11 สิงหาคม 2564…เป็นแพ็กเก็จเน็ตอันลิมิเต็ดความเร็ว 4 Mbps เพื่อการเรียนออนไลน์เป็นการเร่งด่วนลดอุปสรรคการเรียนรู้ เตรียมพร้อมหาทางออกระยะยาวในยุคเรียนออนไลน์ มุ่งสู่เป้าหมายความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจสังคมไทยในวงกว้าง ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนครัวเรือนยากจนพิเศษจำนวนมากมีภาวะยากจนเฉียบพลันจากปัญหาการว่างงานและมีรายได้ลดลงสวนทางกับรายจ่าย รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ย้ายกลับภูมิลำเนาให้ต้องดูแลมากขึ้น
จากข้อมูลพบว่า “รายได้เฉลี่ยครัวเรือน” ของนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค มีอัตราลดลง 11% ระหว่างปีการศึกษา 2562-2563 อยู่ที่ 1,021 บาท/เดือน หรือประมาณ 34 บาท/วัน เท่านั้น !
ในปีการศึกษา 2/2563 ซึ่งการระบาดของโควิด-19 จากการประเมินของคณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า การระบาดระลอกล่าสุดในปัจจุบันมีแนวโน้มส่งผลให้มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในปีการศึกษา 2564 นี้ อันเนื่องมาจากภาวะยากจนเฉียบพลันที่เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของ โควิด-19 ส่งผลต่อผู้ปกครองโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ทำให้เด็กในครอบครัวเข้าถึงระบบการศึกษาได้ยากขึ้น พบเด็กเจอปัญหาระหว่างเรียนมากกว่า 2.7 แสนคน ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ทำให้เด็กนักเรียนมีความเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษาถึงราว 700,000 คน (ข้อมูลโดย กสศ.)
“ดีแทคเชื่อว่าการศึกษาถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกคนในสังคมและจะต้องไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เทคโนโลยีการสื่อสารจะต้องทำหน้าที่ให้เด็กนักเรียนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านต้นทุน พันธกิจสำคัญประการหนึ่งของดีแทคคือการสร้างสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียมและทั่วถึง สอดคล้องกับกลยุทธ์ digital inclusion ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ดีแทคยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนพันธกิจของ กสศ. ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ทุกภาคส่วนของสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันประคับประคอง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปให้ได้” ชารัด กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสมอภาคของเด็กเยาวชนทุกคนในช่วงเวลานี้คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้การศึกษาจะไปถึงเด็กทุกคนได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และแสดงให้เห็นว่าความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคหากอินเทอร์เน็ตเข้าไปถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กทุกคนได้อย่างเสมอภาค
ดังนั้น มาตรการอินเทอร์เน็ตฟรีจึงถือเป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ นอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ สัญญาณอินเทอร์เน็ตยังช่วยเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ และการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตฉุกเฉินเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต
“รัฐเองไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ เอกชนจึงมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมและช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำไม่ให้ขยายห่างมากขึ้นให้กับเด็ก ๆ ของเราทุกคน โครงการนี้เรายังได้รับการสนับสนุนจาก StartDee แอปพลิเคชัน ให้น้องๆ ทั้ง 2,000 คนสามารถเข้าถึงบทเรียนผ่านแอปพลิเคชันฟรีภายใต้โครงการ Free School-in-a-Box”
ชารัด กล่าวในท้ายที่สุดว่า ที่ผ่านมาดีแทคได้พัฒนาแพ็กเก็จเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักเรียนภายใต้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตราคาพิเศษ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กับ โปรเสริม Happy Work & Learn สำหรับใช้งานไม่อั้นบนแอป Microsoft 365, Zoom, WebEx, Shopee ที่ความเร็ว 10 Mbps และเน็ตเต็มสปีด 1GB ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับการใช้งานและสถานการณ์ที่ต้องทำงานหรือเรียนหนังสือที่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ ดีแทคยังได้ร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. มอบแพ็กเกจเรียนออนไลน์ฟรี โดยสามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนอย่าง MS Teams, Zoom, Google Meet, WebEx และ Line Chat ได้ไม่จำกัด พร้อมเน็ตเต็มสปีด 2 GB ต่อเดือนเพื่อใช้งานนาน 2 เดือน โดยนักเรียนสามารถลงทะเบียนรับสิทธิโดยแจ้งเบอร์ดีแทคผ่านโรงเรียน โดยแพ็กเกจจะเริ่มใช้งานได้หลังวันที่ 15 สิงหาคม นี้