8 พฤศจิกายน 2565…ธนาคารกสิกรไทย มุ่งสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นพื้นฐานการใช้เงินที่ถูกต้องนำไปสู่ความมั่นคงในธุรกิจ อาชีพการงาน ตลอดจนชีวิตยามเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ก่อเกิดเป็นแบรนด์ AFTERKLASS เมื่อ 9 ปีก่อนในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนในด้านการออม การวางแผนการใช้จ่าย การลงทุนและการเริ่มต้นทำธุรกิจ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ ซึ่งในแต่ละปี AFTERKLASS ยังจัดเวทีการประกวดเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เยาวชนได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ความสามารถของตนเองในการเป็นผู้ประกอบการและการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่อีกด้วย
รวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา AFTERKLASS เป็นที่รู้จักในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนสมาชิกในเว็บไซต์ WWW.AFTERKLASS.COM ที่มากกว่า 50,000 คน และผู้เข้าสมัครการประกวดในปีนี้มีมากกว่า 140 ทีมที่สำคัญยังมีเยาวชนในต่างจังหวัดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
“พฤติกรรมและความสนใจของน้อง ๆ กลุ่มมัธยมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีเราจึงต้องปรับการทำงาน โดยพัฒนาโครงการ คอนเทนท์ และแพลตฟอร์มให้สอดคล้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้ยังใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็น Super Hero สำหรับน้อง ๆ รวมถึงผู้มีประสบการณ์จากหลากหลายวงการ มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถทำ Passion ให้เป็นจริงได้ ทำให้โครงการนี้สามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับเยาวชนในวัยมัธยมซึ่งเป็นกลุ่มที่เราโฟกัส เพราะกลุ่มนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการปลูกฝังความรู้ทางการเงิน เพื่อให้เขามีวินัยทางการเงิน มีความคิดความอ่าน ประกอบกับผลจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเด็กมัธยมเริ่มมีหนี้แล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้จ่ายที่เกินตัว เพราะขาดความรู้ด้านการเงิน กสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงิน จึงอยากมีบทบาทเข้าไปสนับสนุนให้เขาบริหารจัดการการเงินของเขาเองได้ ถ้าเขาสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ก็จะสะท้อนไปถึงคนรอบข้าง และสังคม และเพิ่มศักยภาพของเขาเองในอนาคต”
สานฝันธุรกิจที่ดีและยั่งยืน
ธนาคารยังมีความตั้งใจที่จะปลูกฝังแนวคิดการทำธุรกิจให้กับเยาวชนที่จะอยู่ร่วมกับโลกอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ SDGs (Sustainability Development Goals) มาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างแผนธุรกิจในปีนี้เป็นครั้งแรก นี่จึงเป็นที่มาของการแข่งขันแผนธุรกิจปีนี้ภายใต้ชื่อ “START UP FOR BETTER SOCIETY HACKATHON 2022” ซึ่งนอกจากจะเป็นเวทีให้น้อง ๆ ได้ปล่อยไอเดียสร้างสรรค์แล้วยังคู่ขนานไปกับการคิดเพื่อร่วมดูแลสังคม ผ่านโจทย์การพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาคมโลกให้ดียิ่งขึ้น ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกสิกรไทยด้วย
โดยเป้าหมาย SDGs ที่ทางโครงการนำมาเป็นโจทย์หลักให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้คิดและเสนอไอเดียธุรกิจเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาคมโลกให้ดียิ่งขึ้น มีด้วยกัน 5 หัวข้อ ได้แก่
-สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ Human Well-being and Capabilities
-เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม Sustainable and Just Economies
-การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน Energy Decarbonization with Universal Access
-การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง Urban and Peri-Urban Development
-ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน Sustainable Food, Land, Water, and Oceans
ปีนี้ AFTERKLASS ออกแบบกิจกรรมและเนื้อหาหลักใน Bootcamp ของ START UP FOR BETTER SOCIETY HACKATHON 2022 เป็นเวลา 3 วัน สำหรับผู้ที่เข้ารอบทั้งหมด 8 ทีม ได้แก่ Day 1 เรียนรู้การสร้างไอเดียธุรกิจนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมอย่างยั่งยืน Day 2 พัฒนาแนวคิดธุรกิจสู่แผนธุรกิจ และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมแบบ Startup และ Day 3 ทริกการนำเสนอแบบสตาร์ทอัพ (Startup Pitching) เพื่อทำการแข่งขันการนำเสนอไอเดียชิงเงินรางวัล
DKRG กับไอเดียหนอนติดล้อ
สำหรับโฉมหน้าผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศในปีนี้ก็คือ ทีม DKRG กับโซลูชั่นแพลตฟอร์ม NornTidLor (หนอนติดล้อ) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหัวข้อ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน Energy Decarbonization with Universal Access โดยต้องการลดขยะอาหารที่เป็นปัญหาของการเกิดก๊าซเรือนกระจกและโลกร้อน ทั้งยังสร้างธุรกิจให้เติบโตคู่สังคมโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ทีม DKRG ประกอบด้วยสมาชิกในทีม 5 คน ได้แก่ ธัชพล ศรีมานนท์ (พู) ปัณปพล เธียรวณิชพันธุ์ (ปัน) วิรชัช ทองอุทัยศรี (ภีม) ปรัณ ธรรมเดชศักดิ์ (นาย) และ พชรพล มานะธรรมไพบูลย์ (บอม) เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วทั้งหมดก็มีความเห็นตรงกันว่า ขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังพบว่าส่วนใหญ่ของขยะอาหารถูกนำไปจำกัดโดยการฝังกลบ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนตัวการสำคัญของก๊าซเรือนกระจก เมื่อพบต้นตอของปัญหาแล้ว จึงหาวิธีลดปัญหา และในเวลาเดียวกันต้องเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน นำมาปั้นเป็นธุรกิจที่ช่วยให้สังคมดีขึ้น
“จากการค้นคว้าหาข้อมูล เราพบว่าหนอนนกเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่ให้ปริมาณโปรตีนสูงกว่าพืชหรือสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งเราสามารถนำขยะอาหารมาเลี้ยงหนอนนก และสกัดมาเป็นโปรตีนที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด ป้อนเป็นวัตถุดิบส่งให้ผู้ผลิตผงเวย์โปรตีน ตอบโจทย์ตลาดสุขภาพในกลุ่มคนออกกำลังกายที่นิยมรับประทานเวย์โปรตีน นอกจากนี้ยังเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร รวมถึงพัฒนาเป็นอาหารฉุกเฉินในพื้นที่ทุรกันดาร”
ทีม DKRG นำความรู้ทางการเงินที่ได้จากกิจกรรม Bootcamp มาวางแผนธุรกิจ คำนวณต้นทุน และหาวิธีลดค่าใช้จ่าย โดยก่อตั้งโรงงานใกล้กับบ่อกำจัดขยะเพื่อลดค่าขนส่ง และช่วยลดปัญหาขยะอาหารไปในตัว เท่ากับว่ายิ่งธุรกิจเติบโตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งลดขยะอาหารได้มากเท่านั้น โดยคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี
ส่องพัฒนาการทีมผู้เข้าประกวด
ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เชษฐพันธุ์ ศิริตานุภัทร Managing Director – KLabs และ ดร. รณกร ไวยวุฒิ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปีนี้เป็นอีกปีที่มีความยากในการตัดสิน เนื่องจากแต่ละทีมล้วนมีไอเดีย และวางแผนการทำงานมาอย่างดี เกินมาตรฐานของเด็กในวัยมัธยม
แต่ปัจจัยที่ทำให้ทีม DKRG คว้าใจกรรมการไปได้นั้นมาจากความชัดเจนของไอเดียกระทั่งทำออกมาเป็นแผนธุรกิจ โดยนำ Waste มาแปลงให้เป็นประโยชน์ ในต้นทุนต่ำ และยังสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตรงกับธีม SDGs อีกทั้งยังทำงานกันเป็นทีม นำเสนอผลงาน และตอบคำถามบนเวทีได้ดี แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนตั้งใจหาข้อมูล ทำการบ้านด้วยความทุ่มเท และเตรียมพร้อมมาอย่างดี
“จากการตัดสินในแต่ละปี เรามองเห็นผู้เข้าประกวดมีพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปีนี้ เราจะเห็นว่าทีม DKRG มีไอเดียโซลูชั่นที่เป็น DeepTech ไม่ใช่เป็นแพลตฟอร์มธรรมดา ๆ ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ให้กับเรา และคิดว่าจะเป็นอนาคตสำคัญให้กับวงการสตาร์ทอัพต่อไปในอนาคต” ธนพงษ์กล่าว
“จุดเด่นที่เห็นได้ชัดจากทีมผู้เข้าประกวดในปีนี้ คือความกล้าคิด กล้านำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งกิจกรรมจาก AFTERKLASS ในครั้งนี้ยังช่วยให้พวกเขาได้โชว์ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่” เชษฐพันธุ์ กล่าว
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของทีม single lead กับโซลูชั่น KnowHere แพลตฟอร์มที่จะพาเด็กมัธยมท่องโลกความรู้เรื่องไอที โดยมี RoadMap เป็นไกด์เพื่อนำทาง มี Community คอยช่วยเหลือและมีอีเวนท์การแข่งขันให้ได้ลองทำงานจริง
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือทีม Being gimmic กับโซลูชั่น EduFlex แอพพลิเคชั่นที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้สอนได้มีพื้นที่ในการสอน พร้อมทั้งสร้างรายได้ และยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนสิ่งที่สนใจในราคาย่อมเยา
เวทีสร้างสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง
นอกจากรางวัลแล้ว เวทีนี้คือประสบการณ์ที่เยาวชนที่ร่วมประชันไอเดียบนเวทีนี้ยอมรับว่า START UP FOR BETTER SOCIETY HACKATHON 2022 เป็นสนามที่เปิดโอกาสให้ได้ลอง ลงมือทำ สร้างสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง และนำไปต่อยอดให้กับชีวิตในมิติต่าง ๆ ได้ในอนาคต
“START UP FOR BETTER SOCIETY HACKATHON 2022 เป็นเวทีที่ให้ความรู้ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างถูกวิธี ถูกขั้นตอน และมีแผนที่ชัดเจนจากผู้รู้ที่มีประสบการณ์มาให้คำแนะนำ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่จะนำไปทำสตาร์ทอัพของตัวเองในอนาคต”
“ได้รู้จักการค้นหาข้อมูลในการทำโปรเจ็กท์ ได้รู้จักการสื่อสารกับทีมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งงานกันทำตามความถนัดของแต่ละคน ทำให้ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองชัดเจน แล้วมาระดมสมองกันพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจ รู้จักการประเมินความเสี่ยง หาจุดเด่นลบจุดด้อยหลายๆ ด้านให้ธุรกิจเติบโตและดีต่อสังคมด้วย”
“ผมได้ Connection และความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ เหมือนเป็นคอมมิวนิตี้ และสังคมใหม่ที่หาได้ไม่ง่ายเลย ทำให้เราเรียนรู้มุมมองความคิดของแต่ละคน และนำมาพัฒนาให้มีความเป็นไปได้ในธุรกิจมากขึ้น”
“ได้ใช้ความสามารถของตัวเองมาลองสนาม รู้จักการทำเป็นทีมแบ่งงานกันให้ทันเวลาตามกำหนด”
รวี กล่าวทิ้งท้ายว่า AFTERKLASS และกิจกรรมการประกวดเป็นโครงการระยะยาวที่กสิกรไทยต้องการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเยาวชนในวัยมัธยมอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่นำไปประกอบอาชีพ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะออกแบบกิจกรรมที่ให้ความรู้การเงินแบบครบวงจรมากขึ้น
#AFTERKLASS #AFTERKLASSHACKATHON #BUSINESSKAMP #เทคนิคลงทุน #ธุรกิจ #สเปซของเด็กชอบเรียนรู้ #KBank