22 มิถุนายน 2566… เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เห็นความสำคัญของการฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จึงขับเคลื่อนภารกิจพิทักษ์ทะเลร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน ชุมชน เยาวชน รวมถึงพนักงานจิตอาสามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ The Sea Saver ผู้พิทักษ์ทะเล
ทั้งนี้ เนื่องในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา SCGC พร้อมยกระดับการจัดการปัญหาขยะทะเลด้วยนวัตกรรม โดยนำความเชี่ยวชาญมาสร้างสรรค์ “นวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ทะเล” (Innovation for Better Marine) ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการ เชื่อมโยงตั้งแต่การจัดการและคัดแยกขยะจากบก ปัญหาขยะที่หลุดรอดสู่แม่น้ำ การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ และบ้านปลา SCGC พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันพิทักษ์ทะเลไทย ผ่านแนวคิด 3 พร้อมเพื่อท้องทะเล ได้แก่
– “พร้อมใจ จัดการขยะให้ถูกต้อง” ที่ผ่านมา 80% ของขยะในทะเลมาจากบนบก จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งที่บ้าน โรงเรียน สำนักงาน ฯลฯ เพื่อลดปริมาณขยะที่อาจหลุดรอดสู่แหล่งน้ำ ตามแนวคิด #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก ซึ่ง SCGC ได้ส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังชุมชนผ่าน “โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้และเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์ และรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
ปัจจุบันโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ มีชุมชน วัด โรงเรียน กลุ่มประมง โรงแรม และโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 95 หน่วยงาน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2565) นำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 250,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 513,655 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
-“พร้อมเก็บ เก็บขยะที่หลุดรอดสู่ชายหาดและแม่น้ำลำคลอง” ด้วยการร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ ดักจับขยะที่หลุดบริเวณปากแม่น้ำลำคลองก่อนรั่วไหลออกสู่ทะเล พร้อมเชิญชวนจิตอาสาพิทักษ์ทะเลร่วมกันเก็บขยะจากทุ่นฯ และชายหาด โดยในแต่ละปีสามารถเก็บขยะชายหาดได้เฉลี่ยกว่า 3,000 กิโลกรัม
-“พร้อมเติบโต เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ” การปลูกป่าชายเลนซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชั้นยอด ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นปราการด่านหน้าดักกรองขยะไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล รวมถึงป้องกันน้ำเค็มไหลไปยังชุมชนที่ทำเกษตร ส่งผลให้ชุมชนโดยรอบประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ ด้วยนวัตกรรมบ้านปลา SCGC จากท่อ PE 100 ที่เหลือใช้จากกระบวนการทดสอบขึ้นรูปในโรงงาน เป็นที่พักพิงของสัตว์น้ำวัยอ่อนและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านชายฝั่ง
ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2566) SCGC ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมภาคีเครือข่ายในพื้นที่กว่า 2,500 คน ร่วมปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ จ.ระยอง ไปแล้วจำนวน 181,800 ต้น คิดเป็นพื้นที่รวม 260 ไร่ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดปัญหาโลกร้อน ได้ถึง 2,272 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม SCGC อธิบายถึงภารกิจของ SCGC ในการพิทักษ์ทะเลไทย ภายใต้โครงการ The Sea Saver ว่า สืบเนื่องจากระยองเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนค่อนข้างหลากหลายทั้งเกษตร ประมง ท่องเที่ยว ดังนั้นการเข้าไปทำกิจกรรมกับชุมชนจำเป็นต้องรู้ว่าชุมชนต้องการความช่วยเหลือแบบไหน SCGC ทำเรื่องความยั่งยืนมาตลอด 40 ปี โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็น Core Value
“เรามี DNA เรื่องการดูแลสังคมอยู่ในความเป็น SCGC มาตั้งแต่ต้น ซึ่งการที่เรามีเรื่องของ Core Value มานาน การต่อยอดไปสู่เรื่องของการทำ SD หรือ ESG ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ SCGC นำเรื่องของ ESG เข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ของการทำธุรกิจ เช่น สินค้าหรือนวัตกรรมของเราต้องแสดงได้ว่าตอบโจทย์เรื่อง Green อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมุมเรื่องของการลดการใช้ทรัพยากร การรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือการลดก๊าซ CO2 อย่างเราทำธุรกิจแบบ B2B เราก็ต้องทำให้มั่นใจว่าสามารถทำให้ลูกค้าใช้วัตถุดิบได้น้อยลง ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นต้น
