CSR

การตลาดรอดจน กรณีศึกษา : ปลาส้ม,น้ำหมักเอนไซม์ แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ตอบเทรนด์รักษ์สุขภาพ

8 กรกฎาคม 2566…เอสซีจี เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสส่งต่อความรู้คู่คุณธรรม ผ่าน “โครงการพลังชุมชน” มุ่งให้ชุมชนเปลี่ยนวิธีคิด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เสริมแกร่งการตลาด เสิร์ฟสินค้าหลากหลายมัดใจลูกค้าเป็นการตลาดรอดจน หนุน 140 ชุมชนสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น เลิกจนยั่งยืน

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวว่า

“เอสซีจี มุ่งแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำสังคม ผ่านโครงการพลังชุมชน อบรมเสริมความรู้สร้างอาชีพยั่งยืน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เน้นพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมชุมชนให้เห็นคุณค่า และพัฒนาศักยภาพตนเอง แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เข้าใจลูกค้าและตลาดก่อนผลิตและจำหน่าย  บริหารจัดการความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน  ปัจจุบัน พลิกชีวิต 140 ชุมชน กว่า 10,000 คน ใน 14 จังหวัด ปลดหนี้ มีรายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง ทั้งต่อยอดความรู้จนสามารถพัฒนาเป็นการตลาดรอดจนซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว พร้อมแบ่งปันความรู้ขยายเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

อีก 1 ตัวอย่างเครือข่ายที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี มี 2 ผู้ประกอบการที่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองผสานกับองค์ความรู้จากโครงการพลังชุมชน จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับชุมชนทุกระดับ

ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ หรือเก๋ ประธานกลุ่มวิสาหกิจวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี (ปลาส้มวังธรรม) กล่าวว่า “โครงการพลังชุมชนสอนให้มีความรู้ ทำการตลาดครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (ผลิต) – กลางน้ำ (แปรรูป) – ปลายน้ำ (จัดจำหน่าย) ซึ่งช่วยลดต้นทุน มีแหล่งวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม และควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพสูง กลายเป็น 3 หลักการตลาดรอดจน”

พื้นที่บางส่วนกลุ่มวิสาหกิจวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร (ปลาส้มวังธรรม) เป็นทั้งศูนย์การเรียรู้ การจัดการและระบบจัดเก็บแบบห้องเย็น ส่วนเครือข่ายของกลุ่มก็จะสร้างรายได้ด้วยการเลี้ยงปลาซึ่งถือเป็นต้นน้ำของสินค้าปลาส้ม

หลักการตลาดรอดจนประกอบด้วย

1.ทำสิ่งที่ถนัด นำความชอบและความเชี่ยวชาญการทำอาหาร มาแปรรูปปลาส้มเพื่อเพิ่มมูลค่า
2. มัดใจลูกค้า คิดค้นปลาส้มหลากหลายสูตร เช่น สูตรโบราณ สูตรดั้งเดิม สูตรพริกไทยดำ สูตรอูมามิ (ไร้น้ำตาล) และนักเก็ตปลาส้ม เพื่อเสริฟของอร่อยให้ลูกค้าจนกลายเป็นขาประจำ
3. เน้นตลาดออฟไลน์ จำหน่ายสินค้าในตลาดรอบชุมชนรัศมี 45 กิโลเมตร จึงรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี

“เรานำพฤติกรรมการบริโภคมาปรับปรุงคุณภาพปลาส้มให้ดีขึ้นขณะเดียวกันส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นให้แก่นักเรียนโรงเรียนน้ำโสมวิทยาคม นำไปทำเป็นโครงงานวิชาการเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ”

อรณิชชา พิทักษ์จารุพันธ์ ครูที่ปรึกษา และนักเรียนโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี

1 ในกลุ่มเยาวชนโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม อุดรธานี ยอมรับว่า Mindset เกี่ยวกับปลาส้มถูกเปลี่ยนเมื่อได้ทำโครงงานดังกล่าวนี้

“จากเดิมเราคิดว่า ปลาส้มคืออาหารโบราณมาก จนกระทั่งได้เรียนรู้การนำวัตถุดิบรอบตัวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม มีปลาส้มหลากหลายสูตร สิ่งเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลต้นแบบโครงการพลังชุมชน ทำธุรกิจปลาส้มครบวงจร มาทำเป็นโครงงานวิชาการเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ นอกจากนี้โรงเรียนยังได้บรรจุโครงการฝึกวิชาชีพเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน”

ยศวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นการถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ ปลูกฝังทักษะการประกอบอาชีพให้เยาวชนที่บ้านเกิด เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางประกอบอาชีพในอนาคต และมีโอกาสที่จะทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ที่มีองค์ความรู้และถนัดในเรื่องของ เอนไซม์ และโพรไบโอติกส์ ในผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ ทำความสะอาด ปรับอากาศ และปศุสัตว์

พื้นที่บางส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ สวนปลูกสมุนไพร สถานที่เก็บน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพร ซึ่งเสมือนหัวใจขององค์ความรู้ ส่วนสิ่งก่อสร้างสำหรับขยายงานภาคกานผลิตก็เริ่มเสร็จเรียบร้อย

เขียว จอดนอก หรือบัว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ บ้านหนองเป็ด อ.เมือง จ.อุดรธานี มีความเข้าใจมีองค์ความรู้ทั้ง เอนไซม์ และ โพรไบโอติกส์ มาจากประเทศเยอรมนี ในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นประมาณ 20 ปี เมื่อกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดก็นำความเชี่ยวชาญมาปรับใช้กับสมุนไพรพื้นบ้านไทย

“เราได้นำมาแปรรูปเป็นน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพร ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และตอบเทรนด์ลูกค้าที่รักสุขภาพ ด้วยแบรนด์ CELINA’S เช่น ผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ ทำความสะอาด ปรับอากาศ และปศุสัตว์ รวมถึงตอนนี้ลูกค้าต่างชาติ มีความสนใจที่จะทำน้ำหมักเอนไซม์สำหรับคนมีปัญหาเท้าเหม็น ซึ่งก็กำลังปรับสูตร”

เขียวยอมรับว่า โครงการพลังชุมชนได้สอนให้นำความต้องการลูกค้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนผลิตและจำหน่าย ปัจจุบันได้ก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ บ้านหนองเป็ด เป็นแหล่งรวมความรู้ และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร พืชผักผลไม้พื้นบ้าน เพื่อชุมชนนำไปสร้างอาชีพ ทำเป็นสินค้าท้องถิ่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เอสซีจี เชื่อมั่นว่า หากชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ สร้างสรรค์สินค้าจากผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่หาได้ในท้องถิ่นให้ตรงใจลูกค้า ตามความต้องการของตลาด ช่วยสร้างอาชีพ รายได้เพิ่ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน และลดเหลื่อมล้ำในสังคม” วีนัส กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like