23 พฤษภาคม 2565…เสียงสะท้อนความสำเร็จของ “โครงการพลังงานชุมชน” ระยะที่ 3 (ปี 2563-2565) จากพล ฤทธิ์ล้ำ หญิงแกร่งแห่งไร่เจริญผล หลังจากเข้าร่วมโครงการพลังงานชุมชนของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดราชบุรี
พล ฤทธิ์ล้ำ หนึ่งในแกนนำของศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชนไร่เจริญผล ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพลังงานชุมชน ปรารถนาให้ไร่แห่งนี้เป็นต้นแบบในการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าใช้ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
“เดิมทีไร่เจริญผลเคยใช้น้ำมันเบนซินและไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร เมื่อได้ทราบว่าโครงการพลังงานชุมชนของราช กรุ๊ป และสำนักงานพลังงานจังหวัดราชบุรีมาดำเนินการในตำบลยางหัก โดยส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้น้ำมันและไฟฟ้า จึงสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชน หลังจากนั้นโครงการฯ ก็ได้เข้ามาติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ขนาด 3,400 วัตต์ เพื่อกักเก็บพลังงานและแปลงมาเป็นไฟฟ้าใช้กับเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำน้ำจากสระไปใช้ในแปลงเกษตรผสมผสานของไร่เจริญผล”
ตั้งแต่เริ่มใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ค่าไฟที่เคยจ่ายหลักพันบาท ปัจจุบันเหลือศูนย์บาท
“ศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานไร่เจริญผล ยินดีที่จะเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจและพร้อมที่จะเปิดรับแนวคิดการใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้และการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 แก่ชุมชนของเราด้วย”
ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการพลังงานชุมชนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยมุ่งหวังส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับชุมชน ด้วยการพัฒนาแนวคิดด้านพลังงานของชุมชน รวมทั้งนวัตกรรมพลังงานด้วยบริบทเฉพาะของท้องถิ่นหรือชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมคิดและร่วมทำด้วย
“โครงการนี้คาดหวังว่า ความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องจะเป็นฐานคิดที่ขยายผลไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 เรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Action ด้วย โครงการพลังงานชุมชนเป็นการทำงานสามประสานระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน”
สำหรับโครงการพลังงานชุมชน พื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำร่องจากการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 8 เครื่อง ซึ่งชุมชนกว่า 100 ครัวเรือน ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ผลที่ได้รับ คือชุมชนสามารถลดการซื้อน้ำมันเบนซินสำหรับเครื่องสูบน้ำ ประมาณ 17,280 ลิตร ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 37,836.29 kgCO2e และยังลดค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำมันเบนซิน ได้ประมาณ 518,400 บาท (คำนวณจากราคาน้ำมันเบนซินประมาณลิตรละ 30 บาท)
โครงการฯ ได้ขยายผลด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาขนาด 3,400 วัตต์ และเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในศูนย์เรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานไร่เจริญผล และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟตะนาวศรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนตำบลยางหัก เกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
เกริก มั่นคง นักวิชาการพลังงานชำนาญการ สำนักงานพลังงานจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า โครงการพลังงานชุมชน ตำบลยางหัก มีอาสาสมัครพลังงานชุมชนจำนวน 40 คน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของตำบล และเข้าร่วมจัดทำแผนพลังงานตำบลด้วย จากการสำรวจข้อมูลการใช้จ่ายด้านพลังงานของตำบลยางหักเมื่อปี 2563 มีมูลค่าถึง 108 ล้านบาท โครงการฯ จึงได้จัดทำแผนกิจกรรม เริ่มด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ชุมชน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนจัดศึกษาดูงานชุมชนที่ประสบผลสำเร็จด้านการจัดการพลังงาน โดยนำองค์ความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตำบลยางหัก สนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3,400 วัตต์ โดยนำร่องใช้ในศูนย์เรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานไร่เจริญผล และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟตะนาวศรี
จากนั้นได้พัฒนาพื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นศูนย์กลางสำหรับถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และสาธิตการติดตั้งโซลาร์เซลล์ การทำงานและการบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับวิถีการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยชุมชนสามารถพึ่งพิงพลังงานจากธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟตะนาวศรีเป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกในตำบลยางหักที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสูบน้ำเข้าสวนกาแฟและทำได้อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลิตผลดีขึ้นจนสามารถนำไปพัaฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ สบู่กาแฟ ชาดอกกาแฟ กาแฟดริป สร้างรายได้แก่กลุ่มชุมชนเพิ่มขึ้น