CSR

กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งจัดการปัญหาน้ำผ่านโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย

22 พฤศจิกายน 2562….การเป็นองค์กรของคนไทยที่เป็นเจ้าของ และผู้ผลิตเครื่องดื่ม แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุของ “กลุ่มธุรกิจ TCP” นั้น ไม่เพียงตระหนักถึงการสร้างการเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดนโยบายทั้งภายในและภายนอกในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจัดการทรัพยากรน้ำ นับเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เชื่อไหมว่าปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนราว 754,000 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 43,000 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือราว 5.7 % ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมด สาเหตุหลักมักเกิดจากแหล่งน้ำหลักตื้นเขิน หรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายน้ำ

 

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจ TCP จึงให้ความสำคัญกับปัญหาลุ่มน้ำในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และส่งเสริมให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“บริษัทต้องการมุ่งสร้างกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกจิตสำนึกให้พนักงานเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายนอกที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี”

ด้วยแนวคิดจากข้างต้น สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP จึงริเริ่ม “โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลาย อาทิ มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีนบุรี ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่แพร่ สุโขทัย และพิจิตร และลุ่มน้ำปราจีน ที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บทบาทของ อพ. จะทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดย สสน. จะทำงานโดย ผสมสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท) เข้ากับหลักสังคมศาสตร์ รวมทั้งถ่ายทอดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งจากภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรมแผนที่ และเครื่องจับพิกัดจุด เพื่อนำมาจัดทำแผนที่น้ำของชุมชน รู้ระดับสูงต่ำของพื้นที่ แสดงเส้นทางท่อส่งน้ำตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงพื้นที่เกษตรของสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมทั้ง วิเคราะห์สมดุลน้ำหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝน น้ำที่เก็บในอ่าง และความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ครบวงจรในแต่ละปี

นอกจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ การพัฒนา การรักษาแหล่งน้ำกับชาวบ้านแล้ว ครั้งนี้ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ยังร่วมมือกับจิตอาสาของกลุ่มธุรกิจ TCP ในพื้นที่จังหวัด พิษณุโลก และ เชียงใหม่ ซ่อมแซม “แตต๊าง” ในชุมชนบ้านแม่ขมิง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดของลุ่มน้ำยม ที่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม

“แตต๊าง” ที่ว่านี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ใช้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยการรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเท่าเทียมกันผ่านลำเหมืองตามความลาดชันของพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีแก่เหมือง แก่ฝาย เป็นคนบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ตามกฎหมายมังรายศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนมังราย

จังหวัดแพร่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มธุรกิจ TCP อพ. และ สสน. เข้าไปพัฒนาโครงสร้างน้ำ เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน และช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในฤดูน้ำหลากแก่ชุมชนกว่า 9,800 ครัวเรือนตลอดลุ่มน้ำยม ให้ได้มีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตรตลอดทั้งปี

สำหรับโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ถือเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2562 – 2566 ที่กลุ่มธุรกิจ TCP เข้าสนับสนุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ

“การที่เราจะแก้ปัญหาการจัดการน้ำให้ดีขึ้นได้ ก็ต้องมาจากพวกเราทุกคนทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของลุ่มน้ำก็คือปัญหาของพวกเราทุกคน” สราวุฒิกล่าวในท้ายที่สุด

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like