18 กรกฎาคม 2565…ชันโรงที่มีคุณสมบัติพิเศษและมูลค่าสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี เพิ่มโอกาสและรายได้ให้เกษตรกร โดยการนำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติมาใช้ประโยชน์ผนวกกับความร่วมมือของสมาชิกที่ร่วมทำหน้าที่พี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์
กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Big Brothers คือ เครือข่าย Social Enterprise ที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ เอกชน ซึ่งได้มีการร่วมทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี ทางกลุ่ม Big Brothers ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยการนำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือของสมาชิกเครือข่าย แบ่งตามบทบาทหน้าที่ ได้แก่
1.กลุ่มสนับสนุนการวิจัย ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ร่วมกันพัฒนาการเพาะเลี้ยงและพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับผึ้งชันโรงในแต่ละ สายพันธุ์ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และพื้นที่ดูงานเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ หรือบุคคลที่สนใจในท้องถิ่นสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
2.กลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายจำนวนเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง โดยพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงผ่านการฝึกอบรม เพิ่มผลผลิตและติดตามให้คำปรึกษา รวมถึงสนับสนุนการเพาะเลี้ยงชันโรง โดยในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ (ชุมชนบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง) รับผิดชอบโดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พื้นที่จังหวัดระยอง มีบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และบริษัท อีสเทิร์น ฟลูอิด ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ดูแลและพื้นที่จังหวัดลำปางจะดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
บางจากฯ ในฐานะพี่เลี้ยงส่งเสริมเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้เริ่มการสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มต้นการรวมกลุ่มในปี 2563 โดยมีอาจารย์สมศักดิ์ สำลีรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง ตำบลบางน้ำผึ้ง และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จังหวัดสมุทรปราการ สาขาเกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย เป็นผู้ริเริ่มโครงการเลี้ยงผึ้งชันโรงในพื้นที่เพื่อให้คงอัตลักษณ์ให้กับตำบลบางน้ำผึ้งให้มีผึ้งอาศัยอยู่ให้สมกับชื่อตำบล และส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น
ในปี 2563 บางจากฯ เริ่มต้นการสนับสนุนรังผึ้งชันโรงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจจำนวน 117 รัง และมีการขยายรังเพิ่มเป็น 300 รัง ในปัจจุบัน และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มจาก 8 คนเป็นกว่า 30 คน พร้อมจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ของผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง ตำบลบางน้ำผึ้ง เพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีผลผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว รวมทั้งมีการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมบำรุงผิว จำหน่ายภายในท้องถิ่นที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งและพื้นที่ใกล้เคียง
ความร่วมมือในเครือข่าย Big Brothers ในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมชุมชนบางน้ำผึ้งในการเลี้ยงผึ้งชันโรง โดยนำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาใช้ประโยชน์ เพื่อขยายจำนวนเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง พัฒนาการเพาะเลี้ยงและสูตรอาหารเพื่อให้ชันโรงในทั้ง 3 พื้นที่ สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงให้มีปริมาณมากกว่า 5 ลิตรต่อวันต่อพื้นที่ตามเป้าหมายของเครือข่ายพร้อมขยายผลไปสู่การผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและมีมาตรฐานที่จะสามารถส่งออกได้ พร้อมสร้างให้เกิดการพัฒนาอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง”
ทั้งนี้ บางจากฯ ได้วางแนวคิดดูแลสังคมและชุมชนร่วมกับพันธมิตรทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วยโมเดล Bangchak WOW (Well Being Improvement/Oxygen Enhancement /Water Management) ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต (W – Well Being Improvement) ผ่านโครงการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องวิชาชีพ สุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ พร้อมปรับปรุงคุณภาพอากาศ O – Oxygen Enhancement เพิ่มพื้นที่สีเขียว ร่วมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ และ W – Water Management ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ดูแลรักษาแหล่งน้ำ เช่น โครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นต้น
“นับเป็นความภาคภูมิใจของบางจากฯ ที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ชุมชนเพื่อนบ้านของเราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานเกษตรอำเภอพระประแดง อบต.บางน้ำผึ้ง และชุมชนในพื้นที่ ฯลฯ และร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDG 15 – Life on Land) ร่วมปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับโมเดล Bangchak WOW ในข้อ well-being improvement” กลอยตา กล่าวในท้ายที่สุด