24 ธันวาคม 2662…จากความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เด็กทุกคนล้วนมีพลังอยู่ในตัวเอง “ทีเอ็มบี” จึงอาสาทำหน้าที่เติมเชื้อไฟให้ลุกโชนตัวเด็กในศูนย์เรียนรู้ ไฟ-ฟ้า โดยทีเอ็มบี ด้วยการมอบโอกาสและปลูกฝังให้เยาวชนอายุ 12-17 ปี รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
แล้วความเชื่อดังกล่าวก็สัมฤทธิ์ผลให้เห็นเป็นรูปธรรม มาสัมผัสตัวอย่าง “รุ่งฤดี จิตรสงบ” หรือ “น้ำ”เยาวชนที่เคยเรียนและได้รับประสบการณ์มากมายจากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดยทีเอ็มบีเมื่อ 10 ปีก่อน และวันนี้ได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ทีเอ็มบี สมุทรปราการ พร้อมส่งต่อสิ่งที่เธอได้เรียนรู้คืนสู่ชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป
ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า บ้านหลังที่สอง
มิตรภาพแห่งความอบอุ่น
น้ำ รู้จักไฟ-ฟ้า ครั้งแรกเมื่อเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากการที่มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นศูนย์แรกที่ได้ไปประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียนว่าเปิดสอนกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เด็กกิจกรรมอย่างเธอที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่มากนักสนใจ โดยเลือกที่จะเรียนทำอาหาร เต้น และเทควันโด ก่อนที่จะโฟกัสกิจกรรมมาเป็นเทควันโดและเต้น Cover
“เมื่อเข้าไปเรียนสิ่งแรกที่ประทับใจ คือ สถานที่ เพราะสวย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ทั้งอุปกรณ์และชุดเทควันโดก็มีให้ฟรี คุณครูก็ใจดี ส่วนคลาสเต้น มีห้องกระจกขนาดใหญ่คุณครูสอนด้วยความเอาใจใส่จนรู้สึกว่าเหมือนเรียนตัวต่อตัว ทุกอย่างดูอบอุ่น เจ้าหน้าที่ใส่ใจดูแลเด็กๆ ทุกคน และได้มีโอกาสเจอเพื่อนใหม่ที่มีความชอบเหมือนกัน เท่ากับเราได้เปิดโลกการเรียนรู้และเหมือนได้บ้านหลังที่สองในเวลาเดียวกัน เกิดการหลอมรวมสิ่งที่เราเรียกว่ามิตรภาพกับเพื่อนๆ และพี่ๆ เจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า”
Art & Life Skill
สร้างแต้มต่อทักษะชีวิต
ไม่เพียงแต่กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะทำให้เยาวชนมีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้น และนำไปใช้ได้ในอนาคตแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะได้รับกลับไปก็คือ กระบวนการเรียนรู้ในเรื่องทักษะการใช้ชีวิตที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
“มาเรียนที่นี่แล้วได้กระบวนการเรียนรู้ที่ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต หรือเรียกง่ายๆ ว่า Art & Life Skill คือ ได้ความสามารถพิเศษด้านศิลปะจากวิชาที่เราเลือกเรียน ในเวลาเดียวกันที่ศูนย์ฯ จะปลูกฝังการทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์เพื่อชุมชน ผ่านวิชา “ทักษะเรียนรู้การเป็นผู้นำ”เด็กๆ ทุกคนจะได้รับการปลูกฝังกระบวนการทำงานเพื่อผู้อื่น และเป็นผู้ให้ โดยเราจะลงพื้นที่สำรวจ และพูดคุยกับชาวบ้าน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ออกมาเป็นโปรเจ็กต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเขา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ติดตัวให้เรานำไปใช้ในอนาคตได้”
โปรเจ็กต์ออกแบบทำรั้วลูกปัดกั้นริมคลองเพื่อไม่ให้เด็กตกลงไปในน้ำ เป็นตัวอย่างโครงการเพื่อสังคมที่เธอเข้าไปมีส่วนร่วม และช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันคนไม่ให้ตกลงไปในน้ำได้จริง นอกจากนี้มีเพ้นท์กำแพงให้ชุมชนน่าอยู่ยิ่งขึ้น และก็ได้ทำโปรเจกต์ต่างๆ อีกมากมาย
