CSR

ประสบการณ์ “อินทัช” กับ “ข้าวของชุมชน” เป็นเกษตรอินทรีย์แบบ PGS+การท่องเที่ยว

13 ธันวาคม 2563….อินทัช เพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร สร้างรายได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแก่ชาวชุมชนนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย

…ปี 2562-2563 อินทัช ได้เข้ามาดำเนินโครงการข้าวเพื่อสุขภาพ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลนาซ่าว โดยยกระดับการทำเกษตรจากการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices – GAP) ไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System – PGS) ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM เป็นระบบการรับรองคุณภาพโดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน เครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานในพื้นที่ ภายใต้หลักการพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเครือข่ายทางสังคม เป็นเครื่องมือในการพัฒนามาตรฐานการผลิต และสร้างพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรองของรัฐและเอกชน ได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น เกิดการขยายผลทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟู ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพดี สังคมเกิดความเข้มแข็ง
…ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรเข้าเป็นครอบครัวต้นแบบในการทำ PGS จำนวน 18 ครอบครัว พื้นที่ 60 ไร่ มีแนวโน้มผ่านการรับรองในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 51 ไร่ ผลผลิตประกอบด้วย ข้าว พืชหลังนา และอื่นๆ เช่น ถั่วลิสง มันเทศ มะขาม ไผ่หวาน ฯลฯ ส่วนสมาชิกชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาจนสามารถเป็นผู้ตรวจแปลงที่มีความรู้และได้รับการยอมรับจำนวน 8 คน สามารถทำหน้าที่ตรวจแปลงให้แก่สมาชิกร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยที่เป็นพี่เลี้ยง และผู้ให้มาตรฐานรับรองผลผลิต นอกจากนี้ ยังบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลต่อ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ดูแลกระบวนการเพาะปลูกให้มีความปลอดภัย, สำนักงานพัฒนาที่ดิน อำเภอเชียงคาน ดูแลการปรับปรุงดินและการผลิตสารชีวภัณฑ์อินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตร, มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย แนะนำความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย ช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นต้น

เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าพื้นที่ทำงานกับทำเนียบ อารยะศิลปธร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว โดยต้อนรับ ธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลบ ซึ่งเป็นประธานเปิด แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS และตลาด (อยาก) นัดโพนเชียงคาม สำหรับซื้อหาสินค้าปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใช้ฐานทุนทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมมาบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆ ในตลาด เช่น เพ้นท์หน้ากากผีขนน้ำ ทำธุงใยแมงมุม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน อาทิ ส้มตำด้องแด้ง และข้าวปุ้นฮ้อน ตลาดเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 วันเสาร์ และอาทิตย์ (ติดตามรายละเอียดที่ FB: โพนเชียงคาม)

คลิกภาพเพื่อขยายใหญ่

 

ทั้งนี้ เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่มายังตำบลนาซ่าว รวมถึงเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่นๆ ในอำเภอเชียงคานเพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งชุมชนนาซ่าว และเชียงคานเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กระจายรายได้สู่ชุมชน นักท่องเที่ยวได้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รองรับการพักผ่อน และการเรียนรู้เชิงเกษตร และวัฒนธรรม โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาเรียนรู้กว่า 2,000 คน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ และชุมชนรวมกว่า 800,000 บาท

คลิกภาพเพื่อขยายใหญ่

“เมื่อข้าวเป็นอาหารหลัก เป็นพืชหลักอันดับต้นของประเทศไทยในการส่งออก ทำอย่างไรให้ข้าวดีขึ้น สร้างรายได้สร้างงานให้ชาวนา เศรษฐกิจดีขึ้นเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในมุมความยั่งยืนจะไปต่อ ข้าวส่งให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่นที่นี่มีการรวมกลุ่มเข้มแข็งของชาวนา มีการบอกต่อขยายครอบครัวทำงานมากขึ้นหลังจากเห็นว่า ทำได้จริงขายได้จริงมีรายได้เพิ่มจริง”

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทดลองใช้แพลตฟอร์มมาช่วยในการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยทำการตลาดออนไลน์ผ่านเพจ “โพนเชียงคาม” เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ ขยายแนวคิดเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย รวมถึงการขายผลิตผลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ, การใช้แอปพลิเคชัน Farm Manager ในการเช็คสภาพอากาศเป็นรายแปลง เพื่อช่วยวางแผนการทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ…คลิกภาพเพื่อขยายใหญ่

รัชฎาวรรณ ขยายความต่อเนื่องในการมาร่วมทำงานกับประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ พบว่าความที่เคยเป็นครูมาก่อน และมีความตั้งใจที่จะช่วยชุมชนให้มีรายได้มากขึ้นจากการทำนา อีกทั้งมีความเชื่อเรื่องเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นการร่วมมือทำงานจึงเป็นเรื่องแลกเปลี่ยนมุมมอง ช่วยเหลือกันได้ง่ายขึ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ และชุมชนเริ่มต้นก็มี Commitment มีวินัย เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน

