13 สิงหาคม 2562…ผู้ก้าวพลาดใน“โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ได้ข้อคิดการรับ “โอกาส” จากปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด พร้อมทั้งได้ความรู้ทางการเงิน และอาชีพจากโครงการ “เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้”
ในวงสนทนาเล็ก ๆ กับผู้ก้าวพลาดหญิง 3 คน หลังห้องประชุม ปิยะศักดิ์ พร้อมผู้บริหาร และผู้บริหารระดับสูงของโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ รับฟังข้อมูลถึงความชอบและถนัดก่อนมีคดี คือเป็นคนชอบสุนัข มีความสุขที่ได้ตัดขน อาบน้ำให้สุนัข หวังว่าเมื่อพ้นโทษแล้วอยากทำงานแบบนี้ แต่ไม่ได้รู้เรื่องตลาดนี้มากนัก คงต้องเข้าไปเปิดร้านในเมืองนครสวรรค์ ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินทุนที่ไหน (ระหว่างผู้ก้าวพลาดเล่า น้ำเสียงมีความสุข อินกับเรื่องนี้มาก)
“ความไม่สะดวกของเจ้าของสุนัขคือ พาขึ้นรถแล้วไปตัดขนที่ร้าน แต่เราไม่ต้องลงทุนเรื่องหน้าร้าน มีกรรไกร แชมพู ถัง และอุปกรณ์การตัดขนสุนัข อาบน้ำ ใช้เฟสบุคเป็นหน้าร้าน แล้วเราไปทำ Delivery ที่บ้านเจ้าของสุนัขเลยก็ได้ และธุรกิจเหล่านี้เป็นเรื่องปากต่อปาก ลงทุนน้อย เป็นการใช้ทักษะที่มีอยู่แล้ว นำไปต่อยอดได้ ไม่ต้องลทุนเยอะ บางทีการเริ่มต้นด้วยโจทย์ต้องมีหน้าร้าน มีการจ้างคนนั้น ในยุคสมัยนี้ไม่ความจำเป็นแล้ว”
ปิยะศักดิ์ แนะนำผู้ก้าวพลาดรายนี้ พร้อมย้ำว่า บางทีการเริ่มต้นด้วยโจทย์ต้องมีหน้าร้าน มีการจ้างคน นั้น ในยุคสมัยนี้ไม่ความจำเป็นแล้ว เมื่อดูสายตาผู้ก้าวพลาดรายนี้หลังฟังคำแนะนำจบ เป็นประกายมาก
“10 คำถามแรกที่ทีมทำงานเงินติดล้อเตรียมไว้ เราต้องถามความถนัดหรือชอบอะไร มีความสามารถอะไร หรือ Passion การที่มีความชอบความถนัดจะไปต่อได้ง่ายกว่า และเขาจะอินกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นว่า เราจะผ่านมันได้ เราจะมีครบตามที่คิดได้ แล้วเราจะขยัน มีพลังมาเอง แต่ความอยากคือ อยากเฉย ๆ ไม่มีความรู้ หรือทักษะในเรื่องนั้น ๆ ไม่รู้เหมือนกันจะไปทางไหน ตรงนั้นจะหมดไฟได้ง่าย จะยั่งยืนได้ยากกว่า”
สิ่งที่ปิยะศักดิ์กล่าวถึง เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อประกอบอาชีพ และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด ของเงินติดล้อ เพื่อใช้ในการอบรมผู้ก้าวพลาด ก่อนจะออกไปสู่โลกภายนอก
ทัณฑสถานเปิด
วันเพ็ญ ว่องไวกิตติสิน ผู้บัญชาการเรือนจำ จังหวัด เพชรบูรณ์ เล่าถึง เรือนจำแคน้อย เพชรบูรณ์ อยู่ภายใต้ “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ถือเป็นหนึ่งในเรือนจำชั่วคราว 12 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการเตรียมความพร้อมเต็มรูปแบบแก่ผู้ก้าวพลาดหญิงก่อนพ้นโทษกลับไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ (ทัณฑสถานเปิด – มีสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกับสังคมภายนอก ไม่มีกำแพงมีเพียงรั้วหนามเพื่อแสดงอาณาเขตเท่านั้น)
“ผู้ก้าวพลาดทั่วไปจะได้รับการการฝึกทักษะอาชีพช่วยให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมและไม่หวนกลับมาทำผิดซ้ำ เช่น ล้างรถ นวดแผนไทย เสริมสวย จำหน่ายอาหารตามสั่ง ทำนาข้าว ปลูกผลไม้พันธุ์ดี ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีการเปิดให้บริการหรือจำหน่ายให้แก่บุคคลหรือบริษัทภายนอก”
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการฝึกวิชาชีพ ทางเรือนจำได้คัดเลือกผู้ก้าวพลาดที่ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละรุ่นเป็นวิทยากรฝึกอบรมผู้ก้าวพลาดในรุ่นต่อไป โดยทำการคัดเลือกผู้ก้าวพลาดในเรือนจำเข้าร่วมโครงการกำลังใจตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2553 โดยมีกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มเติมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระยะเวลาการอบรม 5 เดือน มีผู้ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 10 รุ่น
จิรภา สินธุนาวา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบาย และยุทธศาสตร์ กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เล่าถึงโครงการกำลังใจ ในพระดำริ โครงการนี้ไม่จำเป็นว่าต้องออกไปแล้วไปทำไร่ทำสวน แบบสวนแบบใน 1 ไร่ 1 แสน แปลงผักออแกนิก โรงปุ๋ยหมัก โรงไหม โรงเพาะเห็ด และแปลงนา พระองค์ทรงต้องการปรับทัศนคติว่า ควรจะอยู่อย่างพอเพียงให้ได้ตัวเอง และด้านจิตใจ ต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะอยู่ข้างนอก
ที่นี่ จัดเป็น 1 ใน 4 เรือนจำนำร่อง ภายใต้ “โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ โดยอีก 3 เรือนจำ ได้แก่เรือนจำชั่วคราวเขาพลอง จังหวัดชัยนาท เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย และเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จังหวัดตราด ซึ่งที่จังหวัดตราดเป็นจุดเริ่มต้นเงินติดล้อ ที่ออกแบบหลักสูตรมาเพื่อผู้ก้าวพลาดในโครงการกำลังใจ ในพระดำริ โดยเฉพาะ
หลักสูตรมีอะไรบ้าง
มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรม บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เล่าถึงที่มาของหลักสูตรที่ป็นกิจกรรมสนับสนุนโครงการกำลังใจ ในพระดำริ โดยลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำจังหวัดระยองและจันทบุรี และทดลองสอนหลักสูตรแก่ผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำชั่วคราว เขาระกำ จังหวัดตราด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ก้าวพลาดและนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) เพื่อให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย
หลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ จะมุ่งช่วยให้ผู้ก้าวพลาดเข้าใจถึงต้นทุนประเภทต่างๆ การบริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร การบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการออม และการเขียนแผนธุรกิจ โดยมีเนื้อหาดังนี้
-เรื่องต้องรู้ก่อนประกอบอาชีพ: มุ่งให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นกับอาชีพต่างๆ ว่าหากต้องการจะต้องเริ่มต้นลงทุนในอาชีพนั้นๆ แล้วจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้างโดยเน้นไปที่ต้นทุนของแต่ละอาชีพ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้เรียน เช่นวัตถุดิบประเภทต่างๆ อุปกรณ์ สถานที่ ทำเลที่ตั้งในการขาย ซึ่งหลังจากระดมความคิดแล้ว ผู้เรียนยังได้วิธีการคิดประเภทของต้นทุนที่กล่าวมานั้นว่าจัดเป็น “ต้นทุนคงที่” หรือ “ต้นทุนผันแปร”
-ชวนคิดจากอาชีพตัวอย่าง: มุ่งให้ผู้เรียนได้ทดลองคิดคำนวณค่าใช้จ่ายจากต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจผ่าน model ธุรกิจขายลูกชิ้นปิ้ง โดยผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการแยกประเภททต้นทุนคงที่ ผันแปร และการประมาณต้นทุนด้วยตนเอง
-วิธีการเพิ่มกำไร : เรียนรู้วิธีการลดต้นทุน การเพิ่มยอดขายและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถกำหนดราคาของสินค้าของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า สถานที่ และเวลา นอกจากนี้ผู้เรียนยังต้องประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการออมเพื่ออนาคตได้