ผลจากความสามารถพิเศษ และการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชุมชนที่น้ำทำ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอเข้าเรียนต่อคณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตามที่ตั้งใจไว้ได้ หลังจากที่เธอรวบรวมกิจกรรมที่เคยทำกับศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ยื่นเป็นพอร์ตผลงานจนสามารถเข้ารอบโควต้าโดยไม่ต้องสอบ
“นับเป็นความโชคดีของตัวเองที่ได้เข้ามาเรียนในศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เพราะที่นี่สอนวิชาที่เราอาจจะไม่ได้เรียนในโรงเรียน เช่น การเต้น เทควันโด หรือการทำอาหารแต่ยังได้เรียนรู้เรื่องการจุดประกายให้ตัวเอง เห็นตัวเองมีคุณค่า และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ส่งคืนให้กับชุมชนทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติจริง และมีโอกาสมากกว่าคนอื่น”
สร้างแรงบันดาลใจ
จากผู้รับ…เป็นผู้ให้
สิ่งดีๆ ที่ได้รับจากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เสมือนเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้ น้องน้ำ มีแรงบันดาลใจอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่นบ้าง
“ความประทับใจในวัยเด็กที่ได้ร่วมกิจกรรมที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เลยสนใจที่จะทำงานด้านนี้ จำได้ว่าเคยไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ฯในตอนนั้น พี่เขาแนะนำว่า ถ้าอยากทำงานด้านนี้ ควรเรียนอะไรเกี่ยวกับคนและชุมชน ทำให้เราเลือกที่จะเรียนคณะบริหารทรัพยากรมนุษย์ ถึงตอนนี้ก็ยังคิดว่าเราตัดสินใจไม่ผิด เพราะการดูแลคนและสังคมได้ฝังอยู่ในดีเอ็นเอในตัวไปแล้ว”
และเธอก็ได้ทำงานในสิ่งที่ฝันสำเร็จ เมื่อเข้ามาร่วมงานในศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า แห่งนี้ ในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการเมื่อ 3 ปีก่อน โดยเริ่มจากศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า ถนนจันทน์เป็นแห่งแรก ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เด็กๆ คุณครู และผู้มาติดต่อที่ศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า จากนั้นก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญให้เป็นผู้ดูแลศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์ที่เปิดใหม่ แน่นอนว่าขอบเขตงานที่ใหญ่มากขึ้น ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยการหยิบทักษะการเป็นผู้นำ ที่เธอสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้จากที่ศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า มาใช้นั่นเอง
“พอได้มีโอกาสมาทำที่ศูนย์ฯ ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการเป็นศูนย์ที่เปิดใหม่ เราจำเป็นต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ดังนั้นเราต้องทำการบ้านหนักมากกว่าเดิม เพราะต้องลงสำรวจชุมชนที่สมุทรปราการร่วมกับน้องๆ แต่ประสบการณ์จากทักษะการเป็นผู้นำ สอนให้เราต้องหาข้อมูลก่อน ไปดูแผนที่ ไปลงสำรวจพื้นที่ ลองถาม ลองซ้อม ลองจำลองสถานการณ์ปัญหา ก่อนเข้าชุมชนว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้น ชาวบ้านเขาตอบเรามาแบบนี้ เราจะต้องตอบเขากลับไปยังไง ทุกอย่างต้องเช็คข้อมูลที่เราจะต้องพูดออกไปให้ดี ทำให้งานผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”
ทุกวันนี้ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ มีคนรู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน ชุมชน และบริเวณโดยรอบโครงการซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตลาด ชุมชน วัด และโรงเรียน เกิดการบอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้มีเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการจำนวนมาก ปัจจุบันมีเด็กมาสมัครที่โครงการแล้วกว่า 300 คน รวมถึงเยาวชนที่เข้ามารับบริการในห้องสมุดอีกประมาณ 60 คน
อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ถูกปรับให้เหมาะกับบริบทของสังคม และความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ของที่นี่จะเน้นไปในทางดิจิทัล อาทิ ตัดต่อคลิปวิดีโอ ถ่ายภาพ และเขียนคอนเทนต์เพื่อลงในสื่อออนไลน์อย่างยูทูป จึงกลายมาเป็นคลาส “ สื่อสารสร้างสรรค์ออนไลน์”
“เราออกแบบให้คลาสของเรามีความคล้ายกับวิชานิเทศศาสตร์ แต่เป็นนิเทศศาสตร์ขนาดย่อมๆ ที่ปรับหลักสูตรออกมาให้กับเด็กๆ ที่สนใจ โดยยึดหลักการทำคลาสตามบริบทพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก ซึ่งจากการที่เราลงพื้นที่สำรวจถึงความต้องการของเด็กๆ พบว่าส่วนใหญ่สนใจเรื่องการทำยูทูป อยากมีตัวตน อยากมีช่องทางในการสร้างอาชีพ เพราะเขาเห็นเหล่า บล๊อกเกอร์เยอะในยูทูป ก็อยากเรียนวิชาแบบนี้ เราเลยรวบรวมแล้วสรุปเป็นวิชาเด่นของที่นี่”
อีกหนึ่งความท้าทายของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ ในตอนนี้ เยาวชนมีความต้องการข้อเสนอแนะทางด้านสุขอนามัย รวมถึงปัญหาในครอบครัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่างเต็มใจพร้อมรับฟัง และช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นให้
“เด็กหลายๆ คนมักจะเข้ามาขอคำปรึกษา หนูขอคุยด้วยหน่อยได้ไหม แบบนี้เราจะฟังเขา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ และเป็นเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว หากไม่มีอะไรรุนแรงมาก เราจะให้กำลังใจเขา ให้เครื่องมือเขาที่จะต้องอยู่ให้ได้ เช่น อยู่อย่างไรให้มีความสุข ยกเว้นเราเจอเคสที่มีปัญหามากๆ ทางศูนย์ฯ จะมีนักจิตวิทยาประจำเข้ามาช่วยดูแลรับเคสไปต่อ”
เติมเต็มชีวิตให้มีความหมาย
ส่งต่อเพื่อจุดประกายให้เด็กๆ
แม้จะงานหนักแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ น้องน้ำก็ทำงานด้วยความสุข เพราะรู้สึกสนุกกับงาน ดังนั้นปัญหาที่พบก็ถูกแก้ไขได้อย่างราบรื่น และยังให้ความหมายกับชีวิตในทุกวันที่มาทำงาน
“เราค้นพบความหมายในชีวิตแล้วว่า มีคนที่รอคอยเราอยู่ เพราะทุกวันที่ไปทำงาน เราจะเจอกับเด็ก ๆ ทุกวัน จึงพบกับเรื่องราวใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา มันเป็นอะไรที่สนุกและท้าทาย ทุก ๆ วันของการมาทำงานเหมือนชีวิตมีความหมาย เราตื่นมาแล้วมีคนที่เฝ้ารอ ก็อยากไปหา ไปทำกิจกรรม เลยรู้สึกมีความสุขและอยากทำ”
น้ำ ยอมรับว่า ศูนย์เรียนรู้ ไฟ-ฟ้า ทีเอ็มบี ให้สิ่งต่างๆ กับเธอมากมาย ทั้งในสถานะเด็กที่เข้าไปเรียน และเจ้าหน้าที่ประจำ
“ในตอนเด็ก เราได้รับโอกาสในการเรียนรู้ มีโอกาสได้คิด ได้ทำ ทำให้เราได้จุดประกายบางสิ่งในตัวเราให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ได้เรียนรู้อะไรมากมาย พี่ๆ ทุกคนในโครงการพร้อมที่จะให้คำแนะนำ และให้กำลังใจ”
น้ำกล่าวอย่างภูมิใจในท้ายที่สุดว่า “และในวันนี้พอเราได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า แห่งนี้แล้ว เราก็อยากนำสิ่งที่เราได้รับ และสัมผัสจากศูนย์ฯ มาจุดประกายให้เด็ก ๆ คนอื่นที่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ มีพลังในการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ มาจุดประกายให้ตัวเอง เห็นตัวเองมีคุณค่า และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น และชุมชนต่อไปด้วย”