CSR

สิงห์อาสา x คณะแพทย์ฯ 8 มหาวิทยาลัย ดูแลสุขภาพชาวบ้านพื้นที่ห่างไกล

14 ธันวาคม 2564…ในโครงการ “ไกลแค่ไหน จะไปให้ถึง” ประเดิมที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ตรวจสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชน และมอบเสื้อกันหนาวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล กับสิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี

เช้านี้อากาศค่อนข้างเย็นมากทีเดียว 19 องศา บริเวณโรงเรียนแม่สาบดรุณศึกษา ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ร่วมงานได้ผ่านการตรวจ ATK เป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่เด็ก ๆ จะได้รับเสื้อกันหนาว จาก         รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ประโภชน์ เกิดเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด และ รศ.นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก

ส่วนผู้อาวุโสและชาวบ้านกว่า 200 คนในพื้นที่ใกล้เคียง เข้าพบทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ตรวจเฉพาะทาง ตรวจกรุ๊ปเลือด ตรวจภายใน ฝังเข็ม ตรวจสายตา รวมถึงเคลื่อนที่ไปยังบ้านผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมาตรวจได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ

รศ.นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงการเข้าพื้นที่ครั้งนี้ ทีมแพทย์ที่ขึ้นมารักษา จะรักษาโรคทั่วไป จ่ายยาเบื้องต้น เมื่อมีโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายต้องรักษาต่อเนื่อง ก็ต้องเขียนใบส่งตัว ให้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด ให้หายขาด ในวันนี้ก็จะมีการตรวจโรคทาง หู คอ จมูก เพิ่มเติมขึ้นมา มีการตรวจภายใน ผู้ป่วยสูงอายุก็จะมี เรื่องสายตายาว จะมีการตรวจวัดแว่น ชุมชนบริเวณนี้จะมีปัญหามาจากโรคข้อ โรคกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่มีผลมาจากการทำงาน มีบริการฝั่งเข็มด้วย

“การตรวจหู คอ จมูก มะเร็งเพิ่มเติม เพราะข้างบน มีปัญหาเรื่องอากาศหนาวเย็น บางครั้งจะมีโรคหูอักเสบ หูน้ำหนวกจะเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วจะสูญเสียการได้ยิน นอกจากนี้ผู้สูงอายุมากขึ้นมักจะมีโรคประสาทหูเสื่อมด้วย จะทำให้การได้ยินลดลง เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรอง เพื่อจะส่งไปรับเครื่องช่วยฟัง เมื่อได้รับแล้วช่วยการให้ฟังดีขึ้นก็จะสื่อสารกับครอบครัวได้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องการคัดกรองมะเร็ง ปากมดลูก เพราะการที่คนไข้จะลงไปตรวจเองทำได้ลำบาก ก็เลยพาทีมแพทย์ขึ้นมาตรวจที่นี่”

ในการเข้าพื้นที่ครั้งนี้ มีนักศีกษาแพทย์ ปี 1 จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 5 คนมาร่วมทำงานด้วย ช่วยวัดความดัน ช่วยจัดอุปกรณ์ เช็คแอลกอฮลล์ ฯลฯ มาร่วมดูแลชาวบ้าน โดยพวกเขาเห็นว่า นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเรียนสำหรับปีสูง ๆ ต่อไป

“นอกจากนี้ เราเพิ่งได้เคยขึ้นมาบนดอยมาเห็นคนไข้่ที่นี่ อยากขึ้นมาดูว่าเขาเป็นประมาณไหน เจ็บป่วยอะไรกันบ้าง ปกติจะเห็นคนไข้ในเมืองที่โรงพยาบาลสวนดอก ซึ่งแตกต่างจากที่นี่เลย ที่นี่เห็นผู้สูงวัยใช้ไม้เท้าถูกออกแบบมาเอง ใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ แตกต่างจากในเมืองเดินเข้าร้านซื้อไม้เท้าก็ได้เลย

“เรารู้สึกว่า คนไข้รอบนอกมีราคาที่ต้องจ่ายสูง การที่เราขึ้นมาช่วย จะทำให้ย่นระยะเวลาที่เขาจะต้องเสียไป ซึ่งการขาดแคลนแบบนี้ จำเป็นต้องมีหน่วยแพท์เคลื่อนที่มา การที่เรามาแบบนี้ทำให้เราทราบจริง ๆ ว่าชุมชนต้องการอะไร เพราะในเมืองมีความสะดวกสบายครบอยู่แล้ว ตอนนี้พวกเราเรียนทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ มาสัมผัสตรงนี้แล้ว เราได้รู้ว่า สิ่งที่เราเรียนนั้น เรียนไปเพื่ออะไร”

โครงการ “ไกลแค่ไหน จะไปให้ถึง” ในโอกาส 34 ปี หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา ปีนี้ ได้ร่วมกับ เครือข่ายคณะแพทย์ 8 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า, คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ร.พ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กระจายไปทำกิจกรรมครอบคลุมในพื้นที่ที่ประสบภัยหนาว เป็นการทำงานที่จะต้องมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยให้การทำงานเพื่อชุมชนห่างไกลแต่ละครั้งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

 

You Might Also Like