5 มีนาคม 2567…ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ถือเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมานาน และยิ่งขยายช่องว่างกว้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ปกครองจำนวนมากมีรายได้ลดลง โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าในปีการศึกษา 1/2564 มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน รายได้ของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,094 บาทเท่านั้น ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูกหลานเพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนผ่านออนไลน์ ค่าอินเตอร์เน็ต ทำให้มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถไปต่อในระบบการศึกษาของไทย
อย่างไรก็ดีเราเห็นความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการศึกษา โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 4 คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ และข้อที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ดำเนินงานผ่านโครงการ UOB My Digital Space (MDS) โครงการหลักของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ซึ่งมุ่งสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการมอบเครื่องมือการเรียนรู้ และสื่อดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนสู่การเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล ภายใต้ “ยูโอบี ฮาร์ทบีท” (UOB Heartbeat) โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มธนาคารยูโอบี ที่เน้นใน 3 ด้าน คือ ศิลปะ เยาวชน และการศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของคน
โครงการนี้มีแผนงานระยะยาวร่วมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับเส้นทางการเรียนรู้ดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักสูตรดิจิทัลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งในปี 2565 มีการส่งมอบห้องเรียนดิจิทัลไปแล้วจำนวน 3 จังหวัด คือ โรงเรียนอนุบาลเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม จังหวัดพะเยา และโรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง
ซึ่งงบประมาณในการดำเนินงานแต่ละปีมาจากเงินระดมทุนร่วมกันของพนักงานยูโอบีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ โครงการ UOB My Digital Space ล่าสุดธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จัดกิจกรรมระดมทุนและสร้างความร่วมมือผ่านกิจกรรม “2023 UOB Global Heartbeat Run/Walk” งานเดิน/วิ่งเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน และครอบครัว รวมถึงลูกค้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมให้เด็กไทยในโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยสามารถระดมทุนได้ 4,000,000 บาท เงินทั้งหมดถูกนำไปสร้างห้องเรียน UOB My Digital Space พร้อมสนับสนุนหลักสูตรดิจิทัล ให้ 3 โรงเรียนใหม่สำหรับปี 2567 ได้แก่ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนปากแพรกวิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนบ้านทุ่งมน จังหวัดขอนแก่น รวมถึงมีการขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่าง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สนับสนุนครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพในการสร้างแรงบันดาลใจเข้าไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาส และเพิ่มส่วนของแพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพ a-chieve ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ และการตั้งเป้าหมายในอนาคตของนักเรียนได้ด้วย
ธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย อธิบายถึงจุดเริ่มของโครงการ UOB My Digital Space ว่าเดิมทีธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เข้ามาให้ความรู้เรื่องวิชาการเงินตามความเชี่ยวชาญของธนาคารให้กับทางโรงเรียน และมองเห็นว่าเด็กจำนวนมากยังขาดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะการเข้าถึงทักษะดิจิทัลและการเรียนรู้ในวิชาหลักอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จึงจับมือกับพันธมิตรโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ คัดหาโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่มากที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แต่มีความพร้อมในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ที่เป็นห้องเรียนดิจิทัล และซอฟท์แวร์ อย่างหลักสูตรดิจิทัล
“โลกยุคนี้เป็นยุคที่เด็กสามารถรับข้อมูลแบบไร้พรมแดน การเรียนแบบ E-learning ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงข้อมูลจากมุมต่างๆ มีคอนเท้นต์ที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้เด็กต่อยอดไปสู่การเรียนหรือประกอบวิชาชีพในอนาคต ห้องเรียนรู้ดิจิทัลจึงเหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ เราอยากให้เด็กที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่าน E-learning เหมือนกับเด็กที่อยู่ในเมือง เพื่อลดช่องว่างและขยายโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของครู ทำให้ครูสามารถพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น”
สำหรับโรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนขนาดกลางมีนักเรียนตั้งแต่ ม.1 – ม.6 จำนวนกว่า 1,000 คน เดิมทีทางโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์อยู่บางส่วน แต่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานของเด็ก
