11 กุมภาพันธ์ 2566..การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมที่คำนึงถึงข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสามารถดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการใช้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
จากการที่ ยูนิโคล่ เชื่อว่าเสื้อผ้ามีพลังที่สามารถทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้ (THE POWER OF CLOTHING) พร้อมความเชื่อความยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน RE.UNIQLO คือโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว มีจุดประสงค์ในการผลักดันการใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดอายุการใช้งาน เพื่อตอกย้ำพันธกิจในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยตั้งอยู่บนปณิธาน 4 ข้อ ได้แก่
Reuse – การใช้ซ้ำโดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้วสภาพดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน
Recycle – แปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่
Repair – การซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาใช้งานได้อย่างยาวนาน
Remake – การแปลงโฉม และตกแต่งลูกเล่นบนเสื้อผ้าอย่างมีสไตล์
โดยในส่วนของของ Repair, Remake ได้มีการลงมือทำผ่าน RE.UNIQLO STUDIO บริการด้วยศิลปะการตัดเย็บซ่อมแซมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ซาชิโกะ (Sashiko)
เขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ย้ำว่า RE.UNIQLO STUDIO เป็นสิ่งที่ยูนิโคล่ต้องการสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ในการใช้เสื้อผ้าในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ตั้งราคาในการบริการที่สูงเกินไปนัก
ขณะเดียวกัน RE.UNIQLO ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยูนิโคล่ยังได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งโครงการรับบริจาคเสื้อผ้าเก่าเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ
ทั้งนี้ บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ ตั้งเป้าการบริจาคเสื้อผ้าทั่วโลกไว้ที่ 10 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2568 ส่วนยูนิโคล่ ประเทศไทย ได้ร่วมโครงการ RE.UNIQLO ตั้งแต่ปี 2558 และบริจาคเสื้อผ้าให้กับองค์กรการกุศลเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการแล้วกว่า 200,000 ตัว
การให้องค์ความรู้ส่งเสริมการบริโภคอย่างรับผิดชอบผ่านรูปแบบ CSR ประกอบด้วย
โครงการ RE.UNIQLO 50,000 Warm Clothes หรือ การบริจาคเสื้อกันหนาว 50,000 ตัว เพื่อช่วยผู้ประสบภัยหนาว เป็นกิจกรรมของยูนิโคล่ ประเทศไทย ริเริ่มในปี 2566 ที่เชิญชวนให้คนไทยนำเสื้อหนาว หรือเสื้อแขนยาวมาบริจาคให้ผู้ประสบภัยหนาว เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR ประเทศไทย
ยูนิโคล่ได้ทำการรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาวทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งภายในองค์กรเป็นการรวบรวมจากพนักงานยูนิโคล่ทั้งที่ร้านสาขาและสำนักงานใหญ่ ด้านภายนอกองค์กร ได้แก่ การตั้งกล่องบริจาคจากลูกค้าที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขา และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ที่อยู่อาศัย ในการตั้งกล่องบริจาคเพิ่มเติมอีกด้วย
ยูนิโคล่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ถึงการใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรม “ส่งต่อความอบอุ่นด้วยพลังของเสื้อผ้า” (Passing Warmth Through THE POWER OF CLOTHING) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ร่วมกับ 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนทับทอง และโรงเรียนอนุบาลกลมเกลียว เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ความขาดแคลนเสื้อผ้ากันหนาวในประเทศไทย รวมถึงพลังแห่งการแบ่งปัน โดยกิจกรรมนี้ทำให้สามารถรวบรวมเสื้อกันหนาวเด็กได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ยอดบริจาคนับถึงปลายเดือนธันวาคม 2566 มีผู้บริจาคเสื้อผ้าทั้งหมดกว่า 94,155 ตัว ซึ่งสูงกว่าการบริจาคเสื้อผ้าในปี 2565 กว่า 4 เท่า และในจำนวนนี้ยูนิโคล่ได้คัดแยกเสื้อกันหนาว เสื้อแขนยาว และเสื้อผ้าประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพดี ส่งมอบต่อให้ผู้ที่ขาดแคลนแล้วกว่า 24,000 ชิ้น
ยูนิโคล่ได้ส่งมอบเสื้อผ้าให้ผู้ที่ขาดแคลน ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาผ่านการจัดตั้งเป็นมุมสินค้าบริจาคกึ่งถาวรภายในศูนย์ของมูลนิธิที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาจะเป็นผู้ประสานกับผู้ที่ขาดแคลนเสื้อผ้าให้สามารถเข้ามาหยิบเลือกที่ศูนย์ได้โดยตรง และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ยูนิโคล่ และ มูลนิธิฯ ได้มีการจัดกิจกรรม “งานวันเด็กหลังเขา” เพื่อมอบความสุขและความอบอุ่นให้เด็กๆ ในพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีการส่งมอบผ่านศูนย์ป่วยให้ยืมของมูลนิธิกระจกเงาในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายช่วยกระจายเสื้อผ้าที่มีการนำไปมอบให้ผู้ขาดแคลนในจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ
สำหรับมูลนิธิบ้านร่มไทร ทางมูลนิธิได้ส่งมอบเสื้อผ้าบริจาคจากยูนิโคล่ ให้แก่หมู่บ้านชาวชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลบนภูเขา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ไปแล้วทั้งหมด 5 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ยูนิโคล่ตั้งเป้าบริจาคเสื้อผ้าให้ครบ 50,000 ชิ้นภายในต้นปี 2567 ซึ่งจะรวมถึงพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยฯ ทางภาคเหนือ ผ่าน UNHCR ประเทศไทยอีกด้วย
ยูนิโคล่ ยังคงเดินหน้ากิจกรรมด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยดียิ่งขึ้น
ยูนิโคล่ได้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและสร้างความภักดีของลูกค้าได้อีกด้วย