10-11 เมษายน 2564…SD Perspectives ติดตามการครองชีพของครัวเรือนไทยเผชิญความไม่แน่นอนสูงหลังเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การสร้างความเชื่อมั่นเป็นภารกิจเร่งด่วนของภาครัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร โดยผลสำรวจระบุว่าสถานการณ์เลิกจ้างในเดือนมี.ค.64 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.4% จาก 7.4% ในเดือนม.ค.63 แต่อัตราการลดเวลาการทำงานล่วงเวลายังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่ระบุว่า
อัตราการว่างงานปรับลดลงอยู่ที่ 1.5% ในเดือนธ.ค. 63 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,470 คน บ่งชี้ว่า แม้ว่าจะยังมีงานทำ แต่แรงงานส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง
ความเปราะบางของตลาดแรงงานจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่อง โดยล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่มีจุดศูนย์กลางระบาดอยู่ในกลางเมืองและแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาจจะทำให้มีการนำมาตรการควบคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน
สถานการณ์โควิด-19 ได้กลับมารุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยศูนย์กลางการระบาดในครั้งนี้อยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของครัวเรือนรวมถึงภาคธุรกิจกลับมาเผชิญความไม่แน่นอนสูงอีกครั้ง ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยครัวเรือนมีแนวโน้มกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
ภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจ ทำให้ผลสำรวจช่วงปลายเดือนมี.ค. 64 ที่พบว่าครัวเรือนไทย (KR-ECI) มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้น จะไม่ได้สะท้อนภาพผลกระทบของการระบาดของไวรัสในรอบใหม่นี้ต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รัฐบาลควรจะต้องเร่งออกมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการเร่งดำเนินการในเรื่องของวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อเนิ่นนานออกไป อาจจะมีผลไม่เพียงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ ที่จะเป็นความหวังในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้าอีกด้วย