25 มกราคม 2567….นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนขยายผลชุมชนให้มีการจัดการขยะมูลฝอย และสร้างอำเภอบ้านโป่งให้เป็นอำเภอต้นแบบระดับประเทศ เพื่อเป็นพลังสำคัญสู่การขยายผลการจัดการขยะอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนอื่น ๆ
นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ พร้อมลงมือทำอย่างต่อเนื่องสำหรับงานทางสังคมที่ SCGP ได้ร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนการจัดการขยะอำเภอบ้านโป่ง โดยยึดแนวคิดการจัดการทรัพยากร และดำเนินงานที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิด SCG ESG 4 Plus และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ใช้ให้น้อย ใช้ให้นาน และนำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยร่วมส่งเสริมความรู้ด้วยการจัดอบรม และส่งทีมงานพี่เลี้ยง (Facilitator) ไปช่วยในแต่ละพื้นที่ให้กับชุมชนในเรื่องของการคัดแยกขยะ เพื่อหมุนเวียนนำขยะที่ดีกลับมาเป็นทรัพยากรใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า
น.ส.ชยาภัสร์ จำปาทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านหัวบ้านใหม่ ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ก่อนที่จะเริ่มเข้าโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ในชุมชนมีถังขยะตั้งไว้ ก็จะทิ้งขยะทุกอย่างรวมไว้ในถังเดียวกัน การทำลายคือการเผาขยะ ซึ่งมีปัญหาเรื่องกลิ่น ควัน ในที่สุดต้องประชุมหารือปัญหาในหมู่บ้านที่จะต้องแก้ไขเรื่องนี้ จึงเป็นการประชุมกันระหว่างทางอบต. และชาวบ้าน เพื่อที่จะให้ความรู้ในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางว่าทําอย่างไร มีการทําถังขยะเปียกเพื่อทิ้งขยะเศษอาหารเศษกับข้าว
“ในเวลาต่อมาได้เข้าร่วมโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 4 ชุมชนทำงานมากขึ้น สิ่งที่นับเป็นขยะ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำต่าง ๆ จะแยกขยะอย่างละเอียดด้วยหลัก 3R เป็นการเพิ่มมูลค่า เมื่อแยกแล้วเราจะบริจาคขยะให้กับวัดทุกวันที่ 15 ของเดือน เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอจะให้ลูกศิษย์เข้ามารับ ส่วนขยะเศษอาหารทำเป็นปุ๋ย ชุมชนเองก็ชอบเพราะเป็นเหมือนการทำบุญที่วัดไปในตัว ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินสาธารณะใช้ในหมู่บ้าน เมื่อทำแล้วขยะลดลงไม่มีถังขยะ หมู่บ้านร้อยกว่าครัวเรือนที่เข้าร่วมสะอาดน่าอยู่ใครผ่านไปผ่านมาก็ชื่นชมว่าหมู่บ้านสวยน่าอยู่”
และในการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ครั้งนี้ คณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ด้านการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินคัดเลือก โดยผลการประกวดแต่ละรางวัล ที่ได้รับจาก นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานและมอบรางวัลให้แก่ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ ประกอบด้วย
• รางวัลชนะเลิศ บ้านหัวบ้านใหม่ หมู่ที่ 7 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาหมอ
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านสัมมาราม หมู่ที่ 10 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชุมชนบ้านหนองกลางด่านตะวันตก หมู่ที่ 10 เทศบาลตำบลกรับใหญ่
• รางวัลชมเชย ชุมชนหมู่บ้าน ซี.เค. 2 เทศบาลเมืองบ้านโป่ง, บ้านห้วยยาง หมู่ที่ 11 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง, บ้านขอบลาด หมู่ที่ 2 องค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว
• รางวัลสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม “ที่ห่อผลไม้” บ้านขอบลาด หมู่ที่ 2 องค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว
• รางวัลโชว์แอนด์แชร์ยอดเยี่ยม บ้านหัวบ้านใหม่ หมู่ที่ 7 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาหมอ
โครงการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าหมายให้คนในชุมชนมีความรู้ และสามารถจัดการขยะในชุมชนของตนเองได้ ดำเนินโครงการครั้งแรกในปี 2562 ร่วมกับ 17 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมกับการขยายผลสร้างชุมชนต้นแบบในทุก อปท. และมีการจัดโครงการฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ “โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 4” ซึ่งชุมชนให้ความร่วมมือและเข้าร่วมประกวด ถึง 27 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนล้วนมีกิจกรรมลดขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี สามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ในอำเภอบ้านโป่งได้
ปัจจุบันอำเภอบ้านโป่งมีชุนชนต้นแบบการจัดการขยะแล้วรวม 89 ชุมชน ทั้งนี้ SCGP ตั้งเป้าหมายจะสร้างชุมชนต้นแบบจัดการขยะอย่างต่อเนื่องจนครบ 183 ชุมชน ในอำเภอบ้านโป่ง เพื่อยกระดับให้เป็น ‘บ้านโป่งโมเดล’ อำเภอต้นแบบการจัดการขยะยั่งยืน และเป็นแหล่งเรียนรู้ และพลังที่สำคัญ สู่การขยายผลการจัดการขยะอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
จากความสำเร็จที่อำเภอบ้านโป่ง SCGP ยังได้นำแนวคิดไปขยายผลต่อในจังหวัดที่มีโรงงาน SCGP ตั้งอยู่ ได้แก่ กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการขยะได้รวมทั้งหมดถึง 143 ชุมชน และมีเป้าหมายขยายผลอย่างต่อเนื่องในอนาคต