22 พฤษภาคม 2563…โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับมอบพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 30 ล้านบาท รองรับการช่วยเหลือคนไทยระยะยาว
ความสำคัญของหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการรับมือวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ของมนุษยชาติ สำหรับประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมาจัดเป็นช่วงวิกฤต ซึ่งแพทย์รู้แล้วต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างที่จะช่วยในการลดความเสี่ยง และช่วยในการรักษา แต่ขาดแคลนและยังไม่มีมาก่อน 1 ในนั้นคือ ห้องความดันลบ (Negative Pressure)
ห้องความดันลบ มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศภายในห้องออกไปสู่นอกห้องได้ เนื่องจากอากาศภายในห้องที่ใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้ออาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือละอองฝอยที่เกิดจากการจามหรือไอของผู้ป่วย ห้องความดันลบจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเกิดความอุ่นใจในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ชนินท์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า ทันทีที่เกิดวิกฤต โควิด-19 สิ่งแรกที่ตัดสินพร้อมกับกลุ่มมิตรผลภายใน 1 วัน คือการช่วยเหลือสังคม 500 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทละ 250 ล้านบาท และในงบส่วนนี้ ได้ปรึกษากับคุณสมฤดี CEO บ้านปู เห็นพ้องต้องกันในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนี้ ใช้เงิน 30 ล้านบาท ทำหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักและมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่สามารถรับการสนับสนุนในการลดความเสี่ยง และการรักษาผู้ฝ่วย โควิด-19 ได้
“สัดส่วนการใช้เงิน 250 ล้านบาท เน้นเรื่องการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เพราะถือเป็นด่านหน้า เมื่อทางซีอีโอบ้านปูตกลงทำหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจ บ้านปู และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เดือนเมษายน ก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานในเดือนพฤษภาคม”
สิ่งที่บ้านปูฯ ได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 30,000,000 บาท แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วย
1.ห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure) แบบแยกห้อง เพื่อใช้สำหรับรักษาและป้องกันการแพร่กระจายโรคสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 10 เตียง
2.ห้องหัตถการผู้ป่วยความดันลบ จำนวน 1 เตียง
3.เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 11 เครื่อง
4.อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล เครื่องส่องตรวจทางเดินหายใจ เครื่องวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องเฝ้าระวังและติดตามสัญญาณชีพ เครื่องกดนวดหัวใจอัตโนมัติ อุปกรณ์ส่องตรวจหลอดลม และชุดป้องกันอนุภาคที่เป็นอันตรายจากฝุ่นละอองและเชื้อโรค
ศ.ดร. สุรพล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ขยายความเพิ่มเติมหลังจากที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู และอุปกรณ์ทางการแพทย์ นับเป็นความมั่นใจที่จะรองรับผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วยจากโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ แม้จะระบาดระลอก 2 ก็ตาม ขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลได้มีการประชุมกับโรงพยาบาลเครือข่ายในจังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลบางส่วนของภาคกลาง ถึงความพร้อมในการรับมือดังกล่าว
“มหาวิทยาลัยมองถึงโอกาสการต่อยอดประโยชน์จากห้องความดันลบที่ได้มาจากบ้านปู ในด้านการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ เพราะห้องความดันลบเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมาก ที่ผ่านมาจำเป็นต้องใช้สำหรับรับรองผู้ป่วยโรค ติดเชื้อมาโดยตลอด โดยเฉพาะโรควัณโรค ดังนั้นเมื่อจบวิกฤตโควิด-19 แล้ว จำนวนห้องที่เพิ่มขึ้นจากการบริจาคของบ้านปูฯ 11 เตียง” ร.ศ.เกศินี อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ชนินทร์กล่าวต่อเนื่อง นอกจากความช่วยเหลือต่อบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ขณะนี้บริษัทฯ เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตกงาน สภาวะเศรษฐกิจหดตัว ส่งผลให้ขาดรายได้และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วย โดยมอบถุงยังชีพอันประกอบด้วยข้าวของอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้หน่วยงานและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
ความสำคัญของหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู
เป็นหอผู้ป่วยสำหรับรองรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อระบบการหายใจที่อยู่ในภาวะวิกฤตซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยในปัจจุบันมีแนวโน้มของผู้ป่วยในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ หอผู้ป่วยแห่งนี้ยังสามารถปรับห้องจากความดันลบเป็นความดันปกติหรือบวกตามความเหมาะสมเพื่อใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบการหายใจอื่นๆ ได้ และยังสามารถคงบางส่วนของห้องความดันลบไว้สำหรับรับผู้ป่วยอื่นที่มีการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ เช่น ผู้ป่วยวัณโรค หรือโรคอุบัติใหม่ได้ ซึ่งทำให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย แยกผู้ป่วยเป็นสัดส่วน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
การทำงานของระบบห้องอุปกรณ์ต่างๆภายในหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู
ห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure Room) แบบแยกห้อง เพื่อใช้สำหรับรักษาและป้องกันการแพร่กระจายโรคสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยติดเชื้อระบบการหายใจ มีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้องจึงทำให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไม่สามารถแพร่ออกสู่ภายนอกห้อง และสามารถปรับโปรแกรมให้แรงดันภายในห้องผู้ป่วยเป็นปกติหรือบวก เพื่อให้สามารถรับผู้ป่วยอื่นๆ นอกเหนือจากผู้ป่วยโควิด-19 ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ภายในห้องยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนี้
– กล้องวงจรปิด เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา มีระบบควบคุมจากภายนอก
– เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน
– เครื่องส่องตรวจทางเดินหายใจระบบวีดีทัศน์แบบพกพา
– เครื่องวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด
– เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล
– เครื่องเฝ้าระวังและติดตามสัญญาณชีพ
– เครื่องกดนวดหัวใจอัตโนมัติ
– อุปกรณ์ส่องตรวจหลอดลมชนิดที่ดัดงอได้
สมฤดีกล่าวในท้ายที่สุด บ้านปูฯ มุ่งหวังว่าการช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ จากบ้านปูฯ จะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว