25 พฤศจิกายน 2565….ภารกิจทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจ TCP สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ การทำให้ เกิด “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ตามแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)” และมีเป้าหมายที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์ทุกประเภทของกลุ่มธุรกิจ TCP รีไซเคิลได้ 100% ในปี 2567 แต่การรีไซเคิลเช่นนี้ต้องทำทุกภาคส่วน การใช้เครื่องมือกิจกรรม CSR เข้าไปสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น และลงมือทำให้กับชุมชนจึงยังต้องดำเนินการ ซึ่งการลงพื้นที่เท่ากับการพบผู้บริโภคโดยตรง ได้ฟังเสียงสะท้อนจากชุมชน เช่น ที่บ้านหาดทรายดำ ต.หงาว จ. ระนอง ชุมชนลดการใช้ขวดพลาสติก เปลี่ยนมาซื้อเครื่องดื่มในกระป๋องมากขึ้น เพราะจัดการขยะง่าย และขายต่อราคาสูง ลดการสร้างขยะในทะเล แหล่งทำมาหากินของชุมชน
กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ชวนอาสาสมัคร TCP Spirit ในกลุ่ม “คณะเศษสร้าง” ลงใต้ ทำภารกิจปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ “แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ชูแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)” สร้างความเข้าใจและสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิด “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ตั้งเป้าหมายระยะยาว 3 ปี สร้างต้นแบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหลังการบริโภค ที่จังหวัดระนอง และเวียดนามที่กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินธุรกิจที่นั่นด้วย
“ธุรกิจที่เราทำอยู่เกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม ธุรกิจก็ต้องเติบโต บรรจุภัณฑ์เป็นหัวใจส่วนหนึ่งเพราะว่าปลายทางทิ้งเป็นขยะ ทุกอย่างต้องถูกคิดตั้งแต่ออกแบบว่าจะออกแบบอย่างไรเพื่อการรีไซเคิล 100% ผลิตแล้วโรงงานใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และสุดท้ายหลังจากผู้บริโภคใช้เสร็จแล้วเราเก็บกลับมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิล นับเป็นความท้าทาย เพราะการเรียกเก็บกลับมาคืนสู่ระบบนั้นยังทำได้ยาก”
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เริ่มต้นกล่าวถึงหน้าที่ของธุรกิจที่เดินหน้าเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยที่ธุรกิจยังเดินหน้าต่อได้
ทั้งนี้ ในการทำกิจกรรมวันดังกล่าว ด้วยวิชาเศษสร้าง 101: เรียนรู้การคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ทำให้ “เศษขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีคนต้องการได้ พร้อมนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ออกแบบการคัดแยกขยะในแบบฉบับของตนเอง และวิชาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นวงกลม: เรียนรู้วิธีเปลี่ยน “ขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีมูลค่า และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการวนกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตได้ หรือต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นงานฝีมือที่หลากหลาย ซึ่งภาคประชาสังคมที่ทำงานกับ IUCN บนบ้านหาดทรายดำได้อธิบายถึงลักษณะความแตกต่างขวดแต่ละประเภทที่ขายได้ ขายไม่ได้เพราะเป็นขวดที่มีสี
“เราเองก็มีขวดสี ซึ่งในการวิจัยพบว่าขวดสีจะขายดีกว่าแบบไม่มีสี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มธุรกิจ TCP มีนโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน จะรีไซเคิล 100% ในอีก 2 ปีข้างหน้า มีนโยบายถอดสีออกทั้งหมด อีก 2 สิ่งที่เรากำลังเร่งทำคือใต้ฝาขวดที่ซีลไว้ยังรีไซเคิลไม่ได้มีอีกนิดหน่อย รวมถึงซัน สแนค ตัวซองจะมีหลายเลเยอร์เพื่อป้องกันคุณภาพสิ่งของที่อยู่ข้างใน เรากำลังพัฒนาเป็นโมโนเลเยอร์ เพื่อรีไซเคิลได้ ตัวนี้ก็จะรวมใน 100% ที่เราจะรีไซเคิล”
สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เสริมข้อมูลว่า ขยะที่ลงสู่ทะเล 80% เป็นขยะมาจากครัวเรือน ส่วน 20% เป็นขยะที่มาจากการท่องเที่ยว ดังนั้นการบริหารจัดการขยะจะต้องเริ่มครัวเรือนก่อน
ไพบูลย์ สวาทนันท์ หรือโกบูลย์ แพทย์ประจำตำบลหงาว จ. ระนอง ฉายภาพให้เห็นถึงการสร้าง Mindset ให้กับชุมชนบ้านหาดทรายดำ ประเด็นขยะครัวเรือนที่หลุดลงไปในทะเล สร้างความเสียหายให้กับทะเลที่มีทรัพยากรนับ 100 ชนิด ทั้งสัตว์น้ำ หญ้าทะเล ป่าโกงกาง และสิ่งที่ตามมาคือรายได้ของแต่ละครอบครัวลดน้อยลง จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการขยะ เริ่มจากวิธีง่าย ๆ แบ่งขยะเป็น 3 ประเภท ขยะเปียกย่อยสลายได้ ขยะต้องเผาเท่านั้น และขยะแบบขายได้ โดยขอความร่วมมือจากอสม. และร้านค้า
ปัจจุบันชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋อง ซึ่งขายได้ราคาสูงที่สุด ทำให้ระหว่างร่วมกิจกรรมจะไม่เห็นกระป๋องถูกทิ้งไว้เลย ด้วยเหตุนี้โกบูลย์ชวนชุมชนหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ขายได้ราคาน้อยกว่า ส่งผลให้เครื่องดื่มที่เป็นบรรจุภัณฑ์กระป๋องมีขายมากกว่าประเภทอื่น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นข้อมูลอินไซต์ที่เป็น First Hand มาจากผู้บริโภคโดยตรง
สราวุฒิขยายความนวัตกรรมการผลิตกระป๋องสำหรับเครื่องดื่มเอเนอร์จี้ ดริงก์ ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผู้บุกเบิกในการลดขนาดคอและฝากระป๋องอะลูมิเนียม Stubby รายแรกของไทย พัฒนาจาก 206 มาเป็น 202 เป็นเจ้าแรกในตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานในประเทศไทยที่พัฒนาลดความหนาตัวกระป๋องอะลูมิเนียมของ Stubby, Sleek, Standard, Slim อย่างต่อเนื่อง จาก 0.275 มม. ขณะนี้เป็น 0.260 มม. และวางเป้าหมายให้เหลือ 0.245 มม. เร็วๆ นี้ พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มการใช้กระป๋องอะลูมิเนียม เพราะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทุกส่วน 100% มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าโลหะอื่น ๆ นำมาหลอมใหม่ และนำกลับมาใช้ได้ไม่รู้จบ ที่สำคัญใช้พลังงานในการรีไซเคิลต่ำกว่าการสกัดแร่ใหม่ถึง 95%
กิจกรรมตลอด 3 วันจะทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ลงมือเก็บขยะร่วมกับชาวบ้าน เข้าใจเรื่องการจัดการขยะในมิติต่าง ๆ เห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญและเริ่มลงมือแยกขยะ เพราะ “ขยะ” จะกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” ไม่ได้เลย หากไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผลที่ได้นี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจ
กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน “TCP Sustainability” ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ “Integrity”, “Quality” และ “Harmony” สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ด้วย 3 กลยุทธ์ ปลุกพลังแบรนด์สินค้า ปลุกพลังธุรกิจเติบโต และปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