BIODIVERSITY & REGENERATIVE CSR

TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 3 เน้นวัฏจักรชีวภาพ ฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อสมดุลโลก

4 ธันวาคม 2567…TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 3 มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกผ่านแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับ วัฏจักรชีวภาพ (Biological Cycle) และ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (Regenerate) เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ และปลูกจิตสำนึกเรื่องความยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่

จากการจัดการขยะ
สู่การฟื้นฟูระบบนิเวศ

2 ปีที่ผ่านมา TCP Spirit คณะเศษสร้าง เน้นการบริหารจัดการขยะ เช่น การลดขยะบรรจุภัณฑ์และการสร้างระบบ Zero Waste แต่ปีที่ 3 เน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่าโครงการปีนี้แตกต่างจากสองปีที่ผ่านมา

“เพราะเราต้องการขยายขอบเขตจากการจัดการขยะสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศขนาดใหญ่ อาสาสมัครจะได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จริงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นถิ่นอาศัยของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย กิจกรรมนี้เป็นแรงบันดาลใจให้อาสาได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในชุมชนและช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”

 

ห้องเรียนธรรมชาติ
เชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริง

กิจกรรมปีนี้จัดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำบุรีรัมย์ โดยมีจุดเด่นที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ในธรรมชาติกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น

 พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาจะได้สำรวจและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บและช่วยหมุนเวียนน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนน้ำ และสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ชุมชน และที่แห่งนี้ยังแสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ เห็นได้จากการกลับคืนของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สูญหายไปหลายสิบปี
 นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 50 ปี อาสาจะได้เห็นด้วยตาตัวเองจากพื้นที่โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟู และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้นกกระเรียนดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมลงมือปลูกหญ้าแห้วทรงกระเทียมซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนในระบบนิเวศ


 เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต และลดคาร์บอนจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมี โดยอาสาจะได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตีข้าว ฝัดข้าว และเพาะต้นกล้าด้วยตัวเอง


 ทอผ้าไหม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เปิดประสบการณ์การทอผ้าไหมกับชุมชนต้นแบบบ้านหัวสะพาน ที่ทอผ้าโดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยจากขี้วัวและฟางเพื่อคงสภาพดิน ช่วยให้หนอนไหมกินใบหม่อนที่สามารถปลูกซ้ำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ได้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปรังไหมและหนอนไหม

 

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่ของคณะเศษสร้าง กล่าวว่า “การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และการเรียนรู้จากธรรมชาติช่วยให้อาสาเข้าใจการหมุนเวียนและฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

เหล่าอาสาได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัยของสัตว์นานาชนิดและนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ และปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดการน้ำ และสร้างแหล่งอาหาร ด้วยความร่วมมือกันของนักอนุรักษ์และคนในชุมชนที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“อาสาจะได้เข้าไปสัมผัสและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบยั่งยืน และการทอผ้าไหมที่ไม่ทิ้งของเสีย เพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างการหมุนเวียน การซ่อมแซม และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก”

การเดินทางสู่ความยั่งยืน
ของ TCP Spirit

 

“โครงการ TCP Spirit เป็นตัวอย่างของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง เราไม่เพียงแค่เรียนรู้และฟื้นฟู แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกใบนี้ คาดหวังให้อาสาสมัครนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และต่อยอดในชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขึ้น”

สราวุฒิกล่าวในท้ายที่สุด ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ TCP Spirit คณะเศษสร้างได้ส่งต่อองค์ความรู้เศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติจริงในชุมชน สร้างเครือข่ายอาสารักษ์โลกที่พร้อมนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ตอกย้ำเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ของกลุ่มธุรกิจ TCP ในการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like