CSR

เอสซีจี แทคทีม Gen Z สายกรีน เติมพลังเชื่อมเครือข่ายในทริป “ใคร Make Change – ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง”

10-11 มิถุนายน 2565…นับเป็นงาน CSR ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี ที่เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่สายกรีนที่เป็นกำลังสำคัญในการกู้วิกฤตโลกร้อนภายใต้โครงการ “ปลูก ลด ร้อน” เพื่อร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้วิกฤตโลกร้อน ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเล ฮีโร่ของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวช่วยกู้วิกฤตโลกร้อนได้มากกว่าการปลูกต้นไม้บนบกสูงสุดถึง 35 เท่า ณ ชุมชนมดตะนอย อ.กันตัง จ.ตรัง แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในไทย

วิกฤตโลกร้อนเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขและหันมาใส่ใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เอสซีจี ก็เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (ESG) ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) โดยมีหนึ่งในเป้าหมาย คือ มุ่ง Net Zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ในด้านธุรกิจของเอสซีจี มีแนวทางการทำงานด้วย ESG 4 Plus ซึ่งได้ถูก Roll Out ไปทั้งองค์กรรวมถึงบริษัทที่เอสซีจีถือหุ้น 100% ทุกนวัตกรรม ทุกผลิตภัณฑ์ ที่จะออกมาในตลาดสำหรับลูกค้า จะต้องมี ESG 4 Plus อยู่ตั้งแต่เริ่มเป็นแนวคิดจนกระทั่งเมื่อสินค้าหมดสภาพตามอายุการใช้งานจะเข้าสู่กระบวนการแนวคิด Circular Economy ได้อย่างไร เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้น

การดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย 2050 ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งภาคส่วนคนรุ่นใหม่ เยาวชน Gen Z จะเป็นกลุ่มหลักในการสานต่องานเหล่านี้ในหลายภาคส่วน “เอสซีจี” ชวนคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลกร่วมทริป “ใคร Make Change – ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง” เป็นการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงมือปลูกกับผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนชุมชนที่เป็นตัวจริงด้านการปลูกหญ้าทะเล พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจชวนคนรอบข้างแก้วิกฤตโลกร้อนร่วมกันอย่างยั่งยืน

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ในพื้นที่ที่หญ้าทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และเป็นอาหารของพะยูน

ทั้งนี้ หญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า จนได้ฉายาว่าเป็นคาร์บอนสีน้ำเงิน หรือ Blue Carbon อีกทั้งยังช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างที่ทราบกันดีว่าหญ้าทะเล คือบ้านของพะยูน สัตว์ทะเลหายาก ตรังถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน ที่นี่เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างถูกวิธี

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่าทริป ‘ใคร Make Change – ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง’มีการเรียนรู้ที่เสริมประสบการณ์ด้วยคือ

-กิจกรรม Learn From The Real เรียนรู้ความสำคัญและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศหญ้าทะเล/ป่าโกงกาง และสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน และเยาวชนชุมชนมดตะนอยที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
-กิจกรรม Grow Your Plant ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลและป่าโกงกางอย่างถูกวิธีเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
-กิจกรรม Nature Reconnect สัมผัสวิถีชุมชนชาวเลที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตลอดจนรับความรู้ในการสื่อสารที่ช่วยส่งต่อพลังให้คนรอบข้างร่วมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นไปด้วยกัน

รสิตา พระคง หรือ น้องซันมา แกนนำกลุ่มเยาวชนมดตะนอย อายุ 16 ปี เล่าถึงการร่วมมือกันดูแลธรรมชาติของคนในชุมชนว่า

“หนูเกิดและโตในชุมชนชาวประมงริมทะเล เริ่มปลูกหญ้าทะเลตั้งแต่ 6 ขวบ เพราะแม่ปลูกฝังว่าป่าชายเลน และหญ้าทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และส่งผลต่อการทำประมงของพวกเรามาก พอโตขึ้นมา หนูกับเพื่อนๆ ได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเยาวชนบ้านมดตะนอย 30-40 คน มาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปลูกหญ้าทะเล ป่าชายเลน และคอยเก็บขยะตามชายหาดเพื่อให้ชุมชนมีความอุดสมบูรณ์ จะได้มีสัตว์น้ำเยอะๆ พวกหนูภูมิใจมากที่ทำให้ชุมชนอุดมสมบูรณ์ พี่ ป้า น้า อามีความสุข คนในหมู่บ้านได้ทำอาชีพประมงกันต่อไปค่ะ”

น้องซันมา และสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ โยธิน ทองพะวา และภานุวัฒน์ เดชานุภานนท์ สามสมาชิกจากทีม Grow up together

สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ โยธิน ทองพะวา และภานุวัฒน์ เดชานุภานนท์ สามสมาชิกจากทีม Grow up together เล่าถึงความประทับใจ และสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

“เรา 3 คนมีบทบาทอยู่ในสภาเด็ก และเยาวชนแห่งประเทศไทย เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญแต่ส่วนมากเน้นการให้ความรู้ น้อยครั้งที่จะได้ลงมือปฎิบัติจริง และไม่เคยรู้เลยว่า หญ้าทะเล มีความสำคัญอย่างไร เลยตัดสินใจสมัครมาร่วมทริป ซึ่งพวกเราได้เรียนรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การปลูกและความสำคัญของหญ้าทะเลที่เป็นเหมือน Blue Carbon นอกจากนี้ เราได้เรียนรู้วิถีชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลโดยมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เช่น การแยกขยะ”

สมาชิกทั้งสามในทีมกล่าวต่อเนื่องถึงความตั้งใจที่จะไปทำนโยบายต่อในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรมให้เยาวชนได้เข้าใจมองเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยมองว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ในใจคน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการดูแลโลกไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเองแต่เป็นการทำเพื่ออนาคต

“การสื่อสารให้เขาเห็นถึงผลกระทบ รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งใกล้ตัวเพื่อให้ได้รู้ว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมันส่งผลถึงภาพรวมทั้งหมดในระยะสั้นและระยะยาว การได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงก็จะมีส่วนช่วยให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด เหมือนกับพวกเราที่ได้มาร่วมกิจกรรมในทริปนี้”

กิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน รวมถึงการคัดแยกขยะ ก่อนเข้าพื้นที่จริงปลูกป่าโกงกาง และปลูกหญ้าทะเล

วีนัสกล่าวในท้ายที่สุดว่า กิจกรรม CSR ตามแนวทางเอสซีจีที่ขับเคลื่อน ESG 4 Plus เป็นการมุ่งเน้นสร้าง Mindset คน และสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีจิตใจอนุรักษ์ในโลกที่พวกเขาต้องอยู่ต่อไปอยู่แล้ว ร่วมสานต่อความมุ่งมั่นกับเอสซีจีให้ขยายไปในวงกว้าง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจชวนผู้คนให้หันมาร่วมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดโลกร้อนด้วยการปลูกหญ้งทะเล คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้โลก ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้าง Green Economy เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทาง BCG และการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ของไทยด้วย

You Might Also Like