19 มกราคม 2562… ตลาดอินทรีย์มีเฮ แปรรูปเป็นเรื่อง (เป็นราว) อินทรีย์ทั้งตัว เชื่อมือจึงเชื่อมั่น บริโภคทวนน้ำ หวังสร้างฐานสังคมอินทรีย์ให้มั่นคงยั่งยืน ทั้ง 5 เทรนด์จากประสบการณ์ สามพรานโมเดล และสามพรานโมเดล อะคาเดมี่
แม้ว่าจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักกับการการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมีมาตรฐานควบคุมอย่างเข้มงวดรอบด้าน แต่ก็เป็นความพยายามของคนหลายฝ่ายที่จะเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความฝัน ความตั้งใจ ของคนวัย 28-35 ปี จำนวนไม่น้อยที่อยากกลับบ้านไปเป็น Smart Farmer เกษตรอินทรีย์
อรุษ นวราช ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล และสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ เห็นว่าเมื่อมองกลับมาที่ตลาดในช่วงประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในหลายมิติ
“จากประสบการณ์ทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ทั้งงานต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านสามพรานโมเดล และสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ บวกการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ปี 2562 มี 5 เทรนด์น่ารู้ สำหรับผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปี 2562”
1.ตลาดอินทรีย์มีเฮ
ในภาพรวมคาดว่า ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยสนับสนุน เช่น ความตื่นตัวเรื่องภัยสารพิษ และความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการ และการดูแลตัวเองพร้อมๆ กันกับการร่วมดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมีการหนุนเสริมของภาครัฐด้วยยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 รวมถึงการตอบรับของผู้ประกอบการ ที่เล็งเห็นโอกาสสร้างจุดขาย นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคอินทรีย์ที่จะมีช่องทางเข้าถึงสินค้าอย่างกว้างขวางในราคาจับต้องได้มากขึ้น
2.แปรรูปเป็นเรื่อง (เป็นราว)
ในปี 2562 คาดว่า จะพบการเติบโตของสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดขนม เครื่องดื่มต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคอินทรีย์มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่พร้อมให้งบประมาณกระตุ้นการพัฒนาสินค้า สำหรับรสชาติแนวโน้มไปในทางการคงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การได้ความหวานแบบธรรมชาติ (Natural Sweetness) ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง และยังพบกระแสความสนใจสูตร และรสชาติเฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งเข้ามาสร้างความแตกต่างตื่นเต้น พร้อมกันกับความรู้สึกว่าได้สนับสนุนคนในชุมชนไปด้วย
3.อินทรีย์ทั้งตัว
วิถีอินทรีย์ ไม่ได้มีแค่เรื่องของกิน แต่ยังรวมไปถึงของใช้ เทรนด์โลกพบการเติบโตอย่างสูงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผม และเครื่องสำอางค์ด้วยแนวคิดของผู้บริโภคที่ว่า อะไรก็ตามที่มาถึงตัว (ถึงไม่ได้นำเข้าปาก) ก็จะพยายามลด หรือเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด จึงเห็นการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบอินทรีย์ชนิดต่างๆ อย่างช็อกโกแลต น้ำผึ้ง สาหร่าย โดยทิศทางไปในการพัฒนาสินค้าพรีเมี่ยม ที่โดดเด่นทั้งในคุณภาพ และภาพลักษณ์
4.เชื่อมือจึงเชื่อมั่น
ประเด็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกับสินค้าอินทรีย์ยังคงมีบทบาทสำคัญ แต่แนวโน้มจะเริ่มขยับจากการมองหาตรารับรองต่างๆ เป็นการเปิดกว้างรับเครื่องมือทำงานอื่นๆ เช่น ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System หรือ PGS) ซึ่งแสดงให้เห็นได้ถึงความโปร่งใส เป็นธรรมในกระบวนการทำงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อินทรีย์ (เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ) ในปีที่ผ่านมายังมีการก่อตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส ที่คาดว่าจะสร้างการรับรู้ระบบนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
5. บริโภคทวนน้ำ
ใครว่าผู้บริโภคต้องอยู่ที่ปลายน้ำในห่วงโซ่อินทรีย์เท่านั้น แนวโน้มปัจจุบันพบความตื่นตัวของผู้บริโภคที่จะมีส่วนร่วม ทั้งในกระบวนการตรวจเยี่ยมแปลงของเกษตรกรต้นน้ำในระบบ PGS การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีเสวนา และหลักสูตรอบรม เช่นที่พบความสนใจเข้าร่วมกับสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ เช่น Go Green กับตลาดสุขใจ
อรุณกล่าวในท้ายที่สุดว่า ปี 2562 น่าจะเป็นปีที่เห็นการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์หลากมิติ ซึ่งในส่วนของสามพรานโมเดล ภายใต้กลยุทธ์ Organic Social Movement มีแนวทางชัดเจน ที่จะจุดประกาย ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ร่วมทำงานกับภาคีที่ต้องการองค์ความรู้จากสามพรานโมเดลเพื่อขยายต่อยอด รวมถึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน
นอกจากนี้ ยังจะเป็นปีที่จะได้เห็นพลังของ นักขับเคลื่อน Organic Social Mover เพื่อร่วมผลักดันสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล ซึ่งเบื้องต้นมีผู้สนใจสมัครร่วมขับเคลื่อนแล้วกว่าหนึ่งพันคน