ประวิทย์ สิงห์เรือง ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในส่วนห้องเรียนดิจิทัล คอมพิวเตอร์ใหม่ 40 เครื่อง รวมถึงหลักสูตรดิจิทัล วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านโปรแกรมจากทุกที่ เรียนไม่ทันก็กลับมาเรียนซ้ำได้ ช่วยครูในเรื่องของการเตรียมการสอน โปรแกรมดิจิทัลทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี เช่น วิชาภาษาอังกฤษเด็กให้ความสนใจมาก เพราะเด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนแบบใหม่ๆ ทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น”
ภาคีพันธมิตรเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญสำหรับการดำเนินการในโครงการ UOB My Digital Space เพราะยูโอบีเชื่อว่าการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จที่ครบวงจร ในปี 2566 ยูโอบีจึงให้การสนับสนุนมูลนิธิ Teach For Thailand ผ่านการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษา ทำให้โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษกได้รับครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 2 ท่านในวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งครูจาก Teach For Thailand มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนให้กับเด็ก เนื่องจากอายุไม่ห่างจากนักเรียนมากนัก เด็กสามารถพูดคุยด้วยง่าย รู้สึกเหมือนครูเป็นเพื่อนและยอมเปิดใจด้วย ทำให้เด็กบางคนที่เคยเป็นเด็กหลังห้อง กลายมาเป็นเด็กหน้าห้องที่สนใจการเรียนมากขึ้น
ธนิต แคล้วโยธา ผู้จัดการส่วนภูมิภาค (ภาคกลาง) มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ตัวแทนจาก Teach For Thailand เสริมว่า พันธกิจของ Teach For Thailand คือการทำงานร่วมกับภาคีอื่น ๆโดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้นักเรียนมีการพัฒนา ในขณะที่ภาคีอื่นเข้ามาช่วยเรื่องเทคโนโลยีการสอนอันจะทำให้นักเรียนมีพัฒนาการที่เร็วขึ้น
“Teach For Thailand จริงจังมากที่จะสอนให้นักเรียนมีทัศนคติและทักษะในการเรียนรู้และการอยู่ในสังคมเพราะถ้านักเรียนขาดสิ่งเหล่านี้เขาก็จะไม่ได้หันมาใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้แม้ว่าเราจะมีเครื่องมือที่ดีอยู่ตรงหน้าก็ตาม Teach For Thailand มีความหวังอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถเข้าถึงนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ภายใต้การขยายความร่วมมือกับผู้บริจาคในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย”
ด้านณัฐรา อยู่สนิท ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด ตัวแทน Winner English อธิบายว่า โปรแกรมดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษที่นำมาใช้จะช่วยสนับสนุนการเรียนของนักเรียนและพัฒนาภาษาอังกฤษของพวกเขาให้ดีขึ้น
“เรามีการติดตามพัฒนาการของเด็กทั้งระหว่างเรียนว่ามีการใช้งานโปรแกรมต่อเนื่องหรือไม่ ดูคลิปวิดีโอ ทำแบบฝึกหัดหรือไม่และหลังเรียนมาผลการเรียนดีขึ้นไหม ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจนักเรียนมีคะแนนสอบที่ดีขึ้น”
ณัฐพงษ์ จิณะเสน เจ้าหน้าที่การศึกษาสัมพันธ์ บริษัท เลิร์น เอ็นดูเคชั่น จำกัด ตัวแทนจาก Learn Education ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Learn Education มีความตั้งใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการศึกษาของเด็กต่างจังหวัด การเข้ามาสนับสนุนโปรแกรมดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ผ่านห้องเรียน UOB My Digital Space ของทางยูโอบี ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แบบผสมผสานให้เด็กเรียนแบบ Web Learning โดยมีคุณครูทำหน้าที่เป็นผู้นำในการนำเข้าสู่บทเรียนและเป็นโค้ชเดินในห้องเรียนเพื่อแนะนำเด็ก
“การเรียนแบบนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของบทเรียน มีสมาธิในการเรียน สามารถเรียนวนซ้ำในบทเรียนที่เขาไม่เข้าใจ เรามองว่าพวกร่วมมือกันของภาคีต่างๆ ทำให้เด็กที่อยู่ห่างไกลไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในเมืองก็ได้ เพราะเด็กได้เรียนเนื้อหาเดียวกันกับเด็กในเมือง”
นอกจากด้านวิชาการ ยูโอบียังเติมในส่วนของแพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพ a-chieve ที่เข้ามาช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองมากขึ้น ว่าต้องการมีอนาคตแบบไหน ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท อาชีฟ โซเชียลเอนเทอไพรส์ จำกัด อธิบายว่า
“a-chieve เข้ามาทำงานร่วมกับครูแนะแนวในโรงเรียน โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ทัศนคติ วิธีการเข้าหาเด็ก เช่น เรื่องของการฟัง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การรู้จักตัวเองอย่างรอบด้าน การแนะนำอาชีพ การวางแผนชีวิตเพื่อให้ครบทั้งด้านวิชาการและการแนะแนวเพื่อให้เด็กมีแนวทางในการใช้ชีวิต”
ความร่วมมือทั้งหมดสำคัญมากในการช่วยผลักดันการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กในพื้นที่ห่างไกล กนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ มองว่า ในอนาคตจะมีการเติมเต็มความช่วยเหลือที่จำเป็นเข้าไปเรื่อยๆ เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะมีความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ได้ลดลง
“การทำงานกับภาคีของเรา จะมีการพูดคุยกันทุก 6 เดือนเพื่อดูว่ามีอะไรจะต้องปรับหรือเติมตรงไหนเข้าไปอีก เราต้องการให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเด็กอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ”
ธรรัตน จากทางยูโอบีหวังว่าจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนห่างไกลอย่างน้อย 3 โรงเรียนทุกปี รวมถึงการให้พนักงานเข้าร่วมโครงการต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนชั่วโมงอาสาของพนักงานอย่างน้อย 10% ต่อปี