CSR

บ้านปู จัดค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17 สอดรับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้ธีม Climate Change, We Must Change – เริ่มเพื่อโลก” ชวน 50 เยาวชนลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหา และหาทางออกด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์

9 ธันวาคม 2565… กว่า 17 ปีที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ เพื่อเสริมพลังความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน กว่า 1,000 คน ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม-เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของบ้านปูที่ต้องการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักการ ESG ที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาตลอดการดำเนินธุรกิจกว่าเกือบ 40 ปี

สำหรับปีนี้ บ้านปูและมหิดลให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า และต้องเร่งหาทางป้องกัน ยับยั้ง และแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งนั่นก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งการจัดกิจกรรมก็เป็นไปตามแนวคิดที่บ้านปู เชื่อมั่นมาตลอดว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 17 ในปีนี้ มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 285 คน ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 50 คน จาก 50 โรงเรียนใน 40 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคมาเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการฯ โดยคัดเลือกจากการจัดทำคลิปวิดีโอนำเสนอแนวคิดและความเข้าใจเรื่องผลกระทบของ Climate Change ต่อชุมชนที่อาศัยและแนวทางการแก้ไขปัญหา จากการพูดคุยกับทีมบริหารโครงการฯ ของบ้านปู และอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกมาเข้าร่วมโครงการ เช่น เยาวชนส่วนใหญ่มาจากหลากหลายจังหวัดกระจายกันทั่วประเทศ บางคนมาจากครอบครัวที่ผู้ปกครองเป็นผู้นำชุมชน คอยปลูกฝังเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” จึงส่งเสริมให้ลูกมาเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการฯ เพื่อให้มีความรู้และประสบการณ์เพื่อไปศึกษาต่อในคณะสิ่งแวดล้อมฯ และต่อยอดในสายวิชาชีพครู เพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไปในอนาคต

รัฐพล สุคันธี

“เมื่อได้มารู้จักและทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีนปีนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือน้องๆ เก่ง และมีความตั้งใจที่จะมาเรียนรู้ รู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่ ในฐานะกำลังสำคัญของประเทศ สนใจและจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”  รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความประทับใจแรกที่ได้มาพบกับเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีน รุ่นที่ 17

ตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรมทั้ง 10 วัน เยาวชนต้องผ่านการเรียนรู้ภาคทฤษฎีเพื่อปูพื้นฐานผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม ก่อนเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2565 และเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างครอบคลุมและรอบด้านมากที่สุด โครงการฯ จึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย 5 พื้นที่ ประกอบด้วย

1.สำรวจชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ: เพื่อศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี รวมถึงเรียนรู้วิธีการปรับตัวของคนในชุมชน เมื่อน้ำท่วมผืนดินที่เคยอยู่อาศัย และต้องต่อสู้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านการพูดคุยกับตัวแทนชุมชน ณ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ
2.ล่องเรือชมหิ่งห้อย ณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม: เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเป็นถิ่นอาศัยของหิ่งห้อย
3.กิจกรรรมปลูกป่าชายเลน ณ โรงเรียนบางตะบูนวิทยา ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน จ.เพชรบุรี: เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชาวชุมชน ในการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน และร่วมทำกิจกรรมผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติเปลือกโกงกาง เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์วัสดุธรรมชาติในชุมชน
4.สำรวจอุทยานหินเขางู จ.ราชบุรี และ ถ้ำกระแซ จ.กาญจนบุรี: เพื่อเรียนรู้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโครงสร้างทางธรณีวิทยา ทั้งลักษณะภายนอกของภูเขาหินปูน และโครงสร้างภายในของถ้ำ
5.สำรวจพื้นที่ป่า ในบริเวณศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมวิมานดิน จ.กาญจนบุรี: เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ และทำกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ

กิจกรรมในการลงพื้นที่ รวมถึงใน Lab

“เราเริ่มต้นกันที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ พื้นที่ที่คนภายนอกอาจมองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งอ่าวไทยที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ แต่สำหรับค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ เรามาเพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ชายฝั่งในเชิงลึกว่าการที่พื้นที่บางส่วนของบ้านขุนสมุทรจีนกลายสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ เกิดจากสาเหตุอะไร และชาวชุมชนต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติอะไรบ้าง และพวกเขามีวิธีการรับมือ และปรับตัวอย่างไรเมื่อน้ำทะเลกัดเซาะผืนแผ่นดินที่เคยอยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ นับเป็นโอกาสที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและอาชีพของคนชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศภายในชุมชน” รัฐพลกล่าว

