CSR

คูโบต้าหนุน “วิถีใหม่เกษตรกร”  

29 เมษายน 2565…ส่งผลยกระดับรายได้ของเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น เป็นความร่วมมือผ่านโครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ” ส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตรให้เข้าถึงชุมชน มีเป้าหมายให้ครอบคลุม 72 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมประกวดคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ อวอร์ด

พิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงการเกิดโครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ” ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสยามคูโบต้าคือ การขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้าง “วิถีใหม่เกษตรกร”

“สยามคูโบต้าอยากจะสนับสนุนให้เกิดวิถีใหม่เกษตรกร มารวมกันในกลุ่มสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้เครื่องจักรร่วมกัน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เกิดการสร้างรายได้ในชุมชนทั้งจากรายได้เดิม รวมถึงรายได้ใหม่ที่มาจากฟางที่เคยเผานำมาอัดก้อน เปลี่ยนเป็นเงินสำหรับ Zero Burn รวมถึงต่อไปจะเป็นเรื่องเกษตรออกานิกส์ เราอยากให้เครื่องมือเหล่านี้ไปอยู่กับเกษตรกรที่อยากใช้ประโยชน์กับพื้นที่ เพราะปัจจุบันแรงงานก็หายากมากเช่นกัน ”

เครื่องจักรกลการเกษตรที่สนับสนุน ประกอบด้วย แทรกเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง รถเกี่ยวนวดข้าว รถขุดขนาดเล็ก รถดำนา โรงเรือนเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมการบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่ม การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างเหมาะสม มีบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งาน การดูแลเครื่องจักรอย่างใกล้ชิด โดยทีมช่างบริการผู้เชี่ยวชาญด้วยมาตรฐานเดียวกันของสยามคูโบต้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ”

พิษณุขยายความต่อเนื่องถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จะเลือกจากความเข้มแข็งในการรวมกลุ่ม มีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สยามคูโบต้าสามารถเข้าไปต่อยอดได้ รวมถึงมีผลผลิตของกลุ่มที่ชัดเจน

ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ในเกณฑ์ข้างต้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว มีศักยภาพในการเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความพร้อมในการทำเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) และการทำฟางอัดก้อน เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์เอสซีจี และโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ SCGP ส่วนการแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ทางสยามคูโบต้าสนับสนุน แทรกเตอร์ รุ่น L5018 ติดตั้งอุปกรณ์ KIS จำนวน 2 คัน เครื่องอัดฟาง HB 135 จำนวน 2 เครื่อง และชุดบุ้งกี๋ LA588-1 จำนวน 2 เครื่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านโซลูชั่นเกษตรปลอดการเผา

พิษณุ มิลินทานุช,พงศกร มงคลหมู่ และบุญทิพา สุภีพุฒ

พงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากที่ได้รับเครื่องจักรกลทางการเกษตรจากสยามคูโบต้า มีการวางแผนและจัดสรรการใช้งานโดยจัดทำประชามติร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกเกษตรกรทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่อยู่ในการดูแลของอบต.รางจรเข้ ส่งผลให้เกิดอีกส่วนหนึ่งใน “วิถีใหม่เกษตรกร” ในพื้นที่ดังนี้หลังจากจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในนาดังนี้

1.เกษตรกรลงทะเบียน และแจ้งวันเก็บเกี่ยว
2.อบต.จะจัดลำดับคิวนำเครื่องอัดฟางที่ได้รับมาจากในตำบล และพื้นที่ข้างเคียง โดยจะลงไปทำงานเร็วที่สุด ซึ่งชาวนาในตำบลหากเลือกอัดฟางจะได้สีข้าวฟรีในโรงสีข้าวของอบต.รางจระเข้
3.เมื่อเก็บเกี่ยวเรียบร้อย ชาวนาจะรับจ้างขับรถแทรกเตอร์อัดฟางให้แต่ละพื้นที่ สร้างรายได้เพิ่มเติมในครอบครัว รวมถึงการขับรถขนส่งฟางก้อนไปส่งยังโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเครือเอสซีจีในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
4.เจ้าของนาก็จะมีรายได้เพิ่มจากการขายฟางข้าว แทนที่จะเผาเหมือนเมื่อก่อน

“เมื่อก่อนเราก็เผาฟางข้าวเลย เป็นวิธีการที่ง่ายกว่า แต่ก็สร้างมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าลมจะพัดไปทางไหนบ้าง การเปลี่ยนมาอัดฟางเป็นก้อนแบบนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของชาวนา”

บุญทิพา สุภีพุฒ ชาวนา ตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพื้นที่นาของตัวเอง ขยายความต่อเนื่องสิ่งที่ตามมาจากการอัดฟางเป็นก้อน คือรายได้เสริมของครอบครัว

จากความสำเร็จที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรตำบลรางจระเข้สามารถอัดฟางก้อนได้วันละ 40 ไร่ ได้ปริมาณฟางอัดก้อน 25-30 ตัน ซึ่งฟางก้อนเหล่านี้จะถูกนำไปขายราคาตันละ 800 บาท และจะนำเงินมาจัดสรรให้กับเกษตรกรในกลุ่ม เป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ตลอดจนช่วยงานการกุศลในพื้นที่

ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรตำบลรางจระเข้ได้ใช้แทรกเตอร์และเครื่องอัดฟางที่ได้รับมาทั้งในตำบลและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งสามารถช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตร ลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

การอัดฟางข้าว เพื่อนำสู่กระบวนการ Zero Burn เพิ่มรายได้เสริมให้ชาวนา ไม่สร้าง PM 2.5 นำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานเครือเอสซีจี

โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ ในเฟส 1 ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงกุมภาพันธ์ 2565 โดยสยามคูโบต้าได้ส่งมอบเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้นมูลค่ารวมกว่า 98 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยแทรกเตอร์ 95 คัน อุปกรณ์ต่อพ่วง 446 ชุด รถเกี่ยวนวดข้าว 12 คัน รถดำนา 19 คัน และรถขุดขนาดเล็ก 4 คัน ให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนจำนวน 123 กลุ่ม มีเกษตรกรจำนวน 10,900 ราย ใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรกว่า103,163 ไร่ที่หลากหลาย อาทิ ข้าวอินทรีย์ ฟางข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กาแฟ เป็นต้น

ในเฟสแรกของโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น 10% จากการทำเกษตรที่สะดวกและสบายขึ้นผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและการบริหารจัดการที่ดีผสานองค์ความรู้โซลูชันต่างๆ ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับเฟส 2 หลังเดือนเมษายน-ธันวาคม 2565 จะส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเพิ่มอีก 100 กลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ รวมถึงการจัดกิจกรรมประกวดคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ อวอร์ด ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความคืบหน้าในการบริหารจัดการของกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับเครื่องจักรกลการเกษตรไปแล้วในเฟสแรก

พิษณุกล่าวในท้ายที่สุด สยามคูโบต้ายังมีแผนการต่อยอดโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ โดยใช้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SIAM KUBOTA Community Enterprise) ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ การเกษตร การตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาคุณภาพบุคลากร เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้และพี่เลี้ยงด้านการบริหารจัดการชุมชนให้กับสมาชิกของโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ เกิดการเรียนรู้ระหว่างชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรที่ช่วยเหลือกันทั้งด้านการขายและการตลาด ใช้พลังของเกษตรกรขับเคลื่อนเกษตรกรด้วยกันเอง สู่การเป็นเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็ง อีกทั้งในอนาคตจะขยายความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ครอบคลุมในทุกมิติ

You Might Also Like