23-24 ธันวาคม 2566…เมื่อ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 เสริมสร้างสมรรถนะของนักเรียนมัธยมปลาย ให้มีองค์ความรู้ใหม่และทักษะใหม่ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ผ่านกิจกรรมเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Hackathon โดยธนาคารกสิกรไทยร่วมกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ได้การประกาศทีมที่ชนะเลิศ คือทีมเก๋ากี่ – How are you Online Application Platform ที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน เป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับ “คน” เป็นหลัก ใช้เทคโนโลยีเป็นเพียง “เครื่องมือ” เท่านั้น
ทั้งนี้ หนึ่งในทีมเก๋ากี้-แอปฯ กล่าวว่า “Sustainability คิดว่าเป็นสิ่งที่ตอนนี้ในการทําธุรกิจเราควรที่จะคํานึงถึงแล้ว และก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งใน Community แอปฯ เพื่อผู้ที่ต้องการที่พึ่งทางใจ หมุนเวียนกันได้ หมายความว่าการที่มีคนคนนึงที่มีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตแล้วเขาสามารถที่จะเผยแพร่ไปในวงล้อนี้ โดยเขาอาจจะไม่ต้องใช้แอปฯ แล้วก็ได้ แต่เขาก็สามารถเผยแพร่พลังเชิงบวกได้”
คุณรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า AFTERKLASS ตลอด 10 ปีที่เกิดขึ้นมา เป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยผ่านหลักสูตรและแคมป์การเรียนรู้ด้านการเงินและทักษะที่หลากหลาย ตอบสนองความสนใจและไลฟ์สไตล์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยรูปแบบที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน
“เราอยากจะให้เยาวชนมีความรู้มีความเข้าใจในการทําธุรกิจ และเราก็มองว่าการทําธุรกิจอย่างเดียวไม่สามารถที่จะช่วยสร้างสังคมให้ยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นการสร้างธุรกิจก็ต้องมุ่งเน้นเป็นเรื่องของการช่วยดูแลสังคมด้วย Business KAMP ปีนี้ ผู้เข้าร่วมฯ ต้องคิดนวัตกรรมภายใต้โจทย์ด้านความยั่งยืนใน SDGs 3 ข้อคือ ด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คน (Health and well-being of people) ด้านคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม และเมืองอัจฉริยะ (Quality of life, community, society, and smart city) และด้านสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ (Environment and nature)สอดคล้องกับแนวทางการทำงานด้วย ESG ของธนาคาร”
ในรอบสุดท้าย 6 ทีมประกอบด้วย
1. ซักเสร็จฟู่ Boney แอปพลิเคชันโกนิโอมิเตอร์สำหรับวัดระยะการเคลื่อนที่ของข้อต่อในรูปแบบภาษาไทย
2. เก๋ากี่ How are you Online Application Platform ที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน
3. AngsanaNew River Ranger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะทางน้ำเพื่อลำคลองสะอาด
4. จรวดทางเรียบ Heet Heet รองเท้าให้ความอบอุ่นบรรเทาอาการหนาวข้อและขา สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
5. Passinion Smart Trash Point ถังขยะที่สนับสนุนการแยกขยะภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมี Feature สะสมแต้ม
6. Flying Turtle Track Point Sensor เซนเซอร์บนหมวกกันน็อคนิรภัยและแอปพลิเคชันเพื่อจูงใจผู้ขับขี่จักรยานยนต์ให้สวมหมวกกันน็อคมากขึ้น