ดร.ธัญภัทร ศาสตระบุรุษ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17 ขยายความเพิ่มเติมว่า ปัญหาโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมแรงร่วมใจบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในวงกว้าง

“การจะแก้ปัญหานี้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กว่า 17 ปีแล้วที่คณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานร่วมกับทางบ้านปู เรามุ่งหวังว่าเยาวชนที่ได้มาสัมผัสประสบการณ์จากค่ายฯ จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งต่อความรู้ไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน ให้ได้รับทราบถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการอยู่อาศัยร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

ภายใต้รูปแบบกิจกรรมของโครงการค่ายเพาเวอร์กรีนทุกปี เยาวชนจะต้องนำความรู้ที่ได้จากทุกกิจกรรม มาสร้างเป็นโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการค่ายฯ และสาธารณชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยในปีนี้ น้อง ๆ จะต้องพัฒนาโครงงานฯ ภายใต้หัวข้อ “Climate Change, We Must Change – เริ่มเพื่อโลก” โดยโครงงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 พ่วงรางวัล “ขวัญใจมหาชน (Popular Vote)” ได้แก่โครงงานฯ “ผ้าอนามัย All Nature” มีแนวคิดว่า ผ้าอนามัยจากวัสดุธรรมชาติ ที่ลดระยะเวลาในการย่อยสลาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการนำเศษซากผลิตผลทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า ทดแทนการเผาทำลาย

ผู้ชนะในโครงการบ้านปู จัดค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17

พัด-ณภัทร ปรุงศรีปัญญา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเเก่นนครวิทยาลัย ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวว่า “ดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครับ เพราะการทำโครงงานชิ้นนี้ไม่ง่ายเลย แต่พวกเราทุกคนก็พยายามและตั้งใจกันมากเพื่อให้โครงงานออกมาดีที่สุด สำหรับการเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ ทำให้ผมและเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ส่วนตัวผมมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะที่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน จึงคิดว่าน่าจะสามารถนำความรู้จากค่ายไปปรับใช้ได้ นอกจากจะเริ่มต้นจากตัวเองได้แล้ว ก็ยังสามารถนำสิ่งที่ได้รับจากค่ายฯ ไปบอกเล่าและเป็นกระบอกเสียงต่อไป เพื่อให้คนอื่นได้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วยครับ”

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงานฯ “ship seagrass” กับแนวคิดสิ่งประดิษฐ์เรือปลูกหญ้าทะเลใต้ท้องทะเล ที่ช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับหญ้าทะเล สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมใต้ท้องทะเลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โครงงาน “ไบโอพลาสติกคลุมดินจากไคโตซาน เส้นใยผักตบชวาและมันสำปะหลัง” ที่มีแนวคิดในการนำเส้นใยจากธรรมชาติ มาผลิตเป็นแผ่นพลาสติกคลุมหน้าดินทางการเกษตร มุ่งลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายยาวนาน

นับเป็นความตั้งใจของบ้านปู ในการดำเนินโครงการค่ายเพาเวอร์กรีนมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปีที่ 17 เพื่อเป็นค่ายเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังนอกห้องเรียนในด้านวิชาการ และการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อน ๆ ที่มาจากต่างพื้นที่

“นอกจากการดำเนินโครงการฯ ในประเทศไทยแล้ว ในขณะเดียวกัน PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM) บริษัทลูกของบ้านปู ในประเทศอินโดนีเซีย ก็มีโครงการสิ่งแวดล้อมคล้ายๆ กันนี้เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมีต้นแบบจากประเทศไทย เรามีความตั้งใจว่าหากประเทศอื่น ๆ ที่บ้านปูเข้าไปดำเนินธุรกิจมีความพร้อม เราก็อยากจะขยายโครงการนี้ไปในแต่ละประเทศ สำหรับในไทย เรายังยืนยันที่จะสานต่อการทำค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีนต่อไปเพื่อสร้างเยาวชนคุณภาพออกไปเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลก”

รัฐพลกล่าวในท้ายที่สุดว่า เพราะบ้านปูเชื่อว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” เราจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายที่หาไม่ได้จากแค่ในห้องเรียน ควบคู่กับการปลูกฝังแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อดูแลโลกของเราให้ยั่งยืนสืบต่อไป สอดคล้องกับแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน (ESG Principles) ที่บริษัทให้ความสำคัญและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจมาตลอดเกือบ 40 ปี

 

You Might Also Like