29 กุมภาพันธ์ 2567…ปัจจุบันภัยไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ทุกวันนี้มิจฉาชีพสร้างกลโกงใหม่ ด้วยวิธีการแปลกๆ มาเพื่อหลอกลวงประชาชนอยู่ตลอดเวลา จากข้อมูลของตำรวจไซเบอร์พบว่าในปี 2566 ภัยทางไซเบอร์สร้างความเสียหายมูลค่าสูงกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Thailand Cyber Wellness Index : TCWI ระบุว่า คนไทยทุกเพศทุกวัยกว่า 44.04% เสี่ยงต่อภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีจำนวนกว่า 13 ล้านคนในประเทศไทย
AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัล จับมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ประชาชนรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน โดยส่งต่อทักษะความฉลาดทางดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปยังบุคลากรของ พม. และ ประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ ยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ครั้งนี้ร่วมมือกับAISนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของเรากว่า11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัยอาทิผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม.เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์”
ที่ผ่านมาAIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลแก่คนไทยกว่า 45 ล้านเลขหมาย ตระหนักดีว่านอกเหนือจากการทำธุรกิจ อีกภารกิจที่สำคัญ คือ การพัฒนาและยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นความมุ่งมั่นที่ตั้งใจสร้างสังคมดิจิทัลที่ดีและมีประโยชน์กับคนไทย จึงเริ่มโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีความอุ่นใจในการใช้งานงานเทคโนโลยีดิจิทัล
“เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย ที่ผ่านมาเราจึงแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ทุกคนใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย AISจึงมีบริการ AIS Fibre Secure Net เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถระวังและปกป้องลูกจากเว็บไซต์ที่ไม่สมควร
ส่วนที่ 2 คือการสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยโดยพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเดิมทีเรานำหลักสูตรมาจากประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งพบว่าไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย จึงร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อปรับหลักสูตรสำหรับคนไทย โดยก่อนหน้านี้เรานำหลักสูตรนี้ไปใช้กับบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนทำให้มีคนเรียนรู้ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ทั่วประเทศ แล้วกว่า 320,000คน เป้าหมายเราตั้งใจให้หลักสูตรนี้เข้าถึงคนไทยให้ได้มากที่สุด”
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวถึงเส้นทางที่ผ่านมาของโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” พร้อมขยายความหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
โดยที่ผ่านมา AISขยายฐานคนเข้าถึง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ผ่านกลยุทธ์คลัสเตอร์ ล่าสุดในปี 2566 AISขยายผล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน ศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ ไปสู่ นักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวม 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยดำเนินการไปแล้วกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน มีครูและนักเรียนกว่า 250,000 มีโอกาสเข้ามาเรียน
ล่าสุด มีการขยายกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ประชาชนทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำร่องให้องค์ความรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” กับบุคลากรของ พม. แบบ Train the Trainer สร้างครูแม่ไก่เป้าหมาย 11,000 คน ผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา พร้อมมอบใบรับรองให้ครูแม่ไก่หลังทดสอบผ่านเกณฑ์
ครูแม่ไก่เหล่านี้จะขยายผลไปสู่การส่งมอบความรู้ให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลของ พม.ผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีอยู่กว่า 2500 แห่ง ทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โดย “หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์” ที่นำไปใช้จะเป็นหลักสูตรเร่งรัด 4 บทเรียน ซึ่งสามารถเรียนจบในเวลา 1 ชั่วโมง
อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “การจับมือกันในครั้งนี้เพื่อขยายผลส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ให้แก่ บุคลากรของ พม.และเครือข่ายผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุและคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะดิจิทัลในการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และเพื่อส่งเสริมยกระดับพลเมืองดิจิทัลให้สูงขึ้น”
สอดคล้องกับที่ นพ. ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายเพิ่มเติมว่า “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อยกระดับความรอบรู้ สร้างการตระหนักให้กับประชาชนไทยทุกกลุ่ม เพื่อป้องกันภัยในโลกไซเบอร์และออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้สุขภาพจิตของคนไทยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่บุคลากรของ พม. รวมถึงกลุ่มเปราะบางทุกทั้งกลุ่มเด็ก คนพิการ และผู้หญิง ซึ่งจะขยายผลไปในอนาคต”
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้ออกมาในรูปแบบของสื่อดิจิทัลเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหา ผ่านการนำเสนอรูปแบบต่างๆ เช่น วิดีโอ โมชั่นกราฟฟิก อะนิเมชั่น รวมถึงจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักษะและเข้าใจหน้าที่ในฐานะพลเมืองดิจิทัลอย่างพียงพอหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ฉบับบุคลากร ประชาชนและคนทุกช่วงวัย เนื้อหาลงลึกถึงทักษะในการใช้สื่อดิจิทัล ระดับองค์กร เน้นความรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA และความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลหรือเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทาย ส่วนอีกเนื้อหาเป็นฉบับผู้สูงอายุที่จะเน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้งานออนไลน์ และ ภัยไซเบอร์ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี สื่อดิจิทัลในปัจจุบัน”
สมชัยกล่าวปิดท้ายว่า ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยสามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่www. learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.thและแอปพลิเคชันGold by DOP