8-9 มกราคม 2568…. การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ของบ้านปู นอกจากความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืนแล้ว บ้านปูยังเดินหน้าสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมในหลากหลายมิติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคน ตามแนวคิด “เสริมศักยภาพ สร้างพลังแห่งอนาคต” (Embracing Potential, Energizing People)
ด้วยความเชื่อที่ว่า เราทุกคนมีพลัง พลังแห่งการสร้างสรรค์ พลังแห่งการส่งต่อ และคนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นในวงกว้างได้หากเขามีศักยภาพที่พร้อม บ้านปูจึงต้องการส่งเสริมให้คนที่มาเข้าร่วมโครงการ CSR กับบ้านปู สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปสร้างประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสังคม เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิต
และหนึ่งในโครงการ CSR ของบ้านปูที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 13 ปี ก็คือ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) ที่ได้จับมือกับสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปั้นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE) คนรุ่นใหม่ให้หันมาใช้ธุรกิจแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนและร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง ในปีนี้ BC4C มาในแนวคิด “Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง”
“ชันโรง” เป็น 1 ใน 3 กิจการเพื่อสังคมที่ชนะเลิศโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” ปีที่ 13 สะท้อนศักยภาพของ “บ่าว-กรานต์ มาศโอสถ” และ “นา-โสรยา คลองรั้ว” สองผู้ก่อตั้ง และประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อการอนุรักษ์ จังหวัดกระบี่ ที่พยายามผลักดันให้ชุมชนมีองค์ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง จนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้จากการจำหน่ายรังชันโรงและผลิตภัณฑ์แปรรูป
แต่เดิม “บ่าว” ผู้ก่อตั้งกิจการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ควบคู่ไปกับประกอบกิจการส่วนตัวที่สานต่อจากคุณพ่อ แต่ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนงานไปหาของป่าตามป่าชายเลนแทน ระหว่างนั้นเองบ่าวมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ได้แนะนำ “ชันโรง” ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่มาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ เขาไปศึกษาดูงาน ทำความเข้าใจวิธีเลี้ยง ก่อนจะนำมาชักชวนคนในชุมชน ซึ่งปกติมีอาชีพประมงให้ทำงานด้วยกัน โดยเริ่มจากเป็นงานเสริมก่อน
ชันโรง คือแมลงในตระกูลเดียวกับผึ้ง แต่มีขนาดเล็กกว่า และไม่มีเหล็กในซึ่งเป็นอันตราย นอกจากนั้น ด้วยความที่อาหารของชันโรงเป็นพวกยอดอ่อนใบชา และยอดอ่อนต้นไม้ น้ำหวานที่ได้จึงมีรสชาติที่ล้ำลึก คนละแบบกับน้ำหวานของผึ้ง ทั้งยังมีคุณสมบัติทางยา บ่าวเคยได้รับคำชมจากลูกค้าชาวต่างชาติว่าสินค้ามีคุณภาพ และราคาถูกกว่าในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งราคากิโลกรัมละ 8,000 บาท เป็นการจุดประกายให้บ่าวเลือกจะมาทำงานนี้เป็นอาชีพหลักแทนการกลับไปขับแท็กซี่
นอกจากนี้ บ่าวยังมองว่า “ชันโรง” คือสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นสิ่งมีชีวิตมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ เขาจึงพยายามส่งต่อความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงชันโรงแก่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำประมง ควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์
โดยเหตุผลสำคัญที่บ่าวเลือกเข้าร่วมโครงการปีนี้คือ แพสชันในการเพิ่มประสิทธิภาพการจำหน่ายน้ำผึ้งหน้าร้าน พร้อมขยายเครือข่ายฟาร์มผึ้งชันโรงตาหวานนอกพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทางโครงการฯ มี 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านโมเดลธุรกิจ จากการปรับโมเดลให้ชัดเจนและวางแผนการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการจำหน่ายกล่องสำหรับผู้เลี้ยงชันโรง และเครื่องดื่มน้ำผึ้งสำหรับผู้บริโภค ด้านบัญชี ช่วยให้รู้รายรับ-รายจ่ายรายเดือน และการเตรียมน้ำผึ้งให้เพียงพอกับยอดสั่งซื้อ และด้านสังคม จากการเพิ่มกิจกรรมในป่าอย่าง “ปลูกป่าชายเลนและปล่อยปู” ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูระบบนิเวศอีกด้วย
“ประสบการณ์จากการเข้าโครงการฯ ไม่เพียงพัฒนากิจการเพื่อสังคม ‘ชันโรง’
แต่ยังเพิ่มการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
“ชันโรง” เป็นหนึ่งในกิจการภายใต้โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” ของบ้านปูที่สามารถนำเสนอผลสำเร็จในการพัฒนาโมเดลกิจการเพื่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมใน 3 มิติ ได้แก่ แก้ปัญหาคนว่างงาน มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ขยายเครือข่ายเพาะเลี้ยงชันโรงนอกพื้นที่ได้ แก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม มีความหลากหลายของเมล็ดพรรณไม้ป่าชายเลน และแก้ปัญหาขาดรายได้ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น จาก 700 – 1,500 บาท เป็น 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบัน คนในพื้นที่หลายครัวเรือนหันมาเพาะเลี้ยงชันโรง จนสามารถเข้าไปฟื้นฟูสร้างความสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลน และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดกระบี่ จนสามารถพัฒนาเป็น “แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่” มีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนรองรับแขกผู้มาเยือน อาทิ กิจกรรมปลูกป่า ปล่อยปูดำ และชันโรง ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกทางหนึ่ง และในอนาคต พวกเขายังมีแผนที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมาย อ.ย. สำหรับการต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งประเภทอื่น รวมถึงมีแผนจะขอจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังลูกค้าในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย
พูดได้ว่า “ชันโรง” นับเป็นการพัฒนาชุมชนส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งในแง่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าสามารถเป็น Role Model ของกิจการเพื่อสังคมหน้าใหม่ๆ ที่นำวิถีชีวิตท้องถิ่นมาสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้อีกด้วย
#Banpu #BC4C #BanpuChampionsForChange #พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม #ธุรกิจชุมชน #สัตว์เศรษฐกิจชันโรง