CSR

กลยุทธ์ CSR ยังช่วยหนุน สนองตอบเป้าหมาย SDGs

9 พฤษภาคม 2562…ในพื้นที่สงขลา ซีพีเอฟใช้กระบวนการทำงานกับชุมชนเข้มข้นต่อเนื่อง เพราะเป็นฐานสัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่า 400 จุด จึงมีทั้งเรื่องช่วยสร้างรายได้เสริม ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพแรงงานอย่างเป็นธรรม

วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ชุมชนชาวประมง ต.ชะแล้ จังหวัดสงขลา มีความพร้อม เข้มแข็ง ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อคืนสมดุลธรรมชาติให้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในชุมชน นับเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคเอกชน ผ่านโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ตั้งแต่ปี 2557 เ ป็นต้นมา

วุฒิชัย พร้อมพนักงานซีพีเอฟ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำชมความสมบูรณ์ในพื้นที่ป่าชายเลน

 

“จากการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ป่ายังเป็นที่อยู่ของแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะชันโรง ซึ่งเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรคล้ายผึ้ง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ซีพีเอฟจึงได้ต่อยอดโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงชันโรง ให้เป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน โดยนำผู้สนใจไปดูงานเลี้ยงชันโรงที่พัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงชันโรงที่มีชื่อเสียงที่สุดของทางภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ความรู้และทำผลิตภัณฑ์จากชันโรง เช่น น้ำผึ้ง สบู่ เป็นต้น”

ปัจจุบัน มีชาวชุมชน 8 ครอบครัว ที่หันมาเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น มีรายได้เฉลี่ย 50,000 – 60,000 บาทต่อปี ทั้งยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ เช่น น้ำผึ้ง และสบู่ โดย ซีพีเอฟ มีโครงการพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงชันโรง เพื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชนที่สนใจสามารถนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพได้ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง

อยู่ใกล้ชันโรงได้อย่างสบายใจ เพราะไม่มีเหล็กไหลเหมือนผึ้ง ชันโรงจะอยู่ในพื้นที่ี่ไม่มีสารเคมี ส่วนน้ำชันโรงชุดนี้ จะมีรสชาติมะม่วงติดมาด้วย เพราะชันโรงกินเกสรมะม่วง ซึ่งเป็นมะม่วงที่ปลูกอยู่ใหล้บริเวณนี้

เมื่อเข้าตัวเมือง ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) แสดงผลงานการบูรณาการความร่วมมือของ 5 องค์กรรัฐ เอกชน และภาคสังคม ช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์แบบครบวงจรและรวดเร็วขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อขจัดปัญหาแรงงานจากสังคมไทย

ซีพีเอฟ มีนโยบายในการสนับสนุนศูนย์ FLEC ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและป้องกันการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการจ้างแรงงานตามมาตรฐานสากลและกฎหมายแรงงาน เป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการป้องกันปัญหาแรงงานในระยะยาวได้

นาตยา เพชรัตน์ กรรมการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (ศูนย์ FLEC) กล่าวว่า การก้าวสู่ปีที่ 4 ของศูนย์ FLEC ยังคงเดินหน้าการแก้ปัญหาเชิงรุกมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบให้มากที่สุด ควบคู่ การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อช่วยลดเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว

ปัจจุบัน ศูนย์ FLEC ได้ดำเนินการเพิ่มทักษะอาชีพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นทางเลือกเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมในอนาคต การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานของแรงงานเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย รวมไปถึง การเพิ่มทักษะชีวิตแก่แรงงานและครอบครัว

พื้นที่ที่FLEC ดูแลแรงงานอย่างเต็มที่ และซีพีเอฟก็สนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้ช่วยเป็นหูเป็นตาป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย  โดยให้ศูนย์ฯ เป็นศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของแรงงานเพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาแรงงานในสงขลา

การทำงานของซีพีเอฟ ในพื้นที่สงขลา ได้สนองตอบต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs) อย่างต่อเนื่อง

 

 

You Might Also Like