CSR

คณะเกษตรฯ มข. x สิงห์อาสา ผุดไอเดีย บ่อโครงข่ายกักเก็บน้ำฤดูฝน ช่วยชาวบ้านฝ่าวิกฤตเอลนีโญ

17 มิถุนายน 2567…คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สามารถใช้เป็นบ่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ป้องกันฤดูน้ำหลาก และเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างยั่งยืน หลังจากประสบความสำเร็จสร้างแหล่งน้ำชุมชน ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปีหลายจุดในจังหวัดภาคอีสาน ชาวบ้านมีน้ำใช้เพียงพอ และยังสามารถใช้น้ำทำการเกษตร เช่น การปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ และยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชนเพราะมีปลาในบ่อให้ชาวบ้านจับเป็นอาหารได้

ในสถานการณ์ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ แหล่งน้ำมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตเป็นอย่างมากอีกทั้งยังมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร สิงห์อาสา พร้อมด้วย บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือบุญรอดฯ และคณะทำงาน โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนให้สามารถกักเก็บน้ำในฤดูฝนมากเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นที่มาของแนวความคิด “บ่อพ่อ+บ่อแม่” ให้เป็นบ่อที่เกื้อหนุนกัน สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนได้มากขึ้น และช่วยเติมน้ำลงไปในระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งบ่อทั้ง 2 แห่งนี้เปรียบเสมือนแหล่งน้ำที่ เป็นบ่อพ่อบ่อแม่ ที่จะช่วยกระจายน้ำไปยังบ่อลูกๆ ที่อยู่บริเวณข้างเคียงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเป็นบ่อที่ชาวบ้านขุดไว้ เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำได้มากยิ่งขึ้น พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ภาวะโลกเดือด ส่งผลกระทบกับภาคอีสานอย่างเห็นได้ชัด ปีนี้อากาศร้อนมาก หลายพื้นที่มีอุณหภูมิ 40-44 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะจ.ขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่ออากาศร้อนก็จะทำให้น้ำระเหยได้มาก ความแห้งแล้งทวีความรุนแรง และการที่มีบ่อน้ำจำกัด ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น การมีบ่อน้ำมากขึ้นจะช่วยกักเก็บน้ำใว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และยังเพียงพอทำการเกษตรอีกด้วย

“เมื่อปีที่ผ่านมา นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ประมาณเวลา 2 ปีจนถึงปี 2568 แต่ล่าสุดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศในปีนี้ ทำให้ช่วงปลายของเอลนีโญ่ขยับมาเป็นกลางปีนี้ และปรากฏการณ์ลานีญ่าจะเข้ามาแทน เพราะฉะนั้น บ่อน้ำที่ขุดไว้สามารถช่วยได้ทั้ง 2 สถานการณ์ คือช่วยกักเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปีจนข้ามแล้ง และการมีบ่อน้ำจะช่วยลดความเสี่ยงน้ำท่วมลงได้ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อย แต่พอมีบ่อน้ำที่สิงห์อาสามาขุดเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำหลากเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่การเกษตรเสียหายได้”

รวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า ทุกๆ ปี สิงห์อาสาได้ทำงานร่วมกับหลายๆ มหาวิทยาลัยภาคที่เป็นเครือข่ายของเรา ในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน

 

“ในภาคอีสานก็จะเป็นรูปแบบของน้ำดื่ม การติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และยังทำงานร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้ชาวบ้าน เราเลือกขุดบ่อในพื้นที่ของชุมชนที่ขาดแคลนน้ำ อย่างปีนี้เลือกพื้นที่บริเวณอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สิงห์อาสาและมหาวิทยาลัยขอนแก่นเคยมาขุดบ่อไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้ผลค่อนข้างดี ในช่วงหน้าแล้งก็ยังมีน้ำใช้ เราจึงต้องการต่อยอดเพื่อพัฒนาให้พื้นที่แห่งนี้มีบ่อน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นโมเดลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา สิงห์อาสายังร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18สถาบัน ลงพื้นที่สำรวจและเข้าช่วยเหลือบริเวณที่ประสบภัยแล้ง นำรถน้ำดื่มเคลื่อนที่ เข้าไปแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดให้ประชาชนในหลายชุมชนภาคอีสาน พร้อมติดตั้งแทงค์น้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน ให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ และสร้างแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ภาคอีสาน

 

You Might Also Like