“เมื่อนึกถึงจังหวัดเลย คุณนึกถึงอะไร เชียงคาน ภูทอก ภูกระดึง ภูเรือ ทำอย่างไรเมื่อนึกถึงเชียงคาน นึกถึงนาซ่าว โพนเชียงคาม เพราะที่นี่ห่างจากถนนคนเดินเชียงคานเพียง 5 นาทีถือว่าใกล้แหล่งท่องเที่ยวมาก ดังนั้นที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจอินทรีย์แบบจีพีเอสมีผลผลิตผลิตเกษตรอินทรีย์จากแปลง PGS แล้ว ชุมชนที่นาซ่าวและใกล้เคียงจะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวด้วย นอกจากการปลูกข้านาปีได้อย่างเดียว ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการแปรรูป ข้าวแต๋นแต๋น และใบชา พืชผักที่อยู่ในแปลงอินทรีย์ที่จะขายได้ระหว่างปี เช่น พืชปลูกระหว่างนา ตระไคร้ ชะอม มันเทศหวาน ส่วนพืชปลูกหลังนาก็จะได้ผลพลอยได้ PGS ไปด้วย ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกับข้าว เพิ่มขึ้นประมาณ 40% อย่างข้าวเมื่อก่อนได้กิโลละ 40 บาทตอนนี้ได้กิโลละ 60 บาท ไม่นับข้าวแต๋นแต๋น ใช้ข้าวไม่มากขายกระปุกละ 60 บาท ชาหญ้าหวานถุงละ 100 บาท”

ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นำความรู้ และงานวิจัยผนวกกับความสามารถในการผลิตของชุมชน มาพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวเป็นข้าวพองทอดกรอบ TAN TAN รสลาบ และรสน้ำอ้อยแมคคาเดเมีย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวภายใต้แบรนด์ “โพนเชียงคาม” จากต้นทุนข้าวกิโลกรัมละ 40 บาท สามารถทำ TAN TAN ได้ 13 กระปุกๆ ละ 60 บาท เพิ่มรายได้เป็น 780 บาท, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าในท้องถิ่นให้ได้คุณภาพ เช่น ชาเพื่อสุขภาพจากข้าวและพืชสมุนไพรที่ไม่ใช้สารเคมี
..ส่วนภาพด้านล่าง ชุมชนคิดค้นของว่างเรียกว่า “ข้าวจี่โดนัท” ซึ่งแตกต่างข้าวจี่แบบเดิมของคนอีสาน เพราะชุมชนที่นำข้าวเหนียวสุกคลุกกับเนย และนมจืด ก่อนเข้าเครื่องทำโดนัทที่เห็นทั่ว ๆ ไป ส่งผลให้รสชาติไม่เหมือนข้าวจี่เลย เพราะข้าวจี่โดนัทจะนุ่มมีกลิ่นนมและเนย

เพื่อร่วมกันทำงานอย่างจริงจังก็ได้ชวนกันคิดว่าควรจะทำอะไรบ้างเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน อินทัช และประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว ได้เซ็นต์ MOU 10 ปี (เริ่มปี 2562) โดยอินทัชลงทุนสร้างพื้นที่ให้ สนับสนุนทุกอย่าง เจ้าของพื้นที่จะต้อง Contribute ตามที่เสนอไว้ และชวนชาวบ้านมาขายสินค้าในกรอบที่เป็นเกษตรอินทรีย์ด้วย ซึ่งเมื่อได้ผลิตผลทางการเกษตรแล้ว เมื่อได้ท่องเที่ยวเข้ามาวิสาหกิจชุมชนฯ จะมีรายได้ต่อเนื่องทั้งปี โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

แพลนเที่ยวครั้งต่อไป อาจจะเริ่มเช้าตี 5 ขึ้นภูทอก หรือภูกระดึง หรือภูเรือ แล้วสาย ๆ ก็มาที่นี่ นาซ่าว “โพนเชียงคาม” เที่ยวช้อป ในอนาคตจะมีร้านของชุมชนเพิ่มขึ้น

คลิกภาพเพื่อขยายใหญ่

“ที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งได้เกษตรอินทรีย์ PGS ที่แรกที่ทำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวหลัก ให้มาเที่ยวที่นี่เพิ่มขึ้น และเราเชื่อว่า ที่นี่ไม่ไกลจากถนนคนเดินเชียงคาน และได้ของดีเกษตรอินทรนีย์แบบ PGS กลับไปด้วย” รัชฎาวรรณกล่าวในท้ายที่สุด

 

 

You Might Also Like