คุณรวีขยายความต่อเนื่องการแข่งขันในปีนี้ ได้เพิ่มความไปได้ในแง่มุมธุรกิจ ทั้งด้านความคุ้มทุน การวิเคราะห์ตลาด และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาไอเดียนวัตกรรมจนเกิดเป็นแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ MVP (Minimum Viable Product) เพื่อให้สามารถนำไปทดสอบคุณสมบัติกับผู้ใช้จริง
“จะมีการเปรียบเทียบว่าผลิตภัณฑ์ของจริงในตลาด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของแต่ละทีมเป็นเรื่องสําคัญคือต้องหาอินไซด์ให้ได้ของที่คุณขายต้องแตกต่าง อะไรคือจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของคุณ เรื่องนี้เยาวชนแข่งขันต้องคิดอย่างลงลึกเลยนะครับ โดยเฉพาะการคิดผลิตภัณฑ์ที่ช่วยคน สังคม มีดีเทลมากเลยว่า จะทําได้จริงหรือไม่ แล้วใช้การลงทุนแค่ไหน คุณต้องปรึกษาใคร หาพาร์ตเนอร์หรือเปล่า เป็นโจทย์ที่สําคัญที่ต้องทํา และทุกทีมก็ทำได้ออกมาดี” รวีกล่าว
มาถึงช่วงเวลาในการ Pitching ตัวอย่างทีมเก๋ากี่ How are you Online Application Platform
….วันนี้คุณเป็นอย่างไรบ้างคะ เหนื่อยไหม มีอะไรอยากเล่าให้เราฟังบ้างไหมคะ ในวันที่คุณมีความสุข คำถามเหล่านี้เป็นคำถามธรรมดา แต่ในวันที่คุณเศร้า คุณเหงา วันที่คุณไม่รู้จะถามใคร คำถามเหล่านี้อาจจะเป็นคำถามที่คุณอยากได้ยินมากที่สุดก็เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยินคำถามแบบนี้…ปัญหาสุขภาพจิต สำหรับบางคนฟังแล้วเป็นเรื่องไกลตัว แต่ท่านทราบไหมว่าหลายปัญหาที่ประสบอยู่แต่ละวันสามารถเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ โดย 50%ของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่น่าตกใจคือ ในวัยรุ่นไทย 5 คน จะมี 1 คนที่คิดอยากฆ่าตัวตายค่ะ ซึ่งมีวัยรุ่นไทยมากถึง 1.4 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นคนใกล้ตัว หรือลูกหลานของใครบางคน ที่เขาอาจจะเติบโตได้ตามความฝัน เพื่อนสนิทของหนูก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่โชคดีที่เขาไม่เป็นอะไรมาก ถ้าพวกเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด นี่เป็นเหตุผลที่เราสร้าง How are you Application Platform ที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน…
“เราแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ เรามี Passion กับโครงการนี้ ความยากของโครงการเมื่อเป็นเรื่องสุขภาพจิต เป็นเรื่องที่เราต้องหาข้อมูลกันมาก ต้องละเอียด เชื่อมต่อกับหลายฝ่าย เพื่อช่วยไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เราจะได้ส่งต่อการดูแลที่ถูกต้องให้เขา แต่หลังจบงานเรามี Passion ที่จะทำงานนี้ มีหลายเรื่องที่จะต้องดูเพิ่มเติมต่อไป”
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS และคุณปรัชญา โมรา ผู้ก่อตั้งเพจ “ไปให้ถึงร้อยล้าน” หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวถึงทีมเก๋ากี่ว่า
“น้อง ๆ ถ่ายทอดรายละเอียดงานที่ทำมา วิเคราะห์ปัญหาค่อนข้างชัดสำหรับเรื่องคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต การมีชุมชนและสร้างอิมแพค การที่เรารู้สึกว่ามีชุมชนบางชุมชนซึ่งเป็นชุมชนที่ดีและเปิดใจรับฟังคุณนะ ผมว่ามันจะสร้างอิมแพคให้กับภาพรวมของสังคมได้ดีขึ้นครับนี่คือโอกาสที่ได้เราเห็น โดยทุกปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มจากคนก่อน ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องคนได้จะมีโอกาสสร้างจุดอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น”
