28 ธันวาคม 2564…เพราะภาวะโลกรวนเป็นปัญหาที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันแก้ AFTERKLASS โดยธนาคารกสิกรไทย แพลตฟอร์มที่ให้ความรู้และกิจกรรมเสริมทักษะแก่เยาวชนวัย15-20 ปี หลากหลายด้าน รวมการเงิน และการลงทุน ล่าสุดได้เพิ่มประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และอยากให้เยาวชนใส่ใจตั้งแต่วันนี้เพราะหมายถึงสภาพภูมิอากาศและโลกที่พวกเขาจะต้องช่วยกันดูแลต่อไป
กิจกรรมค่ายออนไลน์ชวนเด็กรุ่นใหม่ร่วมทำเวิร์คชอปภายใต้ชื่อ “ป้องกันและบรรเทาภาวะโลกรวน ต้องทำยังไง ห้องเรียน AFTERKLASS มีคำตอบให้” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของภาวะโลกรวน พร้อมร่วมกันหาทางออกเพื่อบรรเทาและปรับตัวกับวิกฤตที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก กับ 2 วิทยากรสายกรีนอย่าง น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หรืออาจารย์ต้อม นักวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโลกสีเขียว พร้อมกับนักแสดงสายกรีนเข้ม อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) รวมถึงเป็นทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทยคนแรกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Thailand Goodwill Ambassador – UNEP)
ภายในงานมีกลุ่มน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าร่วมทำเวิร์คชอป ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน นั่นคือ
-ช่วงแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกรวน ภาวะโลกรวน 101 “โลกรวนจริงหรือหลอก” เนื้อหาเกี่ยวกับความหมายและสาเหตุของภาวะโลกรวนรวมไปถึงวิธีรับมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-ช่วงระดมความคิดตามโจทย์ที่ได้รับเพื่อหาทางออกร่วมกัน ภาวะโลกรวน 102 “อากาศแปรปรวนจากเหนือลงใต้” ชวนวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศและประสบการณ์ภาวะโลกรวนที่น้องๆ ต้องเผชิญรวมทั้งมีการระดมความคิดเรื่อง “โลกรวนแล้วจะอยู่ยังไงให้รอด”
-ช่วงนำเสนอไอเดียการบรรเทาและปรับตัวรับกับวิกฤต ภาวะโลกรวน 103 “เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาภาวะโลกรวน” ผ่านการบรรเทาและการปรับวิธีการใช้ชีวิต รวมทั้งมีการสะท้อนความคิดจากห้องเรียน AFTERKLASS เพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาในการปรับตัวและบรรเทาวิกฤตภาวะโลกรวนผ่านการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยหลักพฤติกรรม 8R ในชีวิตประจำวันที่ง่ายและทุกคนสามารถทำได้จริง ด้วยการใช้กระดานออนไลน์ www.webwhiteboard.com เพื่อแชร์ออกไปและช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่นๆ ในสังคมให้ตระหนักและตื่นตัวไปพร้อมกัน
น.สพ.ดร.บริพัตรกล่าวว่า “ภาวะโลกรวน” เป็นคำที่ยังไม่เคยถูกบัญญัติมาก่อน แต่สามารถอธิบายถึงปรากฎการณ์หรือผลลัพธ์ที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระทบไปถึงทุกชีวิตบนโลก ตลอดจน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมต่าง ๆ
“จากสถิติในปี 2021 พบภัยพิบัติเกิดขึ้นมากกว่า 150 ครั้ง ใน 6 ทวีปทั่วโลก และเกือบครึ่งหนึ่งเกิดในทวีปเอเชีย แสดงว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละทวีป ส่วนประเทศไทยนั้นเผชิญกับภาวะโลกรวน 3 ด้าน คือ พายุรวน แล้งรวน และฝนรวน”
ภาวะโลกรวนทั้ง 3 ด้านข้างต้น ถูกนำมาเป็นโจทย์ โดย AFTERKLASS ชวนน้อง ๆ เยาวชนเข้าสู่ช่วงระดมความคิดโดยแบ่งออกเป็นทีมตามภาวะโลกรวนที่ไทยกำลังเผชิญ ประกอบด้วยทีมพายุรวน ทีมแล้งรวน และทีมฝนรวน เพื่อนำเสนอไอเดียการแก้ไขปัญหา และปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤต สอดแทรกด้วยเกมต่าง ๆ ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานตามคอนเซ็ปต์ Edutainment
นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้บทสรุปกับหลักการ 8 R ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อกู้วิกฤตโลกรวน ได้แก่ Rethink คิดวิเคราะห์ก่อนใช้ทรัพยากร Reuse ใช้ซ้ำ Reduce ลดการใช้ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ Regift การนำของขวัญที่เคยได้รับมาเอาไปให้อีกคนหนึ่ง Recover การนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ Repair ซ่อมแซม และ Refuse ปฏิเสธการใช้ที่ไม่จำเป็น/ฟุ่มเฟือย
อเล็กซ์ เรนเดลล์ กล่าวถึง AFTERKLASS ว่า ไม่ได้เพียงแค่เป็นกิจกรรมออนไลน์ แต่เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้พลังของเด็กรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยกันกู้โลก เพราะสิ่งที่น้อง ๆ จะได้รับจากค่ายออนไลน์ในครั้งนี้คือ ความสามารถในการปรับตัว และการเข้าใจวิธีการบรรเทาปัญหาโลกรวน ที่นำไปใช้ต่อได้ในอนาคต
รวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวิร์คช็อปภาวะโลกรวน ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก และมีเสียงตอบรับที่ดี สะท้อนความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ AFTERKLASS มุ่งหวังไว้ในการเป็น Community ที่รวบรวมทุกความสนใจของวัยรุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกในเว็บไซต์กว่า 33,000 คน และมีสมาชิกผ่าน Social Media Platform อื่นๆ อีกกว่า 50,000 คน
“ในปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงเดินหน้าโครงการ AFTERKLASS อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนไทย พร้อมทั้งทักษะความรู้ใหม่ ๆ ให้น้อง ๆ ก้าวทันความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคใหม่ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น จัดเป็น CSR ที่ดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายด้าน ESG ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยแห่งแรก ประกาศ Net Zero Commitment จากการดำเนินงาน (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ภายในปี 2573 และ Net Zero ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศ เพื่อส่งมอบโลกที่สมดุลและยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป