัญในการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน

ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) ในยุคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างใหญ่หลวง ทั้งในแง่ชั่วโมงทำงานและรายได้ที่ลดลง โดยข้อมูลจาก KResearch ในปี 2563 คาดการณ์ว่ามีแรงงานไทยราว 5.9 แสนคนที่กลายเป็นผู้ว่างงาน และมีผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง) ราว 2.1 ล้านคน นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะที่หยุดชะงักไปยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ด้วยมีช่องว่างทางทักษะที่มากเกินไป โดยรายงาน The Future of Jobs Report 2020 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลมีเพียง 54.9% แสดงให้เห็นว่ายังมีแรงงานไทยที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อต่อยอดโอกาสการประกอบอาชีพ

ดร.ไกรยส กล่าวว่า นักเรียนอาชีวศึกษาเป็นแรงงานแห่งอนาคตที่สำคัญและควรได้รับการสนับสนุน จากงานวิจัยของ กสศ. พบว่าในอีก 10 ปี ประเทศไทยต้องการแรงงานปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) ที่ต่อยอดมาจากการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด

โครงการฯ จะเปิดรับสมัครทีมนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 ที่หน้าโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” บนเว็บไซต์ ทุนสายอาชีพ.com ของ กสศ. เพื่อร่วม ‘การแข่งขันทำธุรกิจบนช้อปปี้’ เพื่อต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง

ในระยะแรกโครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ จะนำร่องด้วยโครงการ ‘เสริมแกร่งอาชีวะสู่ผู้ประกอบการดิจิทัล’ ผู้ร่วมโครงการทุกคนจะได้ร่วมเรียนคอร์สออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญบน Shopee Bootcamp ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเปิดร้านค้าออนไลน์ รวมถึงการจัดการบริหารร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดสินค้าบนร้าน การจัดการคำสั่งซื้อและการขนส่ง การทำโฆษณาและโปรโมชั่น เพิ่มยอดขายด้วยเครื่องมือการตลาดของช้อปปี้ที่หลากหลาย การวิเคราะห์ข้อมูลยอดขาย รวมถึงการขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีม (Shopee Live) ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ Live Streaming Economy ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

 

ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมอบรมอีคอมเมิร์ซมาสเตอร์คลาสที่จัดโดย Sea (ประเทศไทย) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ความสำเร็จในวงการอีคอมเมิร์ซไทย ต่อยอดความรู้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การทำการตลาดออนไลน์ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด การวิเคราะห์ลูกค้าเป้าหมาย และการวางแบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยการเปิดร้านค้าบนช้อปปี้ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างดำเนินกิจกรรม นอกจากนี้ ทุกทีมจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์จาก Sea (ประเทศไทย) เป็นมูลค่า 10,000 บาท และทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 60,000 บาท เพื่อส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจต่อไป

พันธกิจของ Sea (ประเทศไทย) ที่ต้องการลดช่องว่างทางทักษะให้กับนักศึกษาและแรงงานของประเทศไทย พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้ของบุคลากรไทย

 

You Might Also Like