The Sea Saver เกิดจากการลงพื้นที่ พูดคุยกับชุมชนประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นเรือเล็ก แล้วพบปัญหาเรื่องของการจับปลาได้น้อยลง รวมถึงปัญหาขยะทะเล SCGC จึงเข้าไปหารือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และชวนกันทำบ้านปลาโดยนำประมงพื้นบ้านมาร่วมด้วย เพราะเรามองว่าถ้าจะเอาอะไรเข้าไปในชุมชน คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และเปลี่ยนความรู้กัน นอกจากนี้เราก็มองเห็นว่ามีปัญหาขยะชายหาด จึงคิดช่วยกันเก็บขยะชายหาดด้วยอีกหนึ่งกิจกรรม โครงการ The Sea Saver จึงเกิดขึ้นจากการที่เรามองเห็นปัญหาในชุมชนและเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข”
ผลตอบรับจากชุมชน คือ การทำให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เมื่อสัตว์เหล่านี้โตขึ้น กลุ่มประมงเรือเล็กก็สามารถจับไปขายหรือรับประทานได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่ม จากการเก็บข้อมูลของ SCGC รายได้ของกลุ่มประมงขนาดเล็กเพิ่มเป็นปีละ 9 ล้านบาท
“หลังจากที่เราไปวางบ้านปลา ปริมาณสัตว์น้ำมีมากขึ้น มีความหลากหลายทางชีวภาพตอนนี้ถึง 177 ชนิด ระบบนิเวศดีขึ้น ตอนนี้ถ้าไปคุยกับชาวประมงเขาจะบอกเลยว่าทะเลเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต เขาอยากได้สัตว์ทะเลอะไร ออกทะเลไปก็ได้มา ซึ่งชาวประมงเหล่านี้ด้วยความที่เขาเป็นชาวบ้านที่เชื่อในแนวคิดเรื่องของความพอเพียงเวลาเขาจับปลาเขาก็จะไม่จับจำนวนมาก แต่จับเท่าที่เขาต้องการจับแบบพอมีพอกิน”
มาถึง “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” นวัตกรรมที่กันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเล เป็นหนึ่งในนวัตกรรมใช้ภูมิปัญญาของชาวประมงมาสร้าง โดยลักษณะการทำงานใช้หลักการการไหลเข้าออกของทิศทางน้ำ ทำให้ขยะสามารถไหลผ่านประตูสองข้างเข้าไปถูกกักเก็บในตัวทุ่น ทุ่น 1 ชุดสามารถกักเก็บขยะในน้ำได้ 700 กิโลกรัม ปัจจุบันมีการวางอยู่ที่ 17 จังหวัด ตามปากแม่น้ำหลัก ที่ไม่ขวางทางเรือ และในโอกาสวันทะเลโลก SCGC มีการส่งมอบเพิ่มอีก 25 ชุดให้กับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปวางที่ปากแม่น้ำเพิ่มเติม โดย 3 ปีที่ทำโครงการนี้มา สามารถเก็บขยะได้แล้วถึง 80 ตัน
สำหรับโครงการ The Sea Saver อีกหนึ่งกลไกเล็ก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้โครงการเดินหน้าคือพนักงานจิตอาสาของ SCGC ซึ่งถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้กิจกรรมเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง พรพงษ์ เกรียงไกรอุดม Climate Resilence Analyst, SCGC เล่าให้ฟังว่าองค์กรมีการสนับสนุนด้าน CSR และมีกิจกรรมให้ทำทั้งปี รวมถึงมีแต้มคะแนนสะสมให้กับพนักงาน โดยที่พนักงานก็สามารถมีส่วนร่วมกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นการเก็บขยะ หรือช่วยเหลือชุมชน เช่น การทำอุปกรณ์ทุ่นลอยน้ำที่ใช้ดักขยะ หรือบ้านปลาเอสซีจีซี
“กิจกรรมที่ผมเข้าไปทำส่วนมากจะอยู่ใกล้ ๆ กับโรงงาน เราสมัครมาทำเอง ที่ระยองมีกิจกรรมให้ทำค่อนข้างมาก มีเมนูส่งมาให้ตลอดว่าเดือนนี้มีอะไร เราอยากร่วมกิจกรรมไหน ความรู้สึกที่อยากไปช่วยชุมชนเพราะมองว่าอยากเข้าไปสร้างประโยชน์ให้ชุมชน เอานวัตกรรมต่าง ๆ ที่เรามีไปช่วยเหลือให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการที่เราเข้าไปทำ ชุมชนเขาก็ยินดีต้อนรับเรา อยากให้เรามาบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เวลาที่เราออกไปทำกิจกรรมเหล่านี้เราจะได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ที่อยู่คนละแผนก นอกจากนี้การที่เราได้ช่วยเหลือคนเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เป็นการเผื่อแผ่ให้คนรอบข้าง โดยที่เรามองว่าถ้าคนรอบข้างอยู่ได้ เราอยู่ได้ สังคมก็น่าอยู่มากขึ้น”
การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ทะเล ทั้งบ้านปลา และทุ่นกักขยะลอยน้ำของ SCGC ภายใต้โครงการ The Sea Saver ในครั้งนี้ ไม่ได้แค่ช่วยลดปัญหาขยะทะเล เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำการเป็นองค์กรนวัตกรรมของ SCGC ที่พร้อมใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามและเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของประมงพื้นบ้านและชุมชนริมชายฝั่งอีกครั้ง