-แผนธุรกิจ: เน้นให้ผู้เรียนลงมือวางแผนการทำธุรกิจของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการทำธุรกิจของตนเอง ลักษณะธุรกิจที่ต้องทำ ผ่านการเขียนแผนธุรกิจ
กิจกรรมความรู้ทางการเงินจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกจะเป็นกิจกรรมหลักสูตร 1 วัน ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดโดยตรง และส่วนที่สองจะเป็นการจัดอบรม Train the Trainer หลักสูตร 2 วัน ให้ความรู้แก่ผู้คุมเรือนจำ และผู้คุมประพฤติอาสาสมัคร เพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการเงิน ตลอดจนให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดได้ โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมแล้ว เงินติดล้อจะติดตามผลเพื่อนำมาประเมินหลักสูตรโดยรวมสำหรับกิจกรรมในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ เงินติดล้อตระหนักดีว่าเงินทุนในการประกอบอาชีพยังเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากการมีประวัติเป็นผู้ต้องขัง อาจส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ จึงให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพเป็นทุนตั้งต้นให้แก่ผู้ก้าวพลาดที่มีแผนการประกอบอาชีพของตนเอง
การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด บริษัทฯ มีแผนที่จะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อมาใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์งานฝีมือของผู้ก้าวพลาดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ท้าทายทั้ง Segmentation
นับเป็นอีก 1 วันเต็มที่ปิยะศักดิ์ได้พูดคุยผู้ก้าวพลาด เห็นพื้นที่ 1 ไร่ 1 แสน ตลอดจนทัณฑสถานเปิด 237 ไร่แห่งนี้ สิ่งที่ท้าทายองค์กรเงินติดล้อ ไม่ใช่เพียงผู้ก้าวพลาด แต่คือทั้ง Segmentation ที่ไม่มีใครเข้าใจพฤติกรรมเขา ไม่มีใครเข้าใจความต้องการเขา
“ภาพใหญ่คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐ สิ่งที่เงินติดล้อคิด เราคิดถึงการให้ความรู้ คนที่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ตรงกับตรงนี้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้คนในวงกว้างกว่านี้เข้าใจพฤติกรรม มีความรู้เรื่องเหล่านี้ และอยู่ที่เรื่องการศึกษา ซึ่งตอนนี้เรากำลังคุยเรื่องการศึกษาในวงเล็ก เพื่อช่วยให้คนเข้าใจเรื่องการเงิน แต่ผมกำลังบอกว่า อยากให้คนเข้าใจภาพใหญ่ว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร ความท้าทายเราทำอย่างไรให้คนรู้เรื่องเหล่านี้”
ปิยะศักดิ์ ย้ำว่า จริง ๆ ความรู้ทางการเงินของลูกค้า Segmentation นี้มีเยอะในหนังสือ แต่เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย และไม่เคยถูกแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งการเป็นภาษาอังกฤษคืออุปสรรคที่ทำให้คนเข้าถึงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เงินติดล้อจะต้องทำแน่ ๆ แต่จะเป็นรูปแบบแปลตรง ๆ เขียนเพิ่มเติม หรือเขียนใน Blog ต้องติดตามกันอีกที โดยเรื่องการเงินมีพื้นฐานการใช้เงินเหมือนกันทุก Segmentation 4 เรื่อง
1.ออมเงิน (หรือเป็นการลงทุน)
2.ความเสี่ยง (ต้องมีประกัน)
3.จ่ายเงิน (ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ)
4.สินเชื่อ แล้วแต่ระดับความต้องการ
“เมื่อเข้าใจพฤติกรรมคนทั่วไปในการใช้เงิน ก็สามารถตอบโจทย์ ออกผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้ ทีมการตลาดเราจะมีอะไรที่ออกมาในปีนี้ น่าสนใจที่จะช่วยผู้บริโภควงกว้าง เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิด Impact ต่อสังคมโดยที่องค์กรหนึ่งสามารถสร้างได้ เป็นความท้าทาย และใช้เวลาพอสมควร” ปิยะศักดิ์กล่าวในท้ายที่สุด