19-20 พฤษภาคม 2567… โครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ โดย Sanofi ทำงานร่วมกับ SCGC ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer™ และ Cirplas สตาร์ทอัพ ที่เน้นการจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ส่งเสริมพฤติกรรม “เช็ก ถอด ทิ้ง”
ดาราวรรณ ลุยะพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจยา General Medicines ซาโนฟี่ ประเทศไทย ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCGC ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด ร่วมกันกล่าวถึงความร่วมมือครั้งแรกของประเทศไทยในการเก็บปากกาอินซูลินที่คนไข้เบาหวานใช้แล้ว กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling
ดาราวรรณกล่าวถึงซาโนฟี่มุ่งเน้นเรื่องค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมยาและวัคซีน เพื่อป้องกันและรักษาผู้คนจากการเจ็บป่วย โดยดำเนินการในไทยมาอย่างยาวนานและทำงานกับประชาคมเบาหวานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การดูแล ปกป้องตัวเองจากเบาหวาน จนกระทั่งแนะนำใช้อินซูลินให้ถูกวิธี
“ในจำนวนผู้ป่วยเบาหวานประเทศไทยกว่า 5.2 ล้านคน ใช้ปากกาอินซูลินของซาโนฟี่กว่า 800,000 ด้ามต่อปี เทียบเป็นปริมาณขยะพลาสติกถึง 17 ตัน ซาโนฟี่จึงรณรงค์การแยกเข็ม และจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลภายใต้ชื่อโครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บและรีไซเคิลปากกาฉีดอินซูลินใช้แล้ว”
ปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก มีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นมลพิษซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในดิน ในแหล่งน้ำ กระทบกับคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค สุขภาพสัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่สุขภาพของเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะแก่ประชาชน รณรงค์ให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะทางการแพทย์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
พร้อมกับการ Kick Off โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน รณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานส่งคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว เริ่มนำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดย Cirplas จะรวบรวมเข้าสู่กระบวนการส่งให้ SCGC
“SCGC จึงนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer™ มารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling สะท้อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการฯ นี้จึงช่วยส่งเสริมการทิ้งขยะทางการแพทย์ในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสุขอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย”
ดร.สุรชาเล่าถึงการใช้การใช้เทคโนโลยี Advanced Recycling ผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมามีคุณภาพเท่ากับพลาสติก Virgin และสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภทตามความประสงค์ของซาโนฟี่ที่ต้องการบริจาคต่อไป
ดาราวรรณกล่าวในท้ายที่สุด โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program ถือเป็น CSR ระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นที่นวัตกรรมสุขภาพดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้ Global Direction ที่มีระยะเวลาเป้าหมาย ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)