CSR

กรณีศึกษา “เลิกแล้ง-เลิกจน” พลิกชีวิตเปลี่ยน ด้วยแนวทาง ESG4Plus

13-17 เมษายน 2566…กลยุทธ์ CSR ยังมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อตอบแนวทางปฏิบัติภายใต้แนวทางการทำงานด้วย ESG และสิ่งสำคัญภายใต้การบริหารงาน CSR จะมีส่วนช่วยให้ชุมชน สังคมได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ กับเรื่องราวต่าง ๆ ได้พบคนต่างอาชีพ ต่างท้องถิ่น ที่จะนำหลายสิ่งที่มีการแลกเปลี่ยนมาใช้ในการดำรงอยู่ สร้างอาชีพ ปลดหนี้ สร้างราย มีวิถีการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น

เอสซีจี ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่คิดแทน ไม่ทำแทน และไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง โดยชุมชนต้องลงมือทำด้วยตนเองใน 500 ชุมชนทั่วประเทศ “เลิกแล้ง-เลิกจน” ยกตัวอย่างที่จังหวัดลำปางและลำพูน ในประเด็นสิ่งแวดล้อมพลิกชีวิตเปลี่ยนชุมชนเลิกแล้ง-มีน้ำกิน น้ำใช้และทำการเกษตรตลอดปี จากการบริหารจัดการน้ำที่ได้รับองค์ความรู้เบื้องต้นมาจากการดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเครือข่ายร่วมสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และโครงการพลังชุมชน

ผู้ใหญ่คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้นำชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ความที่เป็นชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงกับโรงงานปูนลำปาง ตั้งแต่เริ่มก่อนตั้งปี 2537 และก็ร่วมด้วยช่วยกันหลายเรื่อง ตั้งแต่ช่วยกันดับไฟป่า เพราะพื้นที่แห้งแล้ง ขณะเดียวกันชุมชนเองก็มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ทำมาหากินลำบากเพราะต้องประสบทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก

ผู้ใหญ่คงกำลังอธิบายถึงประโยชน์ของการสร้างฝายในมุมต่าง ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม มีน้ำไว้ให้ชุมชนใช้สร้างอาชีพในการทำเกษตรปราณีต นำเมล็ดที่แห้งแล้วส่งขายบริษัทในประเทศ นอกจากชุมชนจะมีรายได้ดังกล่าวและหมดหนี้หมดสิ้นแล้ว ด้านหนึ่งจากการมีฝายมีน้ำบริหารจัดการน้ำ ก็มีสินค้าพืชผักอินทรีย์ และสินค้าแปรรูป ซึ่งได้เรียนรู้จากโครงการพลังชุมชน

“เอสซีจีชวนแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง-น้ำหลาก ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งได้องค์ความรู้มาจากหลายเครือข่าย มีการทำแก้มลิง สระพวง และระบบกระจายน้ำเข้าไร่นา ปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ทำเกษตรปราณีต เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่ม 4-5 เท่า ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท”

ในที่สุดชุมชน เลิกจน-ปลดหนี้ มีอาชีพ รายได้เฉลี่ยเพิ่ม 5 เท่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เช่น สบู่เหลวข้าวหอม ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านแป้นใต้ หรือข้าวกรอบผสมธัญพืชชนิดแท่ง ตราหอมละหนา รวมถึงพันธุ์ข้าวใหม่ ตราหอมละหนา

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี อธิบายเรื่องนี้ว่า

“เอสซีจีมุ่งลดความเหลื่อมล้ำสังคมด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง มีความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จากการทำฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้และเพื่อการเกษตร มีผลผลิต ทั้งยังต่อยอดไปสู่โครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าปัจจุบันขยายผลไป 500 ชุมชน กว่า 200,000 คน ใน 37 จังหวัด มีรายได้มั่นคง อาชีพยั่งยืน และยังแบ่งปันองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ด้วย 4 ความรู้คู่คุณธรรม ”

วีนัสช่วยยกตัวอย่างประเด็นทางสังคมที่เอสซีจีเลือกในทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยการมุ่งเน้นเรื่องการมีอาชีพให้กับคนหลายกลุ่ม เช่นผู้สูงอายุ ผู้พิการเป็นต้น

