20 มกราคม 2562… กระตุ้นสังคมไทย เปิดพื้นที่ให้ “เด็กธรรมดา” เปลี่ยนเด็กในชุมชนที่ขาดโอกาส ค้นพบศักยภาพตัวเองแล้วนำไปต่อยอดสร้างอาชีพให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเด็กจะเปลี่ยนเป็นผู้ให้ คืนกลับสู่สังคมด้วย
-เด็กเยาวชนมีทักษะช่วยเหลือตัวเอง ไม่เผชิญการคาดหวัง
สังคมปัจจุบัน ถือเป็นสังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญกับความคาดหวังจากทุกทาง ทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ ครอบครัว สังคม ซึ่งพูดไปแล้วถือเป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก หากคาดหวังผิดทาง คือการคาดหวังในเชิงสาระที่ไปกำหนดชีวิตของเด็ก ว่าให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเอง ขาดความเป็นภูมิใจในตัวเอง จะส่งผลต่อตัวตนของเด็กในระยะยาว
“ยุคนี้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่พ่อแม่จะควบคุมความคิดของลูก ดังนั้นพ่อแม่ควรจะคาดหวังในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่าคาดหวังเชิงสาระ สิ่งพื้นฐานที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจ มี 3 เรื่อง นั่นคือ ทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง ทักษะในการเอาตัวรอด และการมีอนาคตที่ใช้ได้”
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนคอลัมนิสต์ชื่อดัง ขยายความต่อเนื่องถึงทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง เช่น ทานข้าวเอง ดูแลการบ้านตัวเอง เก็บที่นอนเอง สิ่งเหล่านี้อาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆ แล้วคือความรับผิดชอบพื้นฐานของเด็กที่ควรจะมี อีกทั้งส่งเสริมให้เขาได้ทดลอง เรียนรู้ สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ประเมินได้ เลือกได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับชีวิตของเขา ส่งเสริมให้เขาได้เติบโตมีชีวิตอย่างเข้าใจ เรียนรู้ ทดลอง ล้มได้ ลุกเป็น
ทักษะเหล่านี้หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่ควรรู้และปลูกฝัง !
-แค่ให้เด็กเยาวชนได้รู้จักตัวเองคือ ความธรรมดาที่สวยงามแล้ว
กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า โครงการ ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) เกิดจากมุมมองที่ทีเอ็มบีต้องการคืนสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เพื่อเปลี่ยนให้ชีวิตของคนในสังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นว่าเด็กทุกคนมีพลังและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนไปในทิศทางที่ดีได้ จึงก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนเพื่อเป็นสถานที่ให้เด็กๆ ใช้ในเวลาว่าง เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนใจ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปะและทักษะชีวิต
“เป้าหมายสำคัญ เพื่อเปลี่ยนเด็กในชุมชนที่ขาดโอกาส มีต้นทุนติดลบค้นพบศักยภาพของตัวเองแล้วนำไปต่อยอดสร้างอาชีพให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกเหนือไปจากนั้นปลายทางที่ทีเอ็มบีคาดหวังคือ เมื่อเด็กได้รับโอกาสจากศูนย์แล้ว จะเปลี่ยนเป็นผู้ให้คืนกลับสู่สังคมด้วย”
ทั้งนี้ อยากให้สังคมไทยได้เห็นในจุดนี้ และร่วมกันชื่นชมเด็กธรรมดา แทนที่จะชื่นชมเฉพาะเด็กเก่ง จึงมีแคมเปญ “เด็กธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม” ผ่านการนำเสนอเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจริงใน ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ผ่าน Thematic VDO ที่บอกเล่าเรื่องราวแนวคิดของ ทีเอ็มบี ที่เชื่อว่า
“ในความธรรมดานั้นมีสิ่งสวยงามซ่อนอยู่ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้เด็กธรรมดาได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถของตนเอง และยังสร้างโอกาสให้เด็กธรรมดาได้มีพื้นที่ยืนในสังคมได้อย่างสวยงาม เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ”
ในแคมเปญนี้ จะเป็นการตั้งคำถามให้กับสังคม และพ่อแม่ทั่วไปว่า ท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน การเปรียบเทียบ เรากำลังลืมไปหรือเปล่าว่า เด็กต้องการสิ่งใด บางครั้งการมองให้เห็นถึงความธรรมชาติ ความธรรมดาในเด็กคนหนึ่ง และพัฒนาเขาจากจุดนั้น นี่คือสิ่งที่สวยงาม และอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต
กาญจนากล่าวในท้ายที่สุดว่า สิ่งที่ทีเอ็มบีคาดหวัง ไม่ได้ต้องการให้เด็กเป็นที่ 1 หรือต้องได้เหรียญทอง ไม่ต้องเป็นฮีโร่ แค่ให้เด็กได้รู้จักตัวเอง นั่นคือ ความธรรมดาที่สวยงามอยู่แล้ว เพียงสังคมต้องสนับสนุน เป็นไกด์ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เป็นความสุขและภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร รู้จักแบ่งปัน
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง