23 เมษายน 2562.. ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการปลูก-อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้บนบกและป่าชายเลน พร้อมทั้งลดและเลิกใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ทั้งกิจการในประเทศและต่างประเทศ
วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชน และสนับสนุนพนักงานให้ร่วมเป็นเครือข่ายจิตอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในและรอบรั้วโรงงานและฟาร์ม รวมถึงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ
ภาพรวมผลดำเนินงานโครงการด้านการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ในปี 2561 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนและป่าบนบกได้รวมทั้งสิ้น 10,079 ไร่ คือโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก พื้นที่ดำเนินการ 5,971 ไร่
ที่นี่ เป็นผืนป่าแห่งแรกของประเทศที่มีการนำนวัตกรรมปลูกป่า 4 รูปแบบมาผสมผสานใช้ ทำให้อัตรารอดตายของต้นไม้ปลูกใหม่เมื่อปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 90 ชุมชนโดยรอบได้ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ได้จากการฟื้นตัวของป่าไม้ และยังได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ สำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 9 ชนิด นก 119 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 20 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 15 ชนิด
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่าชายเลน “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ช่วยเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร พังงา สงขลา และชุมพร รวม 2,388 ไร่ โครงการรักษ์นิเวศ ซึ่งส่งเสริมให้พนักงานของฟาร์มและโรงงานทั่วประเทศปลูกต้นไม้ในพื้นที่สถานประกอบการทั่วประเทศ ดำเนินการได้รวม 1,720 ไร่
อีกทั้ง ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนเป้าหมายการจัดการพลาสติกของประเทศ อาทิ
นำถังบรรจุอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ หรือ Bulk Feed Tan kมาใช้ทดแทนถุงบรรจุอาหารสัตว์พลาสติก พัฒนาถาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากวัสดุธรรมชาติที่หมุนเวียนได้ (Renewable Resources ) ที่เรียกว่า Polylactic Acid (PLA) ซึ่งย่อยสลายได้ มาใช้กับสินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็นเป็นรายแรกของไทย ในปี 2558 เป็นต้น
รวมทั้งได้ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ครอบคลุมกิจการทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการลดใช้พลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) กำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น ภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และภายในปี 2573 สำหรับกิจการในต่างประเทศ