4 ความรู้คู่คุณธรรม ประกอบด้วย

-รู้เรา: รู้คุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างมูลค่าจากสิ่งรอบตัว
-รู้เขา: เข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง
-รู้จัดการ: วางแผนเพื่อการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยง
-รู้รัก-สามัคคี: สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งพร้อมช่วยเหลือและแบ่งปัน”

เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิงจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย จ.ลำปาง ซึ่งเป็นขนมขึ้นโต๊ะอาหารการประชุมเอเปค ประเทศไทยเมื่อปี 2565 กล่าวว่า

“สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้ โดยพลังชุมชนของเอสซีจี คือการสร้างจุดขายด้วยการสร้างอัตลักษณ์ เช่น ปรับคุ้กกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดกลายเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง และปรับบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าซื้อ เป็นของขวัญของฝาก รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน อย. นอกจากนี้ ได้เรียนรู้เทคนิคการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ ส่งต่อการจ้างงานให้กลุ่มเยาวชน ผู้สูงวัยใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ร่วมกัน โดยปรับพื้นที่บ้านรองรับจำนวนการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น”

ผู้สูงอายุ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตคุ้กกี้ไส้สัปปะรด แบรนด์ แม่หนิงภูดอย ลำปาง โดยสถานที่ก็อยู่ในบริเวณบ้าน

การส่งต่อโอกาสให้กลุ่มผู้สูงวัย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง คนพิการ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว  ญาติที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้มีรายได้น้อย ให้เห็นคุณค่าตัวเองและสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำสังคมยั่งยืน เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจาก อำพร วงค์ษา หรือครูอ้อ ผู้บริหารศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม จ.ลำพูน

เมื่อวิถีชีวิตต้องหักเห ลาออกจากครูมาดูแลครอบครัว ก็ได้นำความรักงานหัตถกรรม ชอบงานปักถึงขนาดปักเสื้อเป็นตัวตัวได้ ครูอ้อลงมือทำงานปักเพื่อขาย โดยไม่เคยขายของแบบนี้มาก่อน ตอนไปขายครั้งแรก ๆ ก็ยุ่งยากไม่น้อย แต่ถ้ากลัว ไม่กล้า ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้นเราต้องทำทันที เมื่อรู้ว่าลูกค้าจะซื้อ ต้องรีบนำเสนอเขาเลย ซึ่งในที่สุดสินค้าก็เริ่มขายได้ และงานที่กิดขึ้นก็จากฝีมือกลุ่มคนเปราะบาง

“งานแบบนี้เราจะไปหาคนแข็งแรงมาทำงานปักไม่ได้ เพราะเขามองว่าเป็นงานแค่เศษเงิน บางคนบอกว่าทำ 10 ปีก็ไม่รวย แต่เรารักอาชีพนี้และขายได้ เขาไม่ได้เป็นคนทำ ไม่เห็นคุณค่านี้ ถามว่าพอกินไหม ก็ประคองให้เราอยู่ได้ ดีกว่าที่เราไม่ทำอะไรเลย เราไม่เรียนรู้กับอะไรเลยแล้วเราจะได้สิ่งนั้นมาได้อย่างไร”

ครูอ้อเล่าต่อเนื่อง การพัฒนาคนที่มีจิตใจปกติสมบูรณ์ว่ายากแล้ว การพัฒนาจิตใจกลุ่มคนเปราะบางยากยิ่งกว่า เพราะต้องใส่ใจ และต้องให้เขามีเวทีของเขา รับฟังเขามาก ๆ เพื่อพัฒนาเขา เมื่อพัฒนาเขาได้แล้ว เขาจะเป็นเทรนเนอร์อีกคนหนึ่งมาช่วยได้ เมื่อเวลาที่ครูอ้อต้องไปหาสิ่งใหม่มาเติมเต็มให้กับงาน ซึ่งการขยายงานไม่ยากเท่ากับการพัฒนาบุคลากรให้อยู่กับเรา โดยจะมีการประชุมชนเดือนละครั้ง พัฒนาคน และผลิตภัณฑ์

ครูอ้อเล่าถึงการดูแลกลุ่มคนเปราะบางที่มีฝีมือทางหัตถกรรม จนกระทั่งสามารถมีสินค้าโชว์ขายที่ศูนย์ฯได้ และสินค้าเหล่านี้เสมือนสินค้าที่เป็น Limited Edition เพราะผลิตไม่กี่ชิ้น และการปักแต่ละชิ้นที่ปักฝีเข็มก็จะมีเอกลักษณ์ หรือแม้กระทั่งมองเห็นว่าลายที่เกิดฝีเข็มมีความเศร้า ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ครูอ้อที่จะถามไถ่ว่าเพราะเหตุใด และช่วยแก้ไขปัญหาให้

“ครูอ้อบริหารงานด้วยมินิเอ็มบีเอแบบไม่รู้ตัว ตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งใจนำงานปักออกวางขายนั่นคือการทำทันที เป็นคีย์เวิร์ดที่หนึ่ง ไม่ซื้อไม่เป็นไร เดี๋ยวลูกค้าจะบอกความต้องการเขาให้เรา แล้วเราไปพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า นี่คือคีย์เวิร์ดที่สอง Customer Centric ในทางธุรกิจยากมาก ต้องจ้างคนไปวิจัยว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร นอกจากนี้ ยังวิชาแบรนด์ดิ้ง การสร้างอัตลักษณ์จากตัวตนที่เรามีบนสินค้า แล้วก็ตามมาด้วยเรื่อง HR ที่ครูอ้อสร้างตัวแทน เพื่อส่งต่อ แล้วเอาเวลาไปสร้างเครือข่าย เป็นคีย์เวิร์ดที่สามและสี่”

วีนัส ถอดบทเรียนการทำงานครูอ้อมาถึงคีย์เวิร์ดที่ห้า Deep Listening วิชาสุนทรียสนทนา เอสซีจีจะสอนกับคนที่เป็น Leader ว่า ต้อง Deep Listening ไม่ได้ฟังด้วยหู แต่ฟังด้วยตา ด้วยหัวใจ ฟังสิ่งที่เขาพูดเพื่อให้เข้าใจเขา รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เราถึงจะเข้าใจคน

“วิชานี้ต้องฝึก เพราะว่าคนเป็นนายต้องแบบครูอ้อ พูดให้น้อย ฟังให้มาก ให้กำลังคนพูด สิ่งที่ครูอ้อเล่าคือเอ็มบีเอ วิชาบริหารธุรกิจ ที่ใช้ทุกวันในองค์กรขนาดใหญ่ ชาวบ้านนำมาปรับเป็นมินิเอ็มบีเอแบบชาวบ้านคือ สิ่งใดที่ชาวบ้านทำจากความชำนาญและเป็นสิ่งที่รัก หมายถึงต้นทุน ประสิทธิภาพเกิดแล้ว การทำผ้าทุกชิ้นออกมาขาย หมายถึง QCเกิดแล้ว Kaizen เกิดแล้ว เป็นต้น เมื่อนำไปขาย ระบบการขายของชุมชน ทำให้เกิดรายรับได้มาอย่างชัดเจนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ระบบบัญชีเกิดแล้ว จากนั้นจะรู้แล้วว่าจะลงทุนกับผ้าอย่างไร เพราะฉะนั้น ในการเรียนในโครงการพลังชุมชนแล้วบอกว่า รู้คุณค่า ก็เท่ากับตอบกระบวนการของทางเอ็มบีเอ”

ภายใต้โจทย์ทางสังคม ด้วยแนวทาง ESG4Plus “โครงการพลังชุมชน” ของเอสซีจี สอนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ด้วยการทำงานที่ตัวเองรักและถนัด หลากหลายที่คนในชุมชนทำได้ ช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังได้แบ่งปันความรู้ให้คนในชุมชนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำ 
พึ่งพาตัวเอง และก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สร้างอาชีพ เพื่อสร้างงานให้คนในชุมชน

“เอสซีจี เชื่อมั่นว่าหากชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรม มีความรักสามัคคี และบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการวางแผน ทำให้มีน้ำกิน-ใช้ ทำการเกษตรและมีผลผลิตตลอดปี ขณะเดียวกันยังต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ทำให้มีรายได้ อาชีพมั่นคง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำสังคมได้อย่างยั่งยืน” วีนัส กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like