CSR

มูลนิธิเอสซีจี มอบนวัตกรรมป้องกัน #COVID19 กว่า 50 ล้านบาท

30 มีนาคม 2563…1 ในนวัตกรรมคือ งานออกแบบพัฒนาห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงติด COVID-19 พัฒนาโดย SCG ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อของทีมแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจได้

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี รู้สึกห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ช่วยกันแคร์ดูแลกัน” สนับสนุนงบประมาณมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทของ มูลนิธิเอสซีจี ส่งมอบ 5 นวัตกรรมให้โรงพยาบาล 7 แห่ง  โดยประเดิมที่ โรงพยาบาลราชวิถี

ขอเริ่มต้นที่ ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) มีระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม จึงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจ โดยใช้เวลาในการติดตั้งที่หน้างานเพียง 3 วัน ด้วยนวัตกรรมของ SCG HEIM และ Living Solution ของเอสซีจี จำนวน 12 ยูนิต รวมมูลค่า 27 ล้านบาท

จากภาพข้างต้นขอลงรายละเอียดเป็น 2 รูปแบบเมื่อใช้งานจริง

1.Modular Screening Unit (ห้องคัดกรอง)

-พื้นที่ของแพทย์/พยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง (พื้นที่สีฟ้า) จะแยกออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ (พื้นที่สีส้ม) โดยที่บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit ที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล และพูดคุยซักประวัติของผู้มีความเสี่ยงผ่านกระจกที่มี Intercom
-ภายในห้อง Modular Unit สำหรับแพทย์และพยาบาล (พื้นที่สีฟ้า) จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็น Positive Pressure และ เพิ่ม Bio-polar Ion เพื่อเข้าจับกับโมเลกุลของเชื้อไว้รัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางแพทย์
-พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจ (พื้นที่สีส้ม) จะเป็นพื้นที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ ลดโอกาสการติดเชื้อ
-จำนวนและขนาดห้อง สามารถปรับได้ เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ และพื้นที่จัดวาง Modular Unit

2. Modular Swab Unit (ห้องตรวจหาเชื้อ)

-การตรวจหาเชื้อ (Swab) เป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการไอหรือจามของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ขณะดำเนินการตรวจ ดังนั้นการออกแบบห้องตรวจจำเป็นต้องมีความรัดกุม
-ห้องของแพทย์ที่ทำหน้าที่ Swab (พื้นที่สีฟ้า) จะแยกออกจากห้องของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจ (พื้นที่สีส้ม) โดยที่บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit ที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล
-ภายในห้อง Modular Unit สำหรับแพทย์ (พื้นที่สีฟ้า) จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็น Positive Pressure และ เพิ่ม Bio-polar Ion เพื่อเข้าจับกับโมเลกุลของเชื้อไว้รัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางแพทย์
-พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจ (พื้นที่สีส้ม) จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็น Semi-Negative หรือ Negative Pressure เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส พร้อมเพิ่ม UV Germicide โดยทุกครั้งหลังการใช้งานจะอบฆ่าเชื้อด้วย UV
-การดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยที่แพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติก เพื่อทำการ Swab ให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจามจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ
-ห้องปฏิบัติการทั้งหมด จะแยกเป็น Cell ย่อย เพื่อให้สามารถแยกปิดได้กรณีฉุกเฉิน (เกิดการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจ)
-จำนวนและขนาดห้อง สามารถปรับได้ เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ และพื้นที่จัดวาง Modular Unit


นอกจากความเชี่ยวชาญของ SCG HEIMในระบบ Modularใช้งานข้างต้นแล้ว ยังมาถึง ห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) โครงสร้างผลิตจากคอนกรีตเบาแบบเบ็ดเสร็จพร้อมใช้งานจากโรงงาน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อง่ายจึงช่วยสร้างสุขอนามัยที่ดี โดยจัดวางแยกพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง จำนวน 28 ห้อง รวมมูลค่า 1 ล้านบาท

ส่วน Living Solution ของเอสซีจี มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตรงจากงาน R&D ที่นำมาใช้จริงกับผู้สูงวัย ใน Elder Care มากกว่า 5 ปี  และถูกนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ COVID-19 เช่นชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring) ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Internet of things (IoT) โดย Living Solution ของเอสซีจี ช่วยติดตามข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเก็บตัว จึงช่วยลดการสัมผัสของบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยได้ จำนวน 70 ชุด รวมมูลค่า 2 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีรายการ CT Scan ที่ช่วยตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 15 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้แก่

1. แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ (Isolation Capsule) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จำนวน 20 ยูนิต รวมมูลค่า 4 ล้านบาท
2. ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Isolation Chamber) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคระหว่างการตรวจสอบเชื้อ จำนวน 5 ยูนิต (ยูนิตละ 3 ห้อง) รวมมูลค่า 1 ล้านบาท
3. กล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย (Aerosol Box) ช่วยในปฏิบัติการใส่ท่อช่วยหายใจ ผลิตจากแผ่นอะคริลิกชนิดใส จำนวน 200 ชิ้น รวมมูลค่า 3 แสนบาท

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี พร้อมผู้บริหาร มอบนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 : ห้องตรวจและคัดกรองผู้ป่วย ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล และอุปกรณ์การแพทย์ ให้ 7 โรงพยาบาล มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ในเอสซีจี ยังสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ เอสซีจีโลจิสติกส์ สนับสนุนการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและมูลนิธิต่าง ๆ การมอบบรรจุภัณฑ์ Fest ให้โรงพยาบาลรัฐฯ และมอบเจลล้างมือให้ กทม. เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนแออัดและพนักงานกวาดถนน รวมทั้งเชิญชวนพนักงานจิตอาสา ทำอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตาจากสารคัดหลั่ง (Face Shield) เพื่อส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการใช้งาน และร่วมเย็บหน้ากากผ้า ลดการใช้หน้ากากอนามัย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากใช้งานอย่างเพียงพอ พร้อมร่วมแบ่งปันหน้ากากผ้าให้กับผู้ที่ขาดโอกาสด้วย

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

 

You Might Also Like