มุมมองต่อเนื่องของ 1 ใน 2 กรรมการกล่าวว่า อยากชวนคิดว่า จริง ๆ แล้วน้อง ๆ กลุ่มนี้เขาไม่มีความตั้งใจที่ต้องสร้างเป็นแอปฯ น้องเขาอยากจะสร้างชุมชนที่จะมีคนรับฟังสําหรับคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต หากมีพื้นที่ มีคนรับฟังเขา ก็จะเป็นพื้นที่ที่เขาวางใจได้อุ่นใจได้แล้วธุรกิจจะตามมาเมื่อมีชุมชน
“เคสของ How are you Online Application Platform เมื่อสามารถสร้างพื้นที่ และมีความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย นับเป็น Challenge โอกาสที่เราคิดว่าน้องต้องไปทําต่อ และคิดว่ามีโอกาสที่น้องจะสร้างอิมแพคให้กับสังคม และสามารถสร้างชุมชนคุณภาพขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งนี้คือที่กรรมการเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มที่คนก่อน แล้วเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ตามมาที่หลัง ซึ่งทีมนี้ได้ตอบชัดในประเด็นนี้”
ที่กล่าวข้างต้นคือความโดดเด่นของทีมชนะเลิศ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม AngsanaNew โครงการ River Ranger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะทางน้ำเพื่อลำคลองสะอาด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Flying Turtle โครงการ Track Point Sensor เซนเซอร์บนหมวกกันน็อคนิรภัยและแอปพลิเคชันเพื่อจูงใจผู้ขับขี่จักรยานยนต์ให้สวมหมวกกันน็อคมากขึ้น
“ส่วนทีมที่ได้อันดับ 2และ3 มีการทําความเข้าใจปัญหาการศึกษาปัญหาในเชิงลึกการออกไปถามคําถามของ Stakeholder ในปัญหามากกว่าทีมอื่น และสามารถสื่อสารให้เราเห็นปัญหาหลายๆมุมแต่ยังไม่เห็นความเป็นธุรกิจเท่ากับทีมชนะเลิศ แต่ในตัวของ Product เขาเองหรือจังหวะที่เขาพัฒนาเข้าไปเรียนรู้ น้อง ๆ พยายามที่จะฟังให้เยอะ ซึ่งเด็กปัจจุบันควรที่จะเรียนรู้ที่จะฟังคนรอบข้างให้มากกว่าสิ่งที่เราคิดในใจว่า คือคําตอบที่ถูก เพราะโลกนี้คือความหลากหลายและเราอยู่ร่วมกัน”
คณะกรรมการได้ย้ำถึงทั้ง 6 ทีมที่อยู่บนเวทีว่า ทุกทีมมีความเก่ง กล้าที่จะมีไอเดียและประสบการณ์ใหม่ พร้อมเปิดรับการรับฟังในแง่มุมต่าง ๆ จากคนที่มีประสบการณ์ กล่าวได้ว่าวันนี้เป็นการติดกระดุมเม็ดแรก เป็นก้าวแรกที่สําคัญ แล้วจะเปลี่ยนอะไรหลายอย่างในตัวน้อง ๆ สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ที่ทําให้น้อง ๆ ทําได้จริง ๆ ขึ้นมา
“หลังภารกิจ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 จบลง เราเห็นชัดเจนว่า เมื่อเราพูดถึงเรื่องการที่จะช่วยเหลือสังคม เด็กรุ่นใหม่เขามี Passion ในการที่เขาอยากทําอะไรเพื่อสังคมจริง ๆ ทั้ง 6 ทีมสุดท้าย จะเห็นเลยว่าล้วนแต่มีช่วยเหลือสังคมทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อกนิรภัยที่สามารถจะ Link ไปถึงโรงพยาบาลได้เลยมีเรื่องการทําฮอตไลน์ หรือแอปฯ ที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้หรือทําอะไรต่าง ๆ ในปีนี้เด็กก็เริ่มมีแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ดี”
รวีกล่าวในท้ายที่สุด AFTERKLASS นอกจากเสริมทักษะให้เด็กเก่งทางธุรกิจแล้ว ต้องการให้เด็ก ๆ เป็นคนดีที่ช่วยเหลือสังคม เพราะนี่คือ Generation ต่อไป นับเป็นเวทีที่มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาจะทำงานร่วมกับ AFTERKLASS ต่อไป
คลิกอ่านเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวข้อง
- 6 ทีมสุดท้าย AFTERKLASS Business KAMP เยาวชนจะทำอะไรให้สังคม
- กสิกรไทยเปิดเวทีเยาวชน AFTERKLASS Business KAMP ปี 4 ชิงเงิน 2 แสนบาทภายใต้ 3 โจทย์ด้านความยั่